นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้ สศก. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน และ เกษตรกร ส่งเสริมการผลิตพืชเศรษฐกิจเพื่อความมั่นคงทางอาหาร โดยเฉพาะถั่วเหลือง ซึ่งเป็นพืชที่ให้ทั้งโปรตีนและน้ำมัน และยังเป็นวัตถุดิบที่สำคัญของอุตสาหกรรมหลายประเภท ทั้งอุตสาหกรรมแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหาร อุตสาหกรรมสกัดน้ำมัน และอุตสาหกรรมอาหารสัตว์
จากสถานการณ์การผลิตและการตลาดถั่วเหลืองในปี 2565 หรือปีเพาะปลูก 2565/66 (ข้อมูลพยากรณ์ ณ 24 กุมภาพันธ์ 2565) พบว่า ประเทศไทยมีเนื้อที่เพาะปลูก 85,226 ไร่ แบ่งเป็น ถั่วเหลือง รุ่น 1 จำนวน 26,208 ไร่ และถั่วเหลือง รุ่น 2 จำนวน 59,018 ไร่ ผลผลิตรวม 23,007 ตัน (ถั่วเหลือง รุ่น 1 จำนวน 7,836 ตัน และถั่วเหลือง รุ่น 2 จำนวน 15,171 ตัน) โดยเนื้อที่เพาะปลูกลดลงจากปีที่ผ่านมา ซึ่งมีจำนวน 88,010 ไร่ (ลดลงร้อยละ 3.40) และผลผลิตลดลงจากที่มีจำนวน 23,482 ตัน (ลดลงร้อยละ 2.02) เนื่องจากถั่วเหลืองเป็นพืชที่ให้ผลตอบแทนน้อยกว่าพืชอื่น เกษตรกรบางส่วนจึงหันไปปลูกพืชอื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า เช่น ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น
ที่ผ่านมา พื้นที่เพาะปลูกถั่วเหลืองและผลผลิตถั่วเหลืองลดลงอย่างต่อเนื่องทุกปี ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ เนื่องจาก ต้นทุนการผลิตที่สูง ขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ที่ดี ต้องใช้แรงงานสูงโดยเฉพาะในการเก็บเกี่ยว ขณะที่ความต้องการใช้ในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากพิจารณาข้อมูล 5 ปีย้อนหลัง (ปี 2560 – 2564) ความต้องการใช้ถั่วเหลืองในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.92 ต่อปี
โดยปี 2565 คาดว่า ความต้องการใช้เมล็ดถั่วเหลืองมีปริมาณ 4.02 ล้านตัน มีสัดส่วนการใช้ผลผลิตภายในประเทศ ร้อยละ 0.58 และยังต้องนำเข้าร้อยละ 99.42 ของปริมาณความต้องการใช้ทั้งหมด ส่งผลแนวโน้มการนำเข้ายังเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.15 ต่อปี ทั้งนี้ ปี 2565 คาดว่าการนำเข้าเมล็ดถั่วเหลืองมีปริมาณ 4.00 ล้านตัน เพิ่มขึ้นตามความต้องการใช้ของภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศ
ด้านราคาถั่วเหลืองที่เกษตรกรขายได้ (เกรดคละ) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.96 ต่อปี โดยในปี 2564 เฉลี่ยกิโลกรัมละ 17.16 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 16.71 บาท ในปี 2563 ร้อยละ 2.69 และปัจจุบัน ราคา ณ ช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนมีนาคม 2565 กิโลกรัมละ 20.20 บาท ส่วนราคาถั่วเหลืองนำเข้า ณ ท่าเรือเกาะสีชัง มีแนวโน้มสูงขึ้น ร้อยละ 3.62 ต่อปี โดยในปี 2564 ราคาถั่วเหลืองนำเข้า ณ ท่าเรือเกาะสีชัง เฉลี่ยกิโลกรัมละ 18.15 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 12.51 บาท ในปี 2563 (สูงขึ้นร้อยละ 45.08) ซึ่งราคาสูงขึ้นไปในทิศทางเดียวกับราคาในตลาดโลก
“จากสถานการณ์ถั่วเหลืองข้างต้น จะเห็นได้ว่าผลผลิตถั่วเหลืองในประเทศมีไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้เป็นจำนวนมาก อีกทั้งแนวโน้มราคายังมีทิศทางปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่อาจกระทบต่อการนำเข้าพืชอาหารสัตว์ ดังนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงมีนโยบายเร่งส่งเสริมการผลิตถั่วเหลืองในประเทศ โดยมอบหมายให้ สศก. ร่วมกับทุกภาคส่วนส่งเสริมการผลิตในประเทศ พัฒนาศักยภาพการผลิตและคุณภาพของถั่วเหลือง “
โดย สศก. จะมีการลงพื้นที่ระหว่างวันที่ 7-8 เมษายน 2565 ณ จังหวัดเชียงใหม่ และ แม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นแหล่งผลิตที่สำคัญของประเทศ เพื่อพูดคุยกับเกษตรกรผู้ปลูกถั่วเหลือง เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ รวมทั้งสหกรณ์ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการรับซื้อเมล็ดถั่วเหลือง และผู้ประกอบการที่ใช้เมล็ดถั่วเหลืองเป็นวัตถุดิบ ในการหาแนวทางที่จะเพิ่มผลผลิตถั่วเหลืองในประเทศร่วมกัน