แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) เตรียมออกประกวดราคาจ้างเหมาบริการเดินรถโดยสารปรับอากาศที่ใช้พลังงานสะอาด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการเดินรถและลดมลภาวะในเขตเมือง ซึ่งเป็นรถโดยสารปรับอากาศที่ใช้พลังงานสะอาด (พลังงานไฟฟ้า) หรือ รถโดยสารไฟฟ้า (EV) จำนวน 224 คัน ระยะเวลาการจ้าง 730 วัน (24 เดือน) ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ซึ่งมีราคากลางของงานจ้างในการประกวดราคาครั้งนี้ เป็นเงินทั้งสิ้น 953,648,640 บาท
การดำเนินการดังกล่าว ถือว่าเป็นไปตามแผนการจัดหารถโดยสารใหม่ จะเป็นในลักษณะของการ เช่า/จ้างบริการ โดยเฉพาะการจ้างเหมาบริการเดินรถโดยสาร EV จำนวน 2,511 คัน แบ่งเป็น 7 งวด งวดที่ 1-6 งวดละจำนวน 400 คัน และงวดสุดท้ายในส่วนที่เหลืออีก 111 คัน โดยในงวดแรกจะเร่งจัดหาให้ได้ในระยะแรกก่อน 224 คัน ด้วยวิธีประกวดราคาแบบ e-bidding ซึ่งขณะนี้ ขสมก. อยู่ระหว่างจัดทำร่างเอกสารขอบเขตของงาน (TOR) ขั้นสุดท้าย หลังจากเห็นชอบรายละเอียดเบื้องต้นของ TOR ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อปลายเดือนเมษายน 2565 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ในการจ้างเหมาเอกชนเข้ามาเดินรถโดยสาร EV ทั้ง 224 คัน ขสมก. กำหนดรายละเอียดเอาไว้ใน TOR ว่า จะต้องเป็นรถประกอบในประเทศไทยโดยมีมูลค่าของวัสดุอุปกรณ์ที่ผลิตได้ภายในประเทศไม่น้อยกว่า 50% ของมูลค่าวัสดุอุปกรณ์ที่ผลิตและประกอบได้ภายในประเทศทั้งหมด โดยให้นับรวมค่าประกอบและค่าดำเนินการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจริงกับผู้ประกอบการภายในประเทศ และเป็นของใหม่ ไม่เคยใช้งานมาก่อน ไม่เป็นของเก่าเก็บ อยู่ในสภาพที่จะใช้งานได้ทันทีและมีคุณลักษณะเฉพาะตรงตามที่ ขสมก.กำหนด
ขณะเดียวกันรถโดยสาร EV แต่ละคันจะต้องมีการติดตั้งระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัยสามารถรองรับการบริหารจัดการเดินรถได้เป็นอย่างดีและมีประสิทธิภาพ ตามคุณลักษณะเฉพาะของรถโดยสารที่ระบุไว้ พร้อมทั้งยังได้มีการการจ้างเหมาเอกชนเข้ามาดำเนินการยังต้องให้มีการซ่อมและบำรุงรักษารถโดยสาร EV ด้วย
“การดำเนินการครั้งนี้ ขสมก. ให้เหตุผลที่ต้องจ้างเหมาเอกชนมาวิ่งให้บริการ เพราะกรมการขนส่งกำหนดเอาไว้ว่า การจะให้รถเมล์มาวิ่งในเส้นทางที่กำหนดเอาไว้ต้องเป็นรถใหม่เท่านั้น แต่ ขสมก. จะไปหารถใหม่จากไหน ทำให้ต้องจ้างเหมาเอกชนวิ่ง กรณีนี้ก็ถือเป็นเรื่องหนึ่งที่อาจทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นตามไป"
ขณะที่สาระสำคัญของ TOR ฉบับนี้ มีความน่าสนใจหลายประการ โดยเฉพาะการกำหนดเงื่อนไขรายละเอียดบางอย่างที่อาจทำให้เฉพาะผู้ประกอบการบางรายเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ ซึ่งตอนนี้คงต้องรอดูก่อนว่า ขสมก. จะประกาศ TOR ออกมาเมื่อใด จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมหลังจากผ่านการพิจารณาในขั้นสุดท้ายเมื่อปลายเดือนเม.ย.ที่ผ่านมาแล้วหรือไม่
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า สาระของ TOR ฉบับนี้ ที่สำคัญคือ คุณสมบัติผู้ยื่นข้อเสนอต้องมีผลงานการรับจ้างงานให้บริการยานพาหนะขนส่งสาธารณะภายในประเทศไทย รวมถึงรถโดยสารประจำทางจากหน่วยงานของรัฐไทยหรือภาคเอกชนภายในประเทศไทย ซึ่งมีมูลค่างานตามสัญญารับจ้างสัญญาเดียวกันไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท หรือมีผลงานการให้บริการยานพาหนะขนส่งสาธารณะภายในประเทศไทยรวมถึงรถโดยสารประจำทาง ซึ่งมียอดมูลค่ารายได้ค่าโดยสารที่เรียกเก็บได้จากการให้บริการยานพาหนะขนส่งสาธารณะในสัญญาเดียวไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท ในทุกกรณี และสามารถใช้ผลงานภายในระยะเวลา 5 ปีก่อนวันเสนอราคา
รวมถึงมีใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจบริการการชำระเงินภายใต้การกำกับประเภทการให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์จากกระทรวงการคลัง ตามพ.ร.บ.ระบบการชำระเงิน พ.ศ. 2560 และมีผลงานการดำเนินการเกี่ยวกับระบบชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือมีผลงานการออกแบบและพัฒนาระบบตั๋วโดยสารที่สามารถรองรับระบบตั๋วร่วมของกระทรวงคมนาคมได้ หรือมีผลงานการดำเนินการเกี่ยวกับระบบบัตรสวัสดิการของรัฐของกระทรวงคมนาคมได้
นอกจากนี้ยังกำหนดแนวทางการป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง โดยผู้ยื่นข้อเสนอต้องแนบเอกสารหลักฐาน และแบบตรวจสอบข้อมูลของผู้ยื่นข้อเสนอที่จะเข้าร่วมการเสนอราคาในโครงการที่มีวงเงินจัดซื้อจัดจ้างตั้งแต่ 500 ล้านบาทขึ้นไป ประกอบเป็นเอกสารเสนอราคา โดยผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องดำเนินการตามแบบตรวจสอบข้อมูลครบถ้วนทุกข้อจึงจะผ่านการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอ
“เท่าที่ดู TOR แล้ว คงมีเอกชนไม่กี่รายเท่านั้น ที่จะได้ประโยชน์จากการเข้าร่วมโครงการนี้ ทั้งที่แนวทางที่ดีที่สุดของการดำเนินโครงการ คือต้องเปิดให้แข่งขันกันอย่างเป็นธรรมทุกราย โดยเปิด TOR ให้กว้างที่สุด เพื่อให้ ขสมก. รวมทั้งผู้รับจ้าง และผู้ใช้บริการจะได้ประโยชน์จากโครงการนี้อย่างแท้จริง” แหล่งข่าวกล่าว