ค่าแรงขั้นต่ำ 492 บาท ขึ้นเท่าไหร่ แค่ไหนลูกจ้าง-นายจ้าง-ศก.ถึงจะรอด ?

29 เม.ย. 2565 | 04:15 น.
อัปเดตล่าสุด :29 เม.ย. 2565 | 11:05 น.

ค่าแรงขั้นต่ำ 492 บาท นำมาสู่คำถามว่า หากต้องขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ควรขึ้นเท่าไหร่ แค่ไหนถึงจะรอด ทั้งลูกจ้าง นายจ้าง เเละเศรษฐกิจ มาฟังแง่มุมของนักวิชาการ TDRI พร้อมข้อเสนอเเนะ

ใกล้จะถึง “วันแรงงาน” 1 พฤษภาคม 2565 เราคงได้เห็นการแสดงพลังของพี่น้องชาวแรงงานเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาด้านแรงงานโดยเฉพาะ “ค่าแรงขั้นต่ำ”

ปัญหาค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ราคาสินค้า ปรับราคาสูงขึ้น ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 ที่ผ่านมา จึงปฎิเสธไม่ได้ว่าส่งผลกระทบต่อประชาชนคนใช้แรงงานด้วยเช่นกัน 

เพราะต้องมีภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว จึงเป็นที่มาของความเคลื่อนไหวของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ที่ได้มีการยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลประกาศปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเป็น 492 บาท เท่ากันทั่วประเทศ ทั้งแรงงานในระบบและนอกระบบ เพื่อให้สามารถดำรงชีพได้

 

ขณะที่นายจ้างหลายฝ่ายมองว่าการปรับเพิ่มจากอัตราเดิมราว 330 บาทนั้น หรือเกือบ 50% จากอัตราเดิม มองว่าสูงเกินไป เเละอาจกระทบเศรษฐกิจ พิษโควิด สงคราม ที่ผลักดันให้ปัญหาเงินเฟ้อยังคงรุนแรง

ที่ผ่านมา รัฐบาลประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำครั้งล่าสุด มีผลเมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2563 จากอัตรา 308-330 บาทต่อวัน เป็น 313-336 บาทต่อวัน จังหวัดที่ได้ค่าแรงสูงสุด 336 บาทต่อวัน ได้แก่ ชลบุรี และภูเก็ต ขณะที่ กทม.และปริมณฑล ได้ค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 331 บาทต่อวัน

 

คำถามที่น่าสนใจในประเด็นนี้คือ ค่าแรงขั้นต่ำ 492 บาท สมเหตุสมผลหรือไม่  ในทางวิชาการมองว่าเป็นไปได้ไหม ?  

 

“ดร.นณริฏ พิศลยบุตร” นักวิชาการอาวุโส ทีดีอาร์ไอ บอกว่า ถ้าเทียบกับสถานการณ์ปัจจุบัน พบว่าค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ประมาณ 330 บาทหรือต่ำกว่า จะพบว่าเป็นการเพิ่มในอัตราที่สูงมากเกินไป เมื่อเทียบกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นจากโควิด ความไม่เหมาะสมดังกล่าวจะทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถจ่ายได้ไหว

 

ถ้าเป็นแบบนั้นแล้วค่าแรงขั้นต่ำปัจจุบัน ควรขยับไปที่เท่าไหร่ ถึงจะเหมาะสม ?

 

ดร.นณริฏ บอกว่า ถ้านำด้านเงินเฟ้อมาประกอบ ซึ่งสะท้อนค่าครองชีพที่ประขาชนต้องแบกรับ พบว่าเงินเฟ้อปีนี้น่าจะอยู่ที่ราวๆ ร้อยละ 5 ในขณะที่เศรษฐกิจเติบโตเพียงร้อยละ 3-3.5 มองว่าควรเพิ่มประมาณร้อยละ 3-5 เพื่อให้สอดคล้องกัน ดังนั้นจึงต้องการเสนอให้เพิ่มร้อยละ 3 และให้ภาครัฐช่วยพิจารณาเติมเงินบัตรสวัสดิการเพื่อช่วยช่องว่างที่เหลือร้อยละ 2  

 

“ค่าแรงขั้นต่ำในปัจจุบันใช้ระบบไตรภาคี มีฝั่งแรงงาน นายจ้างและภาครัฐ ทำให้ภาครัฐที่เป็นตัวกลางมีความสามารถในการเลือกว่าจะเข้าข้างฝ่ายไหน หรือจะประนีประนอมอย่างไร ในอดีตที่ผ่านมา ส่วนใหญ่จะขึ้นค่าแรงต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ยกเว้นบางช่วงที่พรรคการเมืองเอาเรื่องค่าแรงขั้นต่ำเข้ามาหาเสียง คิดว่าการปรับค่าแรงขั้นต่ำไม่ควรจะเป็นนโยบายการเมือง แต่ควรปรับให้สะท้อนการเติบโตของเศรษฐกิจและสภาวะเงินเฟ้อเป็นสำคัญ”

 

หลายคนกังวลว่าหากมีการขึ้นค่าแรงจริงอาจทำให้เศรษฐกิจไทยพัง บางคนกลัวว่านโยบายอาจจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยล้มเหลว ฝากฝั่ง คสรท.ตอบว่าว่า “ไม่”

 

เพราะการปรับค่าแรงทั่วประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 300 บาท ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ เป็นการปรับค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นกว่าที่พรรคพลังประชารัฐหาเสียงไว้  425 บาท/วัน พื้นที่ที่จะมีการปรับเพิ่มสูงสุด ค่าแรงขั้นต่ำจะเพิ่มขึ้นเพียง 38%  น้อยกว่าค่าเฉลี่ยของการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์

 

“สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ปรับค่าจ้างให้เท่ากันทั่วประเทศ 300 บาท ตอนแรกที่ คสรท.ขอให้ปรับค่าจ้างเป็นวันละ 360 บาทจากตอนนั้นค่าจ้างวันละกว่า 200 บาท ใครๆก็บอกว่าเป็นไปไม่ได้ และทำให้นายจ้างถอนการลงทุน แต่สุดท้ายเมื่อมีการปรับค่าจ้างเป็นวันละ 300 บาท ก็ไม่เห็นนายจ้างหนีหายไปไหน เพราะรัฐบาลช่วยในเรื่องการลดภาษี ครั้งนี้ถ้าจะปรับจากวันละ 236 บาท เป็น 492 บาท เพิ่มขึ้นตามสภาพความเป็นจริง 30% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ได้สำรวจค่าครองชีพและความจำเป็นต่างๆ ของลูกจ้างแล้ว ยังน้อยกว่าการปรับขึ้นครั้งนั้นอีก ในวันนั้นถ้าไม่พูดถึงตัวเลข 300 บาทก็ยังไม่ได้”   นายชาลี ลอยสูง ที่ปรึกษาคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) กล่าวเมื่อวันที่ 28 เม.ย.2565 8 ข้อเรียกร้องวันแรงงาน 65 ชงบิ๊กตู่

 

ขณะที่ ดร.นณริฏ ให้ความเห็นว่า ค่าแรงขั้นต่ำเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่ช่วยสนับสนุนการพัฒนาประเทศและปกป้องแรงงานจากการเอาเปรียบของนายจ้าง อย่างไรก็ดี การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำต้องมีความเหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจ  

 

การเพิ่มที่เร็วจนเกินไปจะทำให้ธุรกิจไม่สามารถอยู่ได้และทำให้แรงงานตกงานเกิดเป็นปัญหา แถมยังมีความเสี่ยงที่จะมีแรงงานต่างด้าวเข้ามามากกลายเป็นแรงงานไทยไม่ได้ประโยชน์ แต่ถ้าเพิ่มช้าเกินไปแรงงานก็จะอยู่กันอย่างลำบาก และธุรกิจจะไม่ถูกกระตุ้นให้พัฒนาประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจเพราะติดอยู่กับค่าแรงที่ราคาถูกและหากำไรได้ง่ายๆ ทำให้ประเทศไม่พัฒนา

 

ดร.นณริฏ เสนอสูตรการปรับค่าแรงขั้นต่ำพร้อมข้อเสนอเเนะ ว่า ควรจะพิจารณาที่อัตราเจริญเติบโตของเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อเป็นสำคัญ โดยการปรับควรจะปรับให้สอดคล้องกับอัตราเจริญเติบโตของเศรษฐกิจและอย่างน้อยในปีปกติไม่ควรจะต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อระยะยาว (ร้อยละ 1.5 ต่อปี)

 

“ผมเสนอเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำรายชั่วโมงสำหรับแรงงานที่ทำงานพาร์ตไทม์ การแบ่งเวลาย่อยลงจะช่วยให้ตลาดแรงงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น และช่วยเพิ่มแรงงานระยะสั้นเข้าไปมากขึ้นในระบบ”

 

แน่นอนว่านโยบายดังกล่าวย่อมมีผู้ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นและสถานประกอบการขนาดเล็กที่ได้รับผลกระทบสูงสุด

 

ดังนั้นหากมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ รัฐบาลจึงควรมีมาตรการเสริม เพื่อให้กลุ่มผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากนโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ สามารถอยู่ได้ 

 

“โจทย์คือ เงินเฟ้อที่สูงขึ้นร้อยละ 5 ในขณะที่เศรษฐกิจน่าจะเติบโตประมาณร้อยละ 3 ดังน้ัน ค่าแรงขั้นต่ำที่ผู้ประกอบการพอจะรับไหวอาจจะเป็นการเพิ่มเพียงร้อยละ 3 และส่วนเกินอีกร้อยละ 2 ควรให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือเป็นการเฉพาะสำหรับครัวเรือนที่เปราะบาง โดยร้อยละ 2 ของค่าแรง 330 จะเทียบเท่ากับ 6.6 บาทต่อวัน หรือ 132 บาทต่อเดือน ผมเสนอให้จ่ายเพิ่มเติมแก่คนที่ถือบัตรสวัสดิการ ครัวเรือนที่มีเด็กเล็ก” ดร.นณริฏ กล่าว