จากกรณี องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก. ผู้ให้บริการรถเมล์ขนส่งผู้โดยสารประสบปัญหาขาดทุนสะสมมากถึง 1.2 แสนล้านบาท จนนำมาสู่การจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ โดยหนึ่งในแนวทางการฟื้นฟู นั่นคือ การจัดหารถโดยสารใหม่ ล่าสุด ขสมก. เตรียมจ้างเหมาเอกชนเข้ามาบริการเดินรถโดยสารปรับอากาศที่ใช้พลังงานไฟฟ้า หรือ รถโดยสาร EV แล้ว
ขสมก. วางแผนเอาไว้ว่า ตามแผนการจัดหารถโดยสารใหม่ จะเป็นในลักษณะของการ เช่า/จ้างบริการ โดยเฉพาะการจ้างเหมาบริการเดินรถโดยสาร EV จำนวน 2,511 คัน แบ่งเป็น 7 งวด งวดที่ 1-6 จำนวน 400 คัน และงวดสุดท้ายในส่วนที่เหลืออีก 111 คัน
โดยในงวดแรกจะเร่งจัดหาให้ได้ในระยะแรกก่อน 224 คัน ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ซึ่ง ขสมก. อยู่ระหว่างจัดทำร่างเอกสารขอบเขตของงาน (TOR) และล่าสุดมีรายงานว่า ขสมก. ได้นัดผู้ที่เกี่ยวข้องมาหารือถึงการจัดทำร่าง TOR สุดท้ายจนได้ข้อสรุปไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อปลายเดือนเมษายน 2565 ที่ผ่านมา
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุเรื่องนี้กับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ตอนนี้ร่าง TOR ได้จัดทำเสร็จแล้ว เหลือเพียงแค่ตรวจในชั้นสุดท้าย โดยกำหนดรายละเอียดอย่างชัดเจนหลายรายการ ซึ่งในล็อตแรก จะประกวดราคาจ้างเหมาบริการเดินรถโดยสาร EV จำนวน 224 คัน ระยะเวลาการจ้าง 24 เดือน เบื้องต้น มีราคากลางประมาณ 953 ล้านบาทเศษ
“เหตุผลที่ขสมก.ต้องจ้างเหมาเอกชนมาวิ่งให้บริการ เพราะกรมการขนส่งกำหนดเอาไว้ว่า การจะให้รถเมล์มาวิ่งในเส้นทางที่กำหนดเอาไว้ต้องเป็นรถใหม่เท่านั้น แต่ขสมก. จะไปหารถใหม่จากไหน ทำให้ต้องจ้างเหมาเอกชนวิ่ง กรณีนี้ก็ถือเป็นเรื่องหนึ่งที่อาจทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นตามไปด้วย” แหล่งข่าวระบุ
สาระสำคัญของ TOR ฉบับนี้ แหล่งข่าวยอมรับว่า มีความน่าสนใจหลายประการ โดยเฉพาะการกำหนดเงื่อนไขรายละเอียดบางอย่างที่อาจทำให้เฉพาะผู้ประกอบการบางรายเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ เช่น การกำหนดว่าจะต้องเป็นรถที่ประกอบในประเทศไทย
รวมทั้งกำหนดให้มีมูลค่าของวัสดุอุปกรณ์ที่ผลิตได้ภายในประเทศไม่น้อยกว่า 50% ซึ่งต้องเป็นของใหม่ ไม่เป็นของเก่าเก็บ อยู่ในสภาพที่จะใช้งานได้ทันที และมีคุณลักษณะเฉพาะตรงตามเกณฑ์ที่กำหนด
อีกทั้งยังต้องมีการติดตั้งระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัยสามารถรองรับการบริหารจัดการเดินรถ พร้อมกำหนดให้มีการซ่อมบำรุงด้วย
สำหรับคุณสมบัติผู้ยื่นข้อเสนอตามที่กำหนดไว้ใน TOR มีเบื้องต้น ดังนี้
ขณะเดียวกันตาม TOR ยังกำหนดรายละเอียดของคุณสมบัติผู้ยื่นข้อเสนอเพิ่มเติมอีก 2 เรื่องสำคัญ ดังนี้
1.มีผลงานการรับจ้างงานให้บริการยานพาหนะขนส่งสาธารณะภายในประเทศไทย รวมถึงรถโดยสารประจำทางจากหน่วยงานของรัฐไทยหรือภาคเอกชนภายในประเทศไทย ซึ่งมีมูลค่างานตามสัญญารับจ้างสัญญาเดียวกันไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท
หรือมีผลงานการให้บริการยานพาหนะขนส่งสาธารณะภายในประเทศไทยรวมถึงรถโดยสารประจำทาง ซึ่งมียอดมูลค่ารายได้ค่าโดยสารที่เรียกเก็บได้จากการให้บริการยานพาหนะขนส่งสาธารณะในสัญญาเดียวไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท ในทุกกรณี และสามารถใช้ผลงานภายในระยะเวลา 5 ปีก่อนวันเสนอราคา
2.มีใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจบริการการชำระเงินภายใต้การกำกับประเภทการให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์จากกระทรวงการคลัง ตามพ.ร.บ.ระบบการชำระเงิน พ.ศ. 2560 และมีผลงานการดำเนินการเกี่ยวกับระบบชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์
หรือมีผลงานการออกแบบและพัฒนาระบบตั๋วโดยสารที่สามารถรองรับระบบตั๋วร่วมของกระทรวงคมนาคมได้ หรือมีผลงานการดำเนินการเกี่ยวกับระบบบัตรสวัสดิการของรัฐของกระทรวงคมนาคมได้
หากผู้ยื่นข้อเสนอที่เสนอราคาในรูปแบบของกิจการร่วมค้าต้องมีคุณสมบัติ คือ
1.กรณีที่กิจการร่วมค้าได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่ (Joint Venture) กิจการร่วมค้าจะต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนตามเงื่อนไขที่กำหนด และการเสนอราคาให้เสนอราคาในนามกิจการร่วมค้า
ส่วนคุณสมบัติด้านผลงานกิจการร่วมค้าสามารถนำผลงานของผู้เข้าร่วมค้ามาใช้แสดงเป็นผลงานของกิจการร่วมค้าที่เข้าร่วมประกวดราคาได้ โดยนิติบุคคลทุกรายจะต้องรับผิดร่วมกันและแทนกันต่อองค์การอย่างลูกหนี้ร่วม
2. กรณีที่กิจการร่วมค้าไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่ หรือกลุ่มนิติบุคคลร่วมทำงาน (Consortium) นิติบุคคลแต่ละนิติบุคคลที่เข้าร่วมค้าทุกรายจะต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนตามเงื่อนไขที่กำ เว้นแต่ในกรณีที่กิจการร่วมค้าได้มีข้อตกลงระหว่างผู้เข้าร่วมค้าเป็นลายลักษณ์อักษร
กำหนดให้ผู้เข้าร่วมค้ารายใดรายหนึ่งเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการเข้าเสนอราคากับหน่วยงานของรัฐ และแสดงหลักฐานดังกล่าวมาพร้อมการยื่นข้อเสนอประกวดราคาทางระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ กิจการร่วมค้านั้นสามารถใช้ผลงานของผู้เข้าร่วมค้าหลักรายเดียวเป็นผลงานของกิจการร่วมค้าที่ยื่นเสนอราคาได้
ทั้งนี้หากนอกจากข้อ 1 หรือ 2 นี้ ผู้ยื่นข้อเสนอสามารถใช้ผลงานดังต่อไปนี้ได้
ทั้งนี้ตาม TOR ยังกำหนดให้นิติบุคคลแต่ละนิติบุคคล ซึ่งเสนอราคาที่เข้าร่วมในกลุ่มกิจการร่วมค้าหรือกลุ่มนิติบุคคลร่วมทำงาน ไม่สามารถยื่นเอกสารเสนอราคาในนามตนเอง หรือร่วมกับนิติบุคคลอื่นหรือกลุ่มกิจการร่วมค้าหรือกลุ่มนิติบุคคลร่วมทำงานอื่นได้อีก และจะเปลี่ยนแปลงนิติบุคคลในกลุ่มกิจการร่วมค้าหรือกลุ่มนิติบุคคลร่วมทำงานในภายหลังไม่ได้
ส่วนผู้ยื่นข้อเสนอกรณีที่กิจการร่วมค้าไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่หรือกลุ่มนิติบุคคลร่วมทำงาน นิติบุคคลแต่ละบุคคลที่เข้าร่วมค้าทุกรายจะต้องเป็นผู้มีรายชื่อเป็นผู้ซื้อเอกสาร ประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ทางระบบจัดซื้อจัดจ้างด้วยอิเล็กทรอนิกส์
เช่นเดียวกับผู้ยื่นข้อเสนอต้องมีนโยบายและแนวทางการป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง พร้อมทั้งต้องแนบเอกสารหลักฐาน และแบบตรวจสอบข้อมูลของผู้ยื่นข้อเสนอที่จะเข้าร่วมการเสนอราคาในโครงการที่มีวงเงินจัดซื้อจัดจ้างตั้งแต่ 500 ล้านบาทขึ้นไป ประกอบเป็นเอกสารเสนอราคา โดยผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องดำเนินการตามแบบตรวจสอบข้อมูลครบถ้วนทุกข้อจึงจะผ่านการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอ
นอกจากนี้ยังกำหนดข้อตกลงคุณธรรม ผู้ยื่นข้อเสนอต้องกรอกข้อมูลพร้อมลงนามและประทับตราในข้อตกลงคุณธรรมและส่งหลักฐานข้อตกลงคุณธรรมที่ได้ดำเนินการแล้วไปพร้อมกับการเสนอราคา โดยถือว่าเป็นสาระสำคัญในการพิจารณาคุณสมบัติ
ทั้งนี้หากไม่ส่งข้อมูลพร้อมลงนามและประทับตราในข้อตกลงคุณธรรม จะถือว่าไม่ผ่านคุณสมบัติตามประกาศคณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริตเรื่องแนวทางและวิธีการในการดำเนินการงานโครงการความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐแบบข้อตกลงคุณธรรม การคัดเลือกผู้สังเกตการณ์ และการจัดทำรายงานตามมาตรา 17 และมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560
“ในเงื่อนไขของผู้ที่ต้องการมายื่นข้อเสนอก็อาจทำให้เห็นในเบื้องต้นแล้วว่าเป็นอย่างไร จะมีบริษัทไหนเข้ามาร่วมได้บ้าง ใครจะได้ประโยชน์จากการเข้าร่วมโครงการนี้ ซึ่งเท่าที่ดูแล้วคงมีไม่กี่รายเท่านั้น ทั้งที่แนวทางที่ดีที่สุดคือต้องเปิดให้แข่งขันกันอย่างเป็นธรรมทุกเจ้า โดยเปิด TOR ให้กว้างที่สุด เพื่อให้ ขสมก. รวมทั้งผู้รับจ้าง และคนใช้บริการจะได้ประโยชน์จากโครงการนี้อย่างแท้จริง” แหล่งข่าว กล่าวทิ้งท้าย