นายกิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าแผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก. (ฉบับปรับปรุงใหม่) ปัจจุบันคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ได้มีหนังสือแจ้งถึงขสมก.ให้ทบทวนแผนฟื้นฟูกิจการฯ ใหม่ เมื่อช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2565 ที่ผ่านมา เพราะมีหน่วยงานต่างๆมีความเห็นและได้ตั้งข้อสังเกตถึงปัจจัยภายนอกที่เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากในช่วงที่จัดทำแผนฟื้นฟูอยู่ในช่วงปี 2559-2562 แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 อยู่ในช่วงปี 2563 รวมทั้งปัจจุบันมีเส้นทางรถไฟฟ้าและมีระบบการขนส่งเพิ่มขึ้น ทำให้แผนฯดังกล่าวถูกตีกลับ โดยขสมก.ต้องนำปัจจัยเหล่านี้เข้ามาทบทวนเพื่อปรับปรุงแผนฟื้นฟูฯให้เป็นปัจจุบัน
“ขณะนี้ขสมก.อยู่ระหว่างการทบทวนและปรับปรุงแผนฟื้นฟูฯดังกล่าว ซึ่งเราจะเร่งดำเนินการจัดทำแผนแล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด หลังจากนั้นจะเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) พิจารณาเห็นชอบและนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป”
นายกิตติกานต์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันขสมก.มีภาระหนี้สะสมอยู่ที่ 1.32 แสนล้านบาท ทำให้ขสมก.ต้องขอเงินอุดหนุนเพื่อบริการสาธารณะ (PSO) จากภาครัฐ เนื่องจากเป็นการใช้งบประมาณเพื่อให้บริการเชิงสาธารณะ เพราะองค์กรมีการกำหนดต้นทุนที่ต่ำกว่ารายได้ของขสมก. โดยในปี 2565 ได้ขอเงินอุดหนุนจากสำนักงบประมาณ กว่า 2,000 ล้านบาท
แหล่งข่าวจากขสมก.แจ้งว่า ขณะนี้ ขสมก. มีรถโดยสารประจำทางที่ให้บริการอยู่ 2,885 คัน ในเส้นทางให้บริการจำนวนกว่า 107 เส้นทาง ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานคร และเส้นทางต่อเนื่องอีก 5 จังหวัด ประกอบด้วย ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรสาคร สมุทรปราการ และนครปฐม ที่ผ่านมาในปี 2562 มีผู้โดยสารที่รับบริการเฉลี่ย กว่า 1 ล้านคนต่อวัน ขณะที่ในปี 2565 มีผู้โดยสารที่รับบริการเฉลี่ย ประมาณ 5 – 6.5 แสนคนต่อวัน
ทั้งนี้ในปัจจุบันรถโดยสารที่ ขสมก. มีอยู่นั้นไม่เพียงพอต่อการให้บริการกับประชาชนตามมาตรฐานการบริหารจัดการความถี่ของรถโดยสารสาธารณะ (Headway) ตามช่วงเวลาการให้บริการ (Time of Operation) ประกอบกับรถโดยสารสาธารณะที่มีอยู่ของ ขสมก. มีอายุการใช้มากกว่า 30 ปี มีสภาพเก่าชำรุดทรุดโทรมส่งผลต่อคุณภาพการให้บริการต่อประชาชน อีกทั้งยังมีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับสภาพรถที่ให้บริการ ประกอบกับปัจจุบัน ขสมก. มีค่าใช้จ่ายในด้านการเหมาซ่อม เฉลี่ยประมาณ 1.6 ล้านบาทต่อปี ค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิง (น้ำมันดีเซล) เฉลี่ยประมาณ 1.5 ล้านบาทต่อปี รวมทั้งค่าใช้จ่าย เกี่ยวกับบุคลากรในด้านการเดินรถที่สูงมาก ส่งผลให้ ขสมก. อยู่ในสภาวการณ์ขาดทุนอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด
“ขสมก.ได้บรรจุรถโดยสารตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวแล้ว จำนวน 19 เส้นทาง คงเหลืออีก 88 เส้นทาง ที่ยังไม่ได้บรรจุรถที่มีคุณสมบัติเป็นไปตามหลักเกณฑ์ หาก ขสมก. ไม่เร่งรัดจัดหารถโดยสารที่มีคุณสมบัติสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ดังกล่าว อาจส่งผลให้ ขสมก. เสียสิทธิในการเป็นผู้ประกอบการขนส่งในเส้นทางและอาจส่งผลกระทบต่อการให้บริการประชาชนในภาพรวม
สำหรับแนวทางแผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก. (ฉบับปรับปรุงใหม่) ดังนี้ สำหรับแนวทางแผนฟื้นฟู ขสมก. ประกอบด้วย 1. การจ้างเอกชนร่วมเดินรถ ประมาณ 1,500 คัน เพื่อวิ่งในเส้นทางเดินรถของเอกชน ที่ได้รับใบอนุญาตเดินรถจากกรมการขนส่งทางบก ประมาณ 54 เส้นทาง ด้วยความสมัครใจ โดยขสมก.จะจ่ายค่าจ้างตามกิโลเมตรที่วิ่งให้บริการจริง ในอัตราที่ ขสมก.กำหนดไว้เบื้องต้น (ราคากลาง) ก่อนมีการประกวดราคา คือ 34.27 บาทต่อกิโลเมตร ซึ่งเอกชนจะต้องนำรถโดยสารออกวิ่ง เฉลี่ย 240 กิโลเมตรต่อคันต่อวัน
2. ขสมก.ได้อ้างอิงข้อมูลราคากลาง 34.27 บาทต่อกิโลเมตร จากผลการศึกษาโครงสร้างต้นทุนการประกอบการของผู้ประกอบการรถเอกชนร่วมบริการปรับอากาศ ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (TDRI) ซึ่งตัวเลขดังกล่าว เป็นเพียงราคากลาง สำหรับใช้ในการประกวดราคา (e - bidding) เท่านั้น ผู้ประกอบการรถเอกชน จะต้องเสนออัตราค่าจ้างวิ่งในราคาตํ่าสุด เพื่อเป็นผู้ชนะการประกวดราคา และได้รับสิทธิร่วมเดินรถกับ ขสมก.
3. รถโดยสารที่ ขสมก.จะให้เอกชนร่วมเดินรถ ประมาณ 1,500 คัน ต้องเป็นรถโดยสารแบบชานตํ่า EV, NGV หรือ รถที่ใช้พลังงานเป็นมิตรกับสิ่งแวด ล้อม ที่มีการติดตั้งระบบGPS, WiFi มาพร้อมกับตัวรถ และจะต้องเป็นรถใหม่ หรือ รถที่มีอายุการใช้งานไม่เกิน 2 ปี นับตั้งแต่วันจดทะเบียน เท่านั้น ส่วนรถโดยสาร EV ที่ ขสมก.จะเช่าตามกิโลเมตรที่วิ่งให้บริการจริงจากผู้ประกอบการ เพื่อนำมาวิ่งในเส้นทางเดินรถของ ขสมก. (108 เส้นทาง) มีจำนวน 2,511 คัน
4.เส้นทางการเดินรถ ขสมก.ได้รับใบอนุญาตเดินรถจากกรมการขนส่งทางบก จำนวน 108 เส้นทาง ในการเข้าร่วมเดินรถกับ ขสมก.ตามความสมัครใจ เพื่อให้สามารถเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างรถโดยสารของขสมก. และรถโดยสารเอกชนได้อย่างไร้รอยต่อ โดยจัดเก็บค่าโดยสารในระบบเดียวกัน และเป็นโครงข่ายเดียวกัน ส่วนผู้ประกอบการรถเอกชน ที่ไม่ได้รับใบอนุญาตเดินรถจากกรมการขนส่งทางบก แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ประกอบด้วยกลุ่มที่ยังไม่ได้ข้อยุติ เพื่อให้เหลือผู้ประกอบการเพียงรายเดียว ในการยื่นขอรับใบอนุญาต และกลุ่มที่มีหนี้สินค้างชำระจำนวนมากและไม่มาดำเนินการรับสภาพหนี้
5.การบริหารหนี้สิน โดยขอรับเงินอุดหนุนจากภาครัฐ (PSO) ในปีงบ ประมาณ 2565-2571 ทั้งนี้รัฐจะต้องเป็นผู้รับภาระหนี้สินทั้งหมด ซึ่งทำให้ผลประกอบการของ ขสมก. จะกลับมาเป็นบวก (EBIDA) ในปี 2572
6.การลดภาระค่าครองชีพประชาชน โดยจัดเก็บค่าโดยสาร 30 บาทต่อคนต่อวัน โดยไม่จำกัดจำนวนเที่ยว ซึ่งจะดำเนินการในปี 2565
7. การเกษียณอายุก่อนกำหนด (Early Retirement) ซึ่งเป็นการปรับโครงสร้างองค์กรให้มีความเหมาะสมสามารถแข่งขันได้ในอนาคต เหลือพนักงานเพียง 8,267 คน จากเดิมมีพนักงาน 13,961 คนทำให้มีพนักงานเกินกรอบโครงสร้างใหม่ โดยกำหนดให้ผลตอบแทน เป็นเงินตอบแทนพิเศษ 3 เท่าต่อปีของเงินเดือนค่าจ้างอัตราสุดท้ายตามอายุงานที่เหลือ แต่ไม่เกิน 30 เท่า ของเงินเดือนค่าจ้างอัตราสุดท้าย ,เงินตอบแทนความชอบจากการทำงาน เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ,เงินบำเหน็จตามข้อบังคับ ขสมก. (อายุงาน x อัตราเงินเดือนหรือค่าจ้างที่ได้รับอัตราสุดท้าย) ตั้งแต่วันที่เริ่มเข้าทำงานจนถึงวันที่ ขสมก. มีคำสั่งให้เข้าโครงการฯ