นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์ด้านความมั่นคงอาหาร ในขณะนี้ว่า ราคาอาหารที่พุ่งขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์ทั่วโลกในปัจจุบัน ส่งผลให้ประชากรประมาณ 193 ล้านคนทั่วโลก กำลังประสบปัญหาความไม่มั่นคงด้านอาหาร ซึ่งเกิดจากหลากหลายปัจจัย
โดยส่วนหนึ่งเกิดจากแรงกดดันต่อตลาดอาหารทั่วโลก ซึ่งได้เกิดขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว และราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นในปี 2564 ผลักดันให้ราคาปุ๋ยและเชื้อเพลิงสูงขึ้น ประกอบกับสภาพอากาศที่แห้งแล้ง ได้ทำลายพืชผลในประเทศผู้ผลิตอาหารขนาดใหญ่ เช่น บราซิล สหรัฐอเมริกา และแคนาดา เป็นต้น จนมาถึงการแพร่ระบาดของ "โควิด-19" ทำให้เกิดความล่าช้าในการขนส่งและการค้าหยุดชะงัก
ล่าสุด คือ สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างยูเครน-รัสเซีย ซึ่งทั้ง 2 ประเทศมีสัดส่วนการส่งออกข้าวสาลีประมาณร้อยละ 30 ของการค้าข้าวสาลีทั่วโลก ยูเครนส่งออกน้ำมันดอกทานตะวันประมาณร้อยละ 50 ของโลก และรัสเซียส่งออกปุ๋ยร้อยละ 20 ของโลก การคว่ำบาตรรัสเซียในครั้งนี้ จึงส่งผลให้ราคาพลังงานและปุ๋ยมีราคาสูงขึ้น
สศก. โดยศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ (ศกช.) ได้สรุปประเด็นสำคัญของวิกฤตการณ์อาหารโลก (Global Food Crisis) เพื่อให้เข้าใจสถานการณ์และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จากมุมมองของผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ประกอบด้วยประเด็นที่น่าจับตา เพราะหากพิจารณาแล้ว ประเทศทั่วโลกยังไม่ฟื้นตัวมากนัก จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปลายปี 2563
ประกอบกับความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งทั้ง 2 ประเทศเป็นแหล่งทรัพยากร โดยเฉพาะข้าวสาลี ปุ๋ย ซึ่งมีการคาดการณ์ว่า ผลิตผลกว่า 19-34 ล้านตันจะหายไปในปีนี้ และจะหายถึง 43 ล้านตันในปี 2566 สะท้อนให้เห็นว่า จะส่งผลกระทบต่อปริมาณแคลอรีที่บริโภคของคนกว่า 150 ล้านคน
อีกทั้งการส่งออกสินค้าไปขายต่างแดนผ่านท่าเรือในทะเลดำต้องหยุดชะงักลง จากการถูกเรือรบของรัสเซียปิดล้อม ดังนั้น หลายประเทศ เช่น มองโกเลีย อาเมเนีย อียิปต์ เยเมน ลิเบีย ปากีสถาน ตุรกี ซึ่งต้องพึ่งพาการนำเข้าอาหารและปัจจัยการผลิตทางการเกษตรจากรัสเซียและยูเครน จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง นอกจากนี้ ภาวะสงคราม ยังส่งผลให้ รัสเซีย ซึ่งถือเป็นผู้ส่งออกวัตถุดิบที่ใช้ในการทำปุ๋ยรายใหญ่ อย่างโพแทสและซัลเฟต งดการส่งออก ทำให้ราคาปุ๋ยต้องปรับขึ้นเช่นเดียวกัน
สงครามรัสเซีย-ยูเครน ถือเป็นการจุดชนวนผลกระทบเศรษฐกิจโลกหลายด้าน โดยเฉพาะแนวโน้ม “วิกฤตอาหารโลก” ที่เขย่าความมั่นคงทางอาหาร และกำลังกลายเป็นกระแสผลักดันให้ประเทศผู้ผลิตอาหารออกนโยบาย “ห้ามส่งออก” เพื่อรักษาสมดุลอาหารเพื่อเลี้ยงคนในประเทศ ดังจะเห็นได้จากประเทศที่ห้ามส่งออกธัญพืชสำคัญและอาหารขณะนี้ นอกจากรัสเซีย-ยูเครนแล้ว
ยังมีคาซัคสถาน จำกัดการส่งออกข้าวสาลีและแป้งสาลี เป็นการชั่วคราว ขณะที่อาร์เจนตินา จำกัดการส่งออกเนื้อวัว ยาวจนถึงปี 2566 และล่าสุดอินเดีย ประกาศห้ามส่งออกข้าวสาลี ซึ่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ออกมาระบุว่า ขณะนี้มีประมาณ 30 ประเทศทั่วโลกได้ใช้มาตรการจำกัดการส่งออกอาหาร พลังงาน และสินค้าโภคภัณฑ์แล้ว เพื่อสร้างหลักประกันความมั่นคงทางอาหารให้กับคนในชาติของตน (Food Protectionism) และธนาคารโลก คาดการณ์ว่า ปี 2565 ราคาสินค้าทั่วโลกจะปรับตัวสูงขึ้น 37% สูงสุดในรอบ 60 ปี
แม้ที่ผ่านมา โลกจะเคยเผชิญกับวิกฤตอาหารมาแล้วในช่วงปี 2550 - 2551 แต่อย่างไรก็ตาม ในปี 2551 เป็นเพียงการขาดแคลนสินค้า (Commodity Shock) ขณะที่สถานการณ์ในปี 2565 กำลังเผชิญทั้งการขาดแคลนสินค้าและการขาดแคลนปัจจัยการผลิต (Input Shock) ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้ ทำให้ผู้เชี่ยวชาญหลายประเทศกังวลว่า
หากสงครามยังดำเนินต่อไป จะทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นและส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานอย่างมาก เพราะความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) เป็นเรื่องที่สำคัญ นอกจากที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับภาวะโลกร้อนแล้ว ยังมาเผชิญกับสงครามความขัดแย้งครั้งนี้ โดยในปัจจุบัน นักลงทุนให้ความสนใจด้านเทคโนโลยีการเกษตร (Agrotechnology) และเทคโนโลยีอาหาร (Food Tech)
เช่น การใช้ผลผลิตให้เกิดประโยชน์สูงสุด (Biosolution) และ การทำฟาร์มแนวตั้ง (Vertical Farming) เป็นต้น ในขณะเดียวกัน เกษตรกรก็ให้ความสนใจในการใช้ปุ๋ยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและลดขยะมูลฝอยให้น้อยลง ส่วนผู้บริโภคก็หันมาให้ความสนใจบริโภคโปรตีนทางเลือกมากขึ้น
สำหรับประเทศไทย ถือเป็นผู้ผลิตอาหารอันดับต้นๆ ของโลก จึงมีความพอพียงของอาหารในการบริโภคภายในประเทศ และหากมองในมุมวิกฤตที่เกิดขึ้น สามารถเป็นโอกาสดีในการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารให้เติบโต ในฐานะแหล่งผลิตอาหารสำคัญ หรือ ครัวของโลก
โดยจะเห็นได้จากการส่งออกสินค้าเกษตร 4 เดือนแรก ปี 2565 (มกราคม - เมษายน 2565) ที่เติบโตอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับปี 2564 ในช่วงเวลาเดียวกัน โดยสินค้าเกษตรไทย สามารถส่งออกไปโลกเพิ่มขึ้นจาก 418,883 ล้านบาท เป็น 516,127 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 97,244 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 23.22)
กลุ่มสินค้าเกษตรส่งออกสำคัญ 10 อันดับแรก ได้แก่ ทุเรียน ข้าว ยางธรรมชาติ ไก่ปรุงแต่ง อาหารสุนัขหรือแมวปรุงแต่ง ปลาทูนาปรุงแต่ง สตาร์ชทำจากมันสำปะหลัง น้ำยางธรรมชาติ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ และอาหารปรุงแต่งอื่นๆ เช่น เต้าหู้
อย่างไรก็ตาม ไทยได้มีการวางแผนเตรียมความพร้อมด้านความมั่นคงอาหาร ทั้งระบบ ผ่านกลในรูปคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับด้านนโยบายอาหารของประเทศ โดยดำเนินงานผ่านคณะกรรมการขับเคลื่อนด้านต่างๆ 4 ด้าน คือ 1) ด้านความมั่นคงอาหารตลอดห่วงโซ่ 2) ด้านคุณภาพและความปลอดภัยด้านอาหาร 3) ด้านอาหารศึกษา (ให้ความรู้ในการบริโภคอาหารอย่างถูกต้องตามหลักโภชนาการ และ 4) ด้านการบริหารจัดการ (กฎหมาย โครงสร้างองค์กร และการบริหารงบประมาณ)
โดยในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับผิดชอบดูแลด้านการผลิตสินค้าเกษตร ซึ่งเป็นต้นทางของระบบการผลิตอาหาร ได้มีการวางแผนการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านความมั่นคงอาหาร โดยให้ความสำคัญกับการจัดการระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมและเชื่อมโยงกันทั้งระบบ (BIG DATA) การจัดทำปฏิทินผลผลิตสินค้าเกษตรรายเดือนระดับจังหวัด (Provincial Crop Calendar) ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการวางแผนการกระจายสินค้าเกษตรและอาหาร
ทำให้ภาครัฐสามารถวางแผนรองรับในสภาวะวิกฤติ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน รวมไปถึงการสนับสนุนเกษตรกรทำการเกษตรทฤษฎีใหม่และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งจะเป็นการสร้างการพึ่งพาตนเองด้านอาหาร เพื่อสร้างความมั่นคงอาหารในท้องถิ่นและลดผลกระทบที่เกิดจากปัญหาโลจิสติกส์อันเนื่องมาจากการระบาดของโควิด -19 สร้างภูมิคุ้มกันให้เกษตรกรในการรับมือกับสภาวะวิกฤติอย่างยั่งยืนอีกด้วย
นอกจากนี้ การประชุมเอเปคที่ไทยเป็นเจ้าภาพในปี 2565 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับผิดชอบกรอบการทำงานที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงอาหาร ซึ่งเป็นการแสดงเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นทางการเมืองในการส่งเสริมความมั่นคงอาหารในภูมิภาค ในร่างปฏิญญาฯ ไทยจะผลักดันประเด็นหลักที่จะช่วยสนับสนุนโยบายครัวไทยสู่ครัวโลก ด้านความปลอดภัยอาหาร ด้านการค้าระหว่างประเทศ ด้านการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและ ด้านการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนอีกด้วย
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มุ่งมั่นที่จะให้ภาคเกษตรไทยมีความมั่นคง ยั่งยืนและแข็งแกร่งภายใต้วิกฤติต่าง ๆ โดยต้องการปรับปรุงการผลิตสินค้าเกษตรไทยตามนโยบาย Next Normal 2022 ที่มุ่งเน้นการสร้างผลิตภัณฑ์การเกษตรมูลค่าสูงด้วย BCG Economy Model
เช่น การนำผลพลอยได้และวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้ผลิตพลังงาน การปลูกไม้เศรษฐกิจโตเร็วเพื่อพลังงาน การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในภาคเกษตร เป็นต้น จะช่วยให้เกษตรกรลดการพึ่งพาพลังงานของประเทศที่นับวันราคาพลังงานน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจะสูงขึ้น เป็นการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มรายได้ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มความมั่นคงและความสามารถในการแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนร่วมกัน