นายกฯ โปรยยาหอมญี่ปุ่น เวที Nikkei Forum ชวนลงทุน พร้อมดูแลเต็มที่

26 พ.ค. 2565 | 05:32 น.
อัปเดตล่าสุด :26 พ.ค. 2565 | 12:39 น.

นายกฯ “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” กล่าวปาฐกถาพร้อมโปรยยาหอมญี่ปุ่น เวที Nikkei Forum ระบุ ไทยยินดีต้อนรับการลงทุนจากญี่ปุ่น ในเขตพื้นที่ EEC รัฐบาลพร้อมอำนวยความสะดวกดูแลเต็มที่

วันนี้ เวลา 13.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กล่าวปาฐกถาในการประชุม International Conference on the Future of Asia (Nikkei Forum) ครั้งที่ 27 สรุปได้ดังนี้ 

 

1. ไทยเชื่อว่าญี่ปุ่นเป็นมิตรแท้ของไทยเสมอมา นายกรัฐมนตรีคิชิดะ ฟูมิโอะ ได้เยือนไทยและประเทศในอาเซียนเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา เป็นการส่งสัญญาณเชิงบวกต่อเนื่องทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นโอกาสเฉลิมฉลองความสัมพันธ์และมิตรภาพกว่า 135 ปี ระหว่างไทย-ญี่ปุ่น 

 

2. ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าที่มีความสำคัญอันดับ 2 ของไทย และมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่เหนียวแน่น นับตั้งแต่ได้จัดทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย – ญี่ปุ่น หรือ JTEPA และความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) 

 

ในปี 2564 การค้าระหว่างกันมีมูลค่าสูงกว่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ลงทุนในไทยอันดับหนึ่งมาอย่างยาวนาน คิดเป็นเกือบ 30% ของมูลค่าการลงทุนตรงจากต่างประเทศ (FDI) ทั้งหมดของไทยในปีที่แล้ว นอกจากนี้ จากที่ RCEP มีผลใช้บังคับเมื่อต้นปีที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นการเจริญเติบโตทางการค้าที่มหาศาลระหว่างประเทศสมาชิก

 

โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณรัฐบาล นักธุรกิจ และนักลงทุนญี่ปุ่นที่เชื่อมั่นศักยภาพ สนับสนุนการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไทยยินดีต้อนรับการลงทุนจากญี่ปุ่น โดยเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) 

 

ทั้งนี้ มีความเจริญเติบโตของ FDI จากไทยไปยังญี่ปุ่นในรอบทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งหวังว่าจะเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะการลงทุนในสาขาพลังงานทดแทน ซึ่งนายกรัฐมนตรีเชื่อว่าญี่ปุ่นจะให้การสนับสนุน และสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีแก่นักลงทุนไทย 

3. นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการที่ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค ซึ่งญี่ปุ่นเป็นสมาชิกที่แข็งขัน ในปีนี้ซึ่งตรงกับที่กัมพูชาเป็นประธานอาเซียน และอินโดนีเซียเป็นประธาน G20 ประเทศสมาชิกอาเซียน 3 ประเทศมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับหุ้นส่วนเพื่อส่งเสริมจิตวิญญาณของความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไทยในฐานะผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น พร้อมร่วมมือในการส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกัน

 

4. นายกรัฐมนตรี เชื่อว่าโลกกำลังเผชิญสถานการณ์ที่ท้าทาย การเข้าร่วมประชุมในเวทีแห่งนี้ทำให้ได้แบ่งปันมุมมองของไทยและรับฟังและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นที่มีประโยชน์กับทุกฝ่าย โดยเฉพาะภาคเอกชน

 

นายกรัฐมนตรี ยังได้กล่าวว่า การฟื้นฟูทางเศรษฐกิจต้องเดินหน้าควบคู่ไปกับการสร้างความสมดุลของสรรพสิ่งและก้าวไปสู่ความยั่งยืน โดยได้แบ่งปันมุมมองของไทย 3 สิ่งที่เชื่อว่าเอเชียจะร่วมกันทำได้เพื่อก้าวข้ามสถานะปัจจุบัน มุ่งให้เกิดสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค ดังนี้

 

1. กระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ จะต้องทำให้ตลาดเปิดกว้างและครอบคลุมเศรษฐกิจที่ยั่งยืน โดยสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีที่มีกฎเกณฑ์เป็นพื้นฐาน มี WTO เป็นแกนกลาง โดยไทยจะพัฒนาสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ เพื่ออำนวยความสะดวกการค้า และการลงทุน เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของไทยให้สูงขึ้นกว่าเดิม มีนวัตกรรม และเอื้ออำนวยแก่นักธุรกิจ และนักลงทุน 

ทั้งนี้ มองว่า จำเป็นต้องเตรียมกำลังคนและโครงสร้างพื้นฐานรองรับภูมิทัศน์ทางการเงิน และเศรษฐกิจที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว ซึ่งไทยกำลังยกระดับและขยายระบบขนส่งทางรางและท่าอากาศยานทั่วประเทศ และกำลังดำเนินการเพื่อพัฒนาโครงข่ายโทรคมนาคม และโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล

 

รวมถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและการบริหารจัดเก็บข้อมูลในระบบคลาวด์ การส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ตลอดจนการสร้างบุคลากรดิจิทัลที่มีทักษะสูง ทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการจัดเก็บข้อมูลในระบบคลาวด์ที่น่าดึงดูดในภูมิภาค

 

ส่วนระบบการธนาคารของไทยเป็นหนึ่งในระบบธนาคารที่ก้าวหน้ามีระบบพร้อมเพย์ สามารถโอนเงินผ่านแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือได้อย่างรวดเร็วโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ไทยและสิงคโปร์ได้เชื่อมระบบชำระเงินดิจิทัลครั้งแรกของโลก และได้เชื่อมระบบในลักษณะเดียวกันกับญี่ปุ่น กัมพูชา มาเลเซีย และอินโดนีเซียแล้ว จึงหวังว่าจะสามารถเชื่อมต่อระบบกับประเทศอื่น ๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะในเอเปค 

 

2. ต้องสนับสนุนระบบพหุภาคีต่อไป เพราะไม่มีประเทศใดจะสามารถรับมือและจัดการกับความท้าทายเหล่านี้ได้เพียงลำพัง ไทยเชื่อมั่นและพร้อมสนับสนุนแนวคิดพหุภาคีและขับเคลื่อนความร่วมมือระดับพหุภาคีต่อไปให้มากที่สุด เอเปคเป็นอีกเวทีหนึ่งที่ไทยจะสามารถแสดงการสนับสนุนระบบพหุภาคีได้ 

 

นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงหัวข้อหลักของไทย “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์” ไทยผลักดันให้ทบทวนการหารือเรื่อง FTAAP โดยคำนึงถึงประเด็นการค้าและการลงทุนใหม่ ๆ เช่น เศรษฐกิจดิจิทัลและสิ่งแวดล้อม และหวังว่าจะมีการต่อยอดงาน การเปิดเสรีและการอำนวยความสะดวกการค้าและการลงทุน การลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน และการรวมตัวทางเศรษฐกิจ 

 

หัวข้อหลักที่ 2 “เชื่อมโยงกัน” ในทุกมิติ ไทยมุ่งจะเชื่อมโยงภูมิภาคเข้าด้วยกัน โดยได้จัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อหาแนวทางที่จะรื้อฟื้นการเดินทางข้ามพรมแดนอย่างปลอดภัย และไร้รอยต่อ การใช้ใบรับรองการฉีดวัคซีนร่วมกันได้ในเอเปค และการขยายขอบเขตการใช้บัตรเดินทางของนักธุรกิจในเอเปค เป็นต้น 

 

หัวข้อหลักที่ 3 “สู่สมดุล” ในทุกทาง ไทยผลักดันการส่งเสริมการเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม โดยจุดมุ่งหมายประการหนึ่งที่สำคัญ คือการทำให้ SMEs ธุรกิจที่นำโดยสตรี และธุรกิจเล็ก ๆ ซึ่งล้วนเป็นพื้นฐานสำคัญของเศรษฐกิจ สามารถเข้าถึงตลาดและเงินทุนได้มากขึ้น เพื่อให้มีความสามารถในการแข่งขันและมีโอกาสที่จะเติบโต 

 

นอกจากนี้ ไทยเสนอให้มีการรับรองเอกสารระดับผู้นำ ชื่อว่า เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG  ซึ่งเป็นเอกสารที่จะวางรากฐานเอเปคด้านความยั่งยืนที่ครบถ้วนที่สุด ทั้งในด้านการปรับตัวและการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การส่งเสริมการค้าและการลงทุนที่ยั่งยืน และการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องอย่างมากกับนโยบายการเติบโตสีเขียวของญี่ปุ่น และผมขอขอบคุณญี่ปุ่นที่สนับสนุนวาระ BCG ของไทย

 

3. การฟื้นฟูทางเศรษฐกิจจะต้องเกิดควบคู่ไปกับความยั่งยืน โดยขอเชิญชวนภาคเอกชนมาร่วมมือกันเพื่อบรรลุเป้าหมาย หนทางไปสู่ความยั่งยืนของไทยกำลังเปลี่ยนผ่านทางพลังงานไปสู่พลังงานสะอาด เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2065 

 

โดยได้เริ่มกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรม EV แล้ว และกำลังเร่งสร้างระบบนิเวศน์เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านดังกล่าว และในขณะนี้ มีเรือ EV อัจฉริยะล่องอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อขนส่งผู้โดยสารทางน้ำเพื่อลดปริมาณคาร์บอนในระบบขนส่งมวลชนทางน้ำ ไทยหวังว่าจะเป็นหนึ่งในฐานการผลิต EV ที่ใหญ่ที่สุดในโลกในอนาคตอันใกล้ จึงหวังว่าจะได้ร่วมมือกับญี่ปุ่นในด้านนี้