นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า จากสถานการณ์โลกที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง บีโอไอยังไม่ได้ตั้งเป้าหมายการขอรับการส่งเสริมของปี 2565 อย่างเป็นทางการ แต่ยังเชื่อมั่นว่าการขอรับการส่งเสริมจะมีมูลค่าไม่ตํ่ากว่าในปีที่ผ่านมา
โดยได้ฉายภาพในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ว่า มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุน 378 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 110,730 ล้านบาท เป็นการลงทุนของรายใหม่ร้อยละ 56 (มูลค่า 61,760 ล้านบาท จาก 158 โครงการ) และเป็นโครงการขยายของบริษัทเดิมร้อยละ 44 (มูลค่า 48,970 ล้านบาท จาก 220 โครงการ) เป็นสัญญาณที่ดีว่านักลงทุนรายใหม่เริ่มกลับเข้ามาลงทุนมากขึ้น หลังจากที่ไทยและประเทศต่าง ๆ ได้ทยอยเปิดประเทศ
โครงการที่ขอรับการส่งเสริมในช่วงไตรมาสแรก ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า และกิจการสนับสนุน เช่น การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน การพัฒนานิคมหรือเขตอุตสาหกรรม และกิจการด้านโลจิสติกส์ โดยเป็นการลงทุนในพื้นที่ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จำนวน 107 โครงการ เงินลงทุน 60,360 ล้านบาท หรือร้อยละ 54 ของมูลค่าการลงทุนทั้งหมด รองลงมาเป็นพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้
“สำหรับทิศทางการลงทุนในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 มองว่ายังมีแนวโน้มดี มีปัจจัยหนุนคือ ประเทศต่าง ๆ เริ่มปรับตัวในการอยู่กับโควิด กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาเป็นปกติ ความต้องการสินค้าในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ มาตรการเปิดประเทศของไทย ทำให้การเดินทางเข้าประเทศของกลุ่มนักธุรกิจและผู้เชี่ยวชาญสะดวกมากขึ้น จะส่งผลดีต่อการตัดสินใจลงทุน โดยเฉพาะโครงการใหม่ ๆ ที่ผู้บริหารบริษัทจำเป็นต้องเดินทางเข้ามาเจรจาธุรกิจและดูที่ตั้งโครงการด้วยตัวเอง”
6 ปัจจัยชี้ทิศทางลงทุนไทยปี 65
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้โลกอยู่ในภาวะที่มีความไม่แน่นอนสูง มีปัจจัยภายนอก 6 เรื่องสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อทิศทางการลงทุนในระยะข้างหน้า คือ
1.วิกฤตรัสเซียและยูเครน นำมาสู่การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ และการแบ่งขั้วทางการเมืองระหว่างประเทศ เริ่มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ทั้งด้านต้นทุนพลังงาน อาหาร และซัพพลายของวัตถุดิบสำคัญ
2.สงครามการค้าระหว่างอเมริกากับจีน (Trade War) ที่เริ่มตึงเครียดมาตั้งแต่กลางปี 2561 และยังมีแนวโน้มจะยกระดับไปสู่สงครามเทคโนโลยี (Tech War) ได้ทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิตจำนวนมาก ล่าสุดมีโครงการที่ย้ายฐานมาไทยเนื่องจากสงครามการค้า จำนวน 280 โครงการ เงินลงทุนรวมกว่า 1.33 แสนล้านบาท
3.การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ในช่วง 2 ปีกว่าที่ผ่านมา หลายประเทศต้องล็อกดาวน์เป็นระยะๆ ปิดเมือง ปิดโรงงาน ระบบขนส่งหยุดชะงัก ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ทั่วโลก ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงว่าจะมีโควิดระลอกใหม่อีกหรือไม่
4.ปัญหาการขาดแคลนชิป เป็นปัญหาใหญ่ของภาคอุตสาหกรรมทั่วโลก เกิดจากความต้องการเซมิคอนดัคเตอร์ที่พุ่งสูงขึ้น เพื่อใช้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ โทรคมนาคม รวมทั้งรถยนต์ ขณะที่ฝั่งผู้ผลิตมีน้อยราย การสร้างโรงงานใหม่หรือขยายกำลังการผลิตยังทำได้ช้า
5.เทรนด์โลกกำลังมุ่งสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ไม่ใช่แค่ระดับประเทศ แต่ในภาคธุรกิจ บริษัทชั้นนำต่างก็ตั้งเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอน และยึดแนวทางความยั่งยืนหรือ ESG เป็นหัวใจหลักในการทำธุรกิจ รวมถึงการออกไปลงทุนในต่างประเทศ เช่น การเลือกไปลงทุนในประเทศที่มีแหล่งพลังงานสะอาดเพียงพอสำหรับภาคอุตสาหกรรม
6.กติกาใหม่ของโลกที่กำหนดให้บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ต้องเสียภาษีขั้นต่ำในอัตราร้อยละ 15 (Global Minimum Tax) โดย OECD และกลุ่มประเทศ G20 เพื่อแก้ปัญหาการถ่ายโอนกำไรระหว่างประเทศ แนวคิดนี้จะมีผลกระทบต่อการวางแผนการลงทุนของบริษัทข้ามชาติ และระบบการให้สิทธิประโยชน์ของประเทศต่างๆ รวมทั้งไทย โดยคาดว่าหลักเกณฑ์นี้จะมีผลใช้บังคับในอีก 1-2 ปีข้างหน้า ขณะนี้ทุกประเทศอยู่ระหว่างการศึกษาและเตรียมมาตรการรองรับ
“ปัจจัยทั้ง 6 เรื่องนี้ จะทำให้การตัดสินใจเลือกแหล่งลงทุนของบริษัทต่าง ๆ มีความละเอียดอ่อนมากขึ้น เพราะนอกเหนือจากการพิจารณาปัจจัยพื้นฐาน เช่น ขนาดของตลาด ความพร้อมของสาธารณูปโภค และลจิสติกส์ คุณภาพของบุคลากร กฎระเบียบ และสิทธิประโยชน์ต่างๆ แล้ว ยังต้องพิจารณาถึงการกระจายความเสี่ยง และการวางกลยุทธ์บริหารซัพพลายเชนระหว่างประเทศให้มีความยืดหยุ่นและมั่นคงมากขึ้น รวมทั้งการตอบโจทย์เรื่องคาร์บอนต่ำด้วย"
พลังงานสะอาดจุดขายไทยดึงลงทุนใหม่
อย่างไรก็ดี สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในโลก ทำให้ภูมิภาคอาเซียนโดยเฉพาะประเทศไทย มีความโดดเด่นในสายตานักลงทุน เพราะนอกจากจะมีปัจจัยพื้นฐานที่ดี ระบบสาธารณูปโภคและบุคลากรมีคุณภาพ และมีฐานอุตสาหกรรมสนับสนุนที่แข็งแกร่งแล้ว ประเทศไทยยังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกประเทศ อีกทั้งในช่วง 2 ปีกว่าตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด ไทยยังได้รับคำชื่นชมว่ามีการบริหารจัดการที่ดี ช่วยให้บริษัทสามารถรักษาการผลิตอย่างต่อเนื่องได้ โดยไม่ต้องปิดโรงงาน ช่วยสร้างความมั่นใจในการยึดไทยเป็นฐานธุรกิจระยะยาว
นอกจากนี้ ไทยยังเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่มีความพร้อมด้านพลังงานสะอาด ขณะที่หลายประเทศยังใช้ถ่านหินเป็นแหล่งพลังงานหลัก แต่ไทยมีขีดความสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดเพื่อป้อนภาคธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ ลม น้ำ ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ หรือขยะชุมชน โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ยื่นขอรับการส่งเสริมจากบีโอไอ 1,290 โครงการ เงินลงทุนกว่า 2 แสนล้านบาท จากนี้ไปพลังงานสะอาดจะเป็นอีกหนึ่งจุดขายสำคัญที่จะช่วยดึงดูดการลงทุนใหม่ ๆ เข้าสู่ประเทศไทยด้วย
ดันส่งเสริม BCG ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ
ขณะที่ทิศทางการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ จะเน้นส่งเสริมให้เกิดการลงทุนที่นำไปสู่การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพสูง เช่น กลุ่ม BCG (Bio-Circular-Green Industries)และการสร้างฐานอุตสาหกรรมใหม่ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ดิจิทัล ออโตเมชั่นและหุ่นยนต์ ชิ้นส่วนอากาศยาน เครื่องมือแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง การส่งเสริม Startup ทั้งในกลุ่มดิจิทัลและ Deep Tech การส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เป้าหมาย เช่น EEC และ 4 ระเบียงเศรษฐกิจใหม่ รวมทั้งการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ และศูนย์วิจัยและพัฒนาของภูมิภาค
ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นได้ ต้องมองถึงการสร้าง Ecosystem ด้วย เช่น การส่งเสริมรถ EV จำเป็นต้องมีสถานีชาร์จไฟฟ้า ระบบกักเก็บพลังงาน ไปจนถึงธุรกิจจัดการแบตเตอรี่ที่หมดอายุใช้งานแล้ว หรือกรณีการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล ก็จำเป็นต้องมีโครงสร้างพื้นฐาน มีดาต้าเซ็นเตอร์ คลาวด์เซอร์วิส และแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่จะช่วยให้ภาคธุรกิจเชื่อมโยงระบบกับโครงข่ายเทคโนโลยีดิจิทัลได้
เตรียมพร้อม “คน”ป้อนอุตฯเป้าหมาย
นอกจากนี้ บีโอไอยังให้ความสำคัญกับเรื่อง “คน” ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจลงทุน โดยได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร เช่น กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ออกมาตรการด้านสิทธิประโยชน์และเงินสนับสนุนสำหรับการพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมเป้าหมาย
อีกทั้งยังมีมาตรการดึงผู้เชี่ยวชาญต่างชาติเข้ามาทำงานร่วมกับบุคลากรไทย ผ่าน 3 เครื่องมือคือ การอำนวยความสะดวกด้านวีซ่าและใบอนุญาตทำงานสำหรับบุคลากรต่างชาติที่เข้ามาทำงานในกิจการที่ได้รับส่งเสริมจากบีโอไอ มาตรการ Smart Visa และล่าสุดคือ มาตรการวีซ่าสำหรับผู้พำนักระยะยาว (Long-term Resident Visa : LTR)
“ในแง่ประเทศเป้าหมายดึงการลงทุนปีนี้ บีโอไอยังคงเน้นประเทศผู้ลงทุนหลัก ในโซนเอเชีย มีญี่ปุ่น จีน ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลีใต้ และอินเดีย นอกโซนเอเชีย จะมีสหรัฐอเมริกา ยุโรป และออสเตรเลีย โดยจะมีกิจกรรมเจาะกลุ่มเป้าหมาย ทั้งโดยสำนักงานบีโอไอในต่างประเทศ และการจัดโรดโชว์จากส่วนกลาง"
นอกจากนี้ การที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคในปีนี้ จะเป็นโอกาสสำคัญในการแสดงศักยภาพให้โลกได้เห็นว่าไทยมีความพร้อมที่จะเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนของภูมิภาค และเป็นโอกาสที่จะดึงการลงทุนใหม่ๆ จากประเทศสมาชิกเอเปคด้วย