นายสัตวแพทย์โสภัชย์ ชวาลกุล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่าตามที่นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์มอบหมายให้เป็นประธานพิธีเปิดและร่วมอภิปรายในการสัมมนาระดมความเห็นต่อร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มไก่ไข่รุ่น กรมปศุสัตว์มีหน้าที่ในการป้องกันและควบคุมโรคระบาดในสัตว์ การส่งเสริมและสนับสนุนการผลิต และกำกับดูแลกระบวนการผลิตสินค้าปศุสัตว์ให้มีคุณภาพมาตรฐานอาหาร
ปลอดภัยต่อผู้บริโภคตลอดห่วงโซ่กระบวนการผลิต ครอบคลุมตั้งแต่ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ได้มาตรฐาน โรงฆ่าสัตว์และโรงแปรรูปมีคุณภาพและถูกสุขอนามัย จนถึงผู้บริโภค ซึ่งไข่ไก่นับเป็นสินค้าปศุสัตว์ที่มีความสำคัญ เป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่ผู้บริโภคนิยมนำมาปรุงประกอบการทำอาหารเพื่อรับประทานได้ทุกวัน และอุตสาหกรรมการผลิตไข่ไก่ในประเทศไทยมีการพัฒนารูปแบบที่หลากหลายมากขึ้นเพื่อผลิตไข่ไก่ที่มีคุณภาพมาตรฐานตอบสนองความต้องการอย่างเพียงพอกับการบริโภคภายในประเทศและสามารถส่งออกต่างประเทศ สร้างรายได้ให้ประเทศไทยนั้น
ปัจจุบันการเลี้ยงไก่ไข่ในประเทศไทยมีการพัฒนารูปแบบการเลี้ยงในลักษณะเชิงอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น โดยมีการนำเทคโนโลยีมาช่วยในระบบการผลิต การปรับปรุงสายพันธุ์ การจัดการอาหาร และการควบคุมโรคที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ไก่ไข่ที่เลี้ยงมีสุขภาพดี ได้ไข่ไก่ที่มีคุณภาพและมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ในปี 2564 มีแม่ไก่ไข่ยืนกรงจำนวนเฉลี่ย 50.9 ล้านตัว ผลิตไข่ไก่ถึง 15,420 ล้านฟอง นับเป็นมูลค่าสูงถึง 42,405 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจของโลกส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ทางการค้าของสินค้าเกษตรไทย ทำให้ตลาดเกิดการแข่งขันทางการค้า จึงเป็นการดีที่จะมีนโยบายจัดทำมาตรฐานสินค้า เพื่อส่งเสริมให้สินค้าเกษตรมีมาตรฐาน เป็นที่ยอมรับและสร้างความเชื่อมั่นจากผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ ความสำคัญในการจัดทำร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร
เรื่อง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มไก่ไข่รุ่น มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการเลี้ยงไก่ไข่รุ่น ลดความเสี่ยงและควบคุมปัญหาโรคระบาดที่เกิดจากฟาร์มที่ยังไม่เข้าสู่ระบบมาตรฐาน เพื่อให้มีมาตรฐานสินค้าเกษตรครอบคลุมการผลิตไข่ไก่ตลอดห่วงโซ่การผลิต เป็นประโยชน์ในการยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตร โดยคำนึงถึงด้านสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย สุขภาพและสวัสดิภาพสัตว์ รวมทั้งเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาด ASEAN Economic Community (AEC) และต่างประเทศได้
การจัดสัมมนาระดมความเห็นวันนี้ นับว่าเป็นขั้นตอนหนึ่งที่มีความสำคัญในกระบวนการจัดทำมาตรฐาน ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนได้แสดงความคิดเห็น เพื่อให้มาตรฐานอยู่ในแนวทางที่สามารถปฏิบัติได้และเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย เพื่อร่วมกันพิจารณาให้ความเห็นและซักถามสร้างความเข้าใจในมาตรฐานอย่างเต็มที่ให้มาตรฐานที่จัดทำขึ้นมีความเหมาะสมปฏิบัติได้จริงและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
ก่อนที่จะนำมาตรฐานเสนอคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน พิจารณาให้ความเห็นชอบ และประกาศเป็นมาตรฐานภายใต้พระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตรต่อไป ทั้งนี้ หากประชาชนต้องการแจ้งเบาะแสหรือข้อมูลเพิ่มเติม สามารถแจ้งได้ที่แอปพลิเคชัน DLD 4.0 หรือสายด่วนกรมปศุสัตว์ 063-225 -6888 ได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง