สิ่งที่รัฐบาลพยายามสื่อสารมายังประชาชน ไทยกำลังเผชิญกับวิกฤตราคาพลังงาน ที่มีสาเหตุจากวิกฤตซ้อนวิกฤต จากความไม่สมดุลระหว่างปริมาณพลังงานกับความต้องการพลังงาน ผสมโรงปัญหาความขัดแย้งจากรัสเซีย และยูเครนที่ส่อเค้ายืดเยื้อ จึงเป็นวิกฤตการณ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และประชาชนคนไทยทุกคนต้องอยู่และผ่านพ้นวิกฤตการณ์นี้ไปให้ได้
การแก้ปัญหาที่ผ่านมารัฐบาลของวิกฤตพลังงานที่เกิดขึ้น ที่ผ่านมาทำได้เพียงการบรรเทาปัญหาเพื่อรอสถานการณ์คลี่คลายเท่านั้น เพราะต่างรู้ดีว่าไทยมีสถานะเป็นผู้นำเข้าพลังงาน มากกว่าผู้ส่งออกพลังงาน ไม่มีแหล่งพลังงานเพียงพอกับความต้องการ ที่พึ่งหลักได้มากที่สุด ก็เห็นจะเป็นก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ที่หล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมไทยมาอย่างยาวนานจนเกือบครึ่งศตวรรษแล้ว และก็ใกล้จะหมดลง นักวิชาการด้านพลังงานเคยคาดการณ์ว่า แหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยน่าจะหมดลงภายในเวลาไม่ถึง 10 ปี
ทั้งนี้ไทยต้องพึ่งการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศเป็นหลัก เมื่อต้องเผชิญกับวิกฤตพลังงานที่เกิดขึ้น ส่งผลให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ใช้โอกาสนี้เข้ามายกเครื่องหลักเกณฑ์การบริหารจัดการต้นทุนเชื้อเพลิง และการจัดสรรก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ที่นำมาใช้ในภาคการผลิตใหม่ทั้งหมด ภายใต้ประกาศคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การคำนวณราคาก๊าซธรรมชาติภายใต้การกำกับของ กกพ. (Energy Pool Price) ที่ต้องการร่วมแก้ไขปัญหาพลังงานที่มีราคาสูงขึ้น โดยเฉพาะค่าไฟที่อยู่ในความรับผิดชอบของ กกพ. และมีราคาแพงจากต้นทุนเชื้อเพลิงที่สูงเป็นประวัติการณ์
ด้วยการเปิดช่องเพื่อเพิ่มประเภทเชื้อเพลิงได้แก่ น้ำมันดีเซล และน้ำมันเตา ที่เป็นราคาปลอดภาษีเข้ามาคำนวณเป็นราคาเฉลี่ยต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า (Pool Gas) และสอดรับกับที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าด้วยน้ำมันดีเซล และน้ำมันเตา หลังจากที่มีราคาถูกกว่าราคาก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG นำเข้าจากตลาดจร (Spot) เมื่อปลายปี 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งในการที่จะลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าลงมา จากราคาก๊าซแอลพีจีที่มีราคาสูงเท่าตัว และแพงกว่าราคาน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตา
ทั้งนี้ แนวทางดังกล่าว ช่วยให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าปรับตัวลดลงบ้างเท่านั้น เพราะโรงไฟฟ้าต่าง ๆ ยังใช้ก๊าซธรรมชาติ เป็นเชื้อเพลิงหลักราว 60% จากเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้าทั้งหมด มาตรการที่ประกาศไปจึงทำได้เพียงบรรเทาค่าไฟถูกลง เพราะโรงไฟฟ้าตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน เป็นการออกแบบไว้เพื่อรองรับเชื้อเพลิงจากก๊าซในอ่าวไทย และให้สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าการผลิตด้วยน้ำมัน
อย่างไรก็ตาม การยกเครื่องหลักเกณฑ์การบริหารจัดการต้นทุนเชื้อเพลิง ไม่ได้มีเฉพาะการผลิตไฟฟ้าเท่านั้น แต่ยังให้ภาคอุตสาหกรรมที่พึ่งพาก๊าซธรรมชาติ มีการคำนวณต้นทุนเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าใหม่ เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมเข้ามาร่วมภาระต้นทุนค่าน้ำมันดีเซล และน้ำมันเตา กับประชาชนด้วย
ที่สำคัญ กกพ.ได้ใช้โอกาสนี้ยกเครื่องการจัดสรร รวมทั้งการลำดับความสำคัญของการใช้ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยใหม่ทั้งหมดด้วย ซึ่งประกาศคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การคำนวณราคาก๊าซธรรมชาติภายใต้การกำกับของ กกพ. (Energy Pool Price) จึงมีผลให้มติคณะรัฐมนตรีในอดีตเมื่อปี 2538 ที่ยึดเป็นแนวปฏิบัติจนถึงปัจจุบันต้องเปลี่ยนแปลงไป
จากเดิมที่เคยกำหนดไว้ว่า ให้นำก๊าซธรรมชาติที่ขุดได้ มาคัดแยกประเภทคุณภาพ และจัดสรรก๊าซธรรมชาติในอ่าวให้กับภาคอุตสาหกรรมเป็นลำดับแรก ก่อนที่จะมีการจัดสรรส่วนที่เหลือไปใช้เพื่อการผลิตไฟฟ้าให้กับประชาชน ทั้งนี้เพื่อให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมอื่นๆ รวมทั้งโรงไฟฟ้าภาคเอกชนขนาดเล็ก (SPP) ที่นอกจากจะผลิตไฟฟ้า ไอน้ำเพื่อป้อนให้กับนิคมอุตสาหกรรม และได้รับสิทธิ์นำไฟส่วนเกินที่เหลือขายเข้าระบบ
ดังนั้น ประกาศฉบับนี้ จะเข้ามาแก้ปัญหา การได้รับการจัดสรรก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่มีราคาถูกกว่า LNG Spot ไปใช้ในกิจการของตนเอง ที่ดูเหมือนว่าอุตสาหกรรมเหล่านี้ มีแต้มต่อในต้นทุนวัตถุดิบที่ต่ำกว่า และยังเป็นการเอารัดเอาเปรียบประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าที่ได้รับการจัดสรรก๊าซธรรมชาติต่อจากอุตสาหกรรมเหล่านี้ ซึ่งนอกจากเป็นการจัดสรรทรัพยากรของประชาชนไม่เป็นธรรมแล้ว กกพ.ยังมองว่าขัดต่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ 2560 ภายใต้ประกาศ Energy Pool Price จึงได้ยกเครื่องใหม่ให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาคอุตสาหกรรม หรือประชาชนต้องได้รับจัดสรรทรัพยากรก๊าซธรรมชาติได้อย่างเท่าเทียมกัน