โครงการ "ประกันรายได้ข้าว" ปี 3 ของรัฐบาล คณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนัดเคาะประกาศราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง เป็นงวดสุดท้ายเสร็จสิ้นแล้ว เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2565 สำหรับเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวข้าวจนถึงวันที่ 31 ก.ค. 2565
จากที่ผ่านมาโครงการประกันรายได้ข้าวปี 3 ได้ประกาศราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงทุก 7 วัน (ทุกวันศุกร์) สำหรับงวดที่ 1 เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค. 2564 ที่ผ่านมา ขณะสรุปภาพรวมโครงการประกันรายได้ข้าวภายใต้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใน 3 ปีการผลิตที่ผ่านมา ใช้เงินอุดหนุนชาวนาไปแล้วกว่า 3.8 แสนล้านบาท (กราฟิกประกอบ)
แหล่งข่าวจากคณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึง ความคืบหน้าการจ่ายเงินชดเชยเกษตรกรตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2564/65 รอบที่ 1 ผลการจ่ายเงินชดเชยของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ( ธ.ก.ส.) ณ วันที่ 25 พฤษภาคม 2565 ธ.ก.ส. แจ้งการโอนเงินชดเชยให้เกษตรกรแล้ว สำหรับงวดที่ 1-32 รวมทั้งสิ้น จำนวน กว่า 4.67 ล้านครัวเรือน วงเงิน กว่า 8.61 หมื่นล้าน
ทั้งนี้คิดเป็นสัดส่วน 99.01% ของกรอบวงเงินงบประมาณที่ปรับลดตามมติคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2565 (วงเงินชดเชยเดิม กว่า 87,532 ล้านบาท จัดสรรให้โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว จำนวนกว่า 583 ล้านบาท คงเหลือกรอบวงเงินชดเชย กว่า 86,949 ล้านบาท) คงเหลือวงเงิน 786.3 ล้านบาท และเมื่อครบ 33 งวดแล้วนั้น ทาง ธ.ก.ส. ยังมีการติดตามโอนเงินชดเชยให้กับเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง และจะจัดส่งข้อมูลให้ฝ่ายเลขานุการฯ ทราบเป็นระยะๆ
ล่าสุดกรมส่งเสริมการเกษตร ได้มีการตรวจสอบข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกร และตรวจสอบแปลงเกษตรกร พบว่า มีเกษตรกรที่ไม่ได้ปลูกจริง หรือปลูกน้อยกว่าที่แจ้งขึ้นทะเบียน เป็นแปลงข้าวรอบที่ 2 และเกษตรกรไม่ใช่สัญชาติไทยจึงต้องเรียกเงินคืนในรายที่ได้รับเกินสิทธิ์ตามโครงการฯ จำนวน 281 ครัวเรือน พื้นที่ขอคืนเงิน 2,326.27 ไร่ จำนวนเงินทั้งสิ้น กว่า 3 ล้านบาท
ด้าน นายธีร์วริศ พรพันธวิศ นายกสมาคมส่งเสริมเกษตรกรชาวนาอีสาน ให้ความเห็นว่า หากในปีหน้ายังคงมีการดำเนินโครงการฯ ต่อไป ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเพิ่มการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนเกษตรกรและหลักเกณฑ์ปริมาณการชดเชยของข้าวแต่ละชนิดตามโครงการฯ ด้วย เนื่องจากเกษตรกรยังมีความสับสนในวิธีการคิดคำนวณผลผลิตที่เกษตรกรจะได้รับ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกรเอง
นายสมศักดิ์ ตังพิทักษ์กุล อุปนายกสมาคมโรงสีข้าวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์ราคาข้าวเหนียวลดลงอย่างมีนัย โดยตั้งข้อสังเกตว่า ธ.ก.ส. สั่งให้ชาวนานำข้าวในโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก หรือ “จำนำยุ้งฉาง” ออกมาขาย เพื่อชำระหนี้เพราะสัญญาครบเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ตอนแรกที่ข้าวหอมมะลิราคาร่วง ประเมินว่าจะระบายเฉพาะข้าวหอมมะลิเท่านั้น แต่ปรากฏว่ามีข้าวเหนียวทะลักออกมาด้วย ทั้งที่ราคาข้าวเหนียวในตลาดก็ยังไม่ค่อยดีเท่าไรนัก รู้สึกแปลกใจ ตอนนี้โรงสีข้าวที่จะรับซื้อข้าวใหม่จากชาวนา ชะลอซื้อข้าวแล้ว
ด้านนายระพีพัชญ์ ธนถาวรกิตติ์ นายกสมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย กล่าวว่า ผู้ประกอบการข้าวถุงมีความพยายามที่จะปรับราคาให้ช้าที่สุด กระทบผู้บริโภคน้อยที่สุด ซึ่งการแข่งขันข้าวถุงไม่ดุเดือดเช่นในอดีต สาเหตุมาจากคนไทยบริโภคข้าวลดลง ทำให้ตัวเลขการทำตลาดไม่หวือหวา ต้องประชาสัมพันธ์ให้คนไทยมาบริโภคข้าวเพิ่มมากขึ้น
พิจารณาจากสถิติที่ผ่านมา ย้อนไปเมื่อ 40 ปีที่แล้ว คนไทยบริโภคข้าว 120 กก.ต่อคนต่อปี และ 20 ปี ที่ผ่านมา เหลือการบริโภคข้าว 100 กก.ต่อคนต่อปี, ปี 2560 ม.เกษตรศาสตร์ทำการวิจัย เหลือการบริโภคข้าวเพียง 83 กก.ต่อคนต่อปี ล่าสุด ปี 2565 เพิ่งทำการสำรวจไป เหลือ 76 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ดังนั้นจะเห็นว่าการบริโภคข้าวคนไทยลดลงไปเรื่อยๆ เป็นเรื่องที่น่าตกใจมาก
“สาเหตุส่วนหนึ่งจากคนไทยได้รับวัฒนธรรมตะวันตก ที่ระบุว่าการบริโภคคาร์โบไฮเดรตทำให้อ้วน แต่ที่ชาวตะวันตกบริโภคจะเป็นพวกแป้ง ขนมปัง พอมาใช้กับคนไทย กลายเป็นว่าข้าว คือคาร์โบไฮเดรต ซึ่งอยากจะทำความเข้าใจว่าเป็นคนละแบบกัน แต่ส่งผลทำให้การบริโภคข้าวลดลงไปเรื่อยๆ ดังนั้นอยากจะประชาสัมพันธ์ว่าอ้วนหรือไม่อ้วน ไม่ได้เกี่ยวกับข้าว ก็ขอให้ช่วยกันบริโภคเพิ่มขึ้น”