นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) โดยระบุว่า กระทรวงฯ เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือน มิ.ย.นี้ เพื่อพิจารณาแก้ไขมติ ครม.เมื่อปี 2502 ที่กำหนดเพียงให้ บขส. มีหน้าที่ในการขนส่งเฉพาะผู้โดยสาร เพื่อปรับให้ บขส.สามารถขนส่งผู้โดยสาร สินค้าและพัสดุภัณฑ์ในคราวเดียวกันได้ อันเนื่องมาจากศักยภาพของการขนส่งของ บขส.ที่มีอยู่นั้น สามารถดำเนินการในลักษณะดังกล่าวได้เป็นอย่างดี หาก บขส.ได้รับอนุมัติให้สามารถดำเนินการสินค้าและพัสดุภัณฑ์ได้อย่างเป็นทางการ จะส่งผลบวกต่อองค์กรให้สามารถหารายได้เพิ่มอย่างต่อเนื่อง จากเดิมที่มีข้อบังคับให้ขนส่งผู้โดยสารเป็นหลัก แต่พบว่าปัจจุบันความต้องการของการขนส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์มีเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะ อีกทั้ง บขส.ยังมีจุดแข็งในด้านของเส้นทางเดินรถที่ครอบคลุมทั่วประเทศ และสามารถตอบสนองความต้องการในการขนส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ได้
“เราได้ชี้แจงถึงความจำเป็นของการขนส่งสินค้าที่ขณะนี้มีความต้องการเพิ่มมากขึ้น และ บขส.เองก็มีความพร้อมอยู่แล้ว มีเส้นทางเดินรถที่ครอบคลุมตลาด และยังมีพื้นที่ใต้ท้องรถยนต์ รวมไปถึงรถที่สามารถปรับปรุงรองรับการขนส่งสินค้าได้ ซึ่งหาก ครม.อนุมัติให้เราดำเนินการอย่างเต็มตัว ก็เชื่อว่าจะเป็นผลบวกต่อ บขส.และประชาชนที่ต้องการขนส่งสินค้า”
ทั้งนี้ปัจจุบัน บขส.มีรายได้การขนส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ 200 ล้านต่อปี ขณะที่อุตสาหกรรมขนส่งสินค้าโตเฉลี่ย 50% ต่อปี หากได้รับการอนุมัติให้เข้ามาดำเนินธุรกิจส่วนนี้ และเราสามารถดำเนินการแบบครบวงจรได้ตามแผน ก็มีเป้าหมายเพิ่มรายได้สินค้าและพัสดุภัณฑ์ 15% ต่อปี และโตต่อเนื่องในอีก 5 ปีข้างหน้า จะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท
นายสรพงศ์ กล่าวต่อว่า บขส.ยืนยันว่าไม่ได้มีแผนที่จะดำเนินธุรกิจไปแข่งขันกับภาคเอกชนในการขนส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ เนื่องจากตามแผนธุรกิจที่กำหนดไว้ บขส.ตั้งเป้าจะดำเนินการพัฒนาศูนย์การเดินรถให้เป็นศูนย์ขนส่งเชื่อมต่อแบบ Hub to Hub ไม่ได้แข่งขันกับภาคเอกชนที่ดำเนินธุรกิจในลักษณะแบบ Hub to Door อีกทั้งหาก ครม.อนุมัติให้ดำเนินกิจการ บขส.จะทำความร่วมมือกับภาคเอกชน เพื่อสนับสนุนธุรกิจขนส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์แบบ Hub to Door
“หาก ครม.มีมมติอนุมัติให้ดำเนินการ บขส.ก็มีแผนจะพัฒนาศูนย์ขนส่งสินค้าแบบครบวงจร (one stop service) เพื่อรองรับบริการการขนส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์เต็มตัว ซึ่งบริการเหล่านี้ประชาชนจะสามารถมาส่งสินค้าด้วยตนเองได้ อีกทั้ง บขส.จะร่วมมือกับพันธมิตรเอกชนในการส่งต่อสินค้าที่ขนส่งผ่านรถโดยสาร บขส.มายังฮับต่างๆ และเอกชนเป็นฟีดเดอร์ในการให้บริการขนส่งสินค้าไปยังลูกค้าตามจุดหมายปลายทางต่างๆ”