การประชุมต่างจังหวัดครั้งแรก ของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานฯ ซึ่งมีศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นกรรมการ/เลขานุการ ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา
โดยวาระสำคัญคือ การพบปะผู้ประกอบการและนักธุรกิจในพื้นที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ที่มีการยื่นหนังสือในนามของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เรื่องสนับสนุนหลักการโครงการจะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ซึ่งการพบปะกันไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนร่วมรับฟัง
นายธนวัตน์ พูนศิลป์ ประธานหอการค้าจังหวัดสงขลา เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รับทุกเรื่องที่ทางภาคเอกชนนำเสนอไป โดยเฉพาะ 2 เรื่องเร่งด่วนคือ เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) ที่ยังต้องรอ เนื่องจากกระทรวงการคลังจะต้องไปดูหลักการ ว่าจะสามารถขยายพื้นที่มาที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
ส่วนเรื่องขยายเวลาเปิดบริการสถานบันเทิง ที่น่าจะเริ่มดำเนินการได้เลย รวมถึงโครงการสมาร์ทซิตี้ ที่จะดำเนินการในอำเภอสะเดาและอำเภอหาดใหญ่ ขณะที่โครงการจะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคตนั้น ท่านรองนายกประวิตร ก็ยืนยันว่าอยากจะทำแต่ยังติดอยู่ที่กลุ่มต่อต้าน
“ที่ผมเสนอก็คือ มติครม.มี 3 ข้อ ข้อแรกก็คือให้ไปดูว่า ศอ.บต.ดำเนินการไปถึงไหน ข้อสองคือให้มีการศึกษา เอสอีเอ และข้อสามก็คือให้ชะลอไว้ก่อน จนกว่าจะมีการดำเนินการข้อที่หนึ่งและข้อที่สอง"
ซึ่งได้นำเรียนต่อท่านรองนายกรัฐมนตรีว่า ขั้นตอนที่หนึ่งทางศอ.บต.ดำเนินการไปแล้ว ในขณะที่ข้อสองไม่มีอะไรคืบหน้า ระยะเวลาผ่านมาแล้ว 6 เดือน
“ท่านรองนายกรัฐมนตรีได้หันไปถามทางผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องนี้ เขาก็บอกว่ากำลังดำเนินการอยู่ แต่ผมแย้งว่าไม่ใช่ ยังไม่มีการดำเนินการอะไรเลย เพราะหากว่ามีการดำเนินการจริง ก็จะต้องมีการแบ่งออกมาว่า ให้สถาบันไหนเป็นผู้ทำการศึกษา และมีใครบ้างที่จะต้องเข้าร่วมทำการศึกษา
นายธนวัตน์ กล่าวว่า จากนี้จะนำเรื่องโครงการจะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ที่ได้ยื่นต่อรองนายกรัฐมนตรี เข้าที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ(กรอง) จ.สงขลา ในการประชุมครั้งต่อไปประมาณกลางเดือนมิถุนายน เพื่อหารือดำเนินการส่งเรื่องโครงการจะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ให้กับรองนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง
“การนำเรื่องนี้ผ่านที่ประชุมกรอ.จังหวัด เมื่อกรอ.จังหวัดมีมติก็จะส่งเรื่องเข้าระบบ โดยจะเข้าสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นคนดำเนินการต่อไป เนื่องจากเป็นโครงการที่ภาคเอกชนผลักดันผ่านกรอ. ซึ่งเป็นคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจจังหวัด"
ด้านนายชื่นชอบ คงอุดม ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่กระทรวงการคลัง กล่าวว่า สำหรับโครงการเขตปลอดอากรหาดใหญ่นั้นไม่น่าจะมีปัญหา เนื่องจากมีต้นแบบที่ดำเนินการมาแล้ว ที่อ.สุไหงโก-ลก อ.เบตง อ.หนองจิก และล่าสุดที่ อ.จะนะ ฉะนั้น ไม่น่าจะยาก แต่ที่ผ่านมาที่ยังไม่ได้มีการดำเนินการอย่างชัดเจน เนื่องจากติดปัญหาโควิด-19 กว่า 2 ปี
“จริง ๆ มันมีแนวทางอยู่แล้ว ของเดิมมันทำได้อยู่แล้ว ทางกระทรวงการคลัง ต้องนำเรียนท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และกรมศุลกากร ก็คงจะมาดูความเหมาะสม แต่หากมีตัวอย่างอยู่แล้วมันก็ไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ยาก”
ส่วนโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำนั้นต้องไปดูรายละเอียด โดยเฉพาะวัตถุประสงค์ของการใช้ เนื่องจากเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำที่มีอยู่เฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นมาตรการช่วยเหลือผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ เพราะฉะนั้นเมื่อจะนำมาใช้ในพื้นที่อำเภอหาดใหญ่ ก็ต้องไปดูว่าจะทำได้หรือไม่อย่างไร ก็ต้องขอไปดูรายละเอียดเงื่อนไข ว่าทำได้หรือไม่ได้อย่างไร
นายชื่นชอบ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันรัฐบาลก็มีเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ที่ออกมาเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 อีกก้อน ก็ต้องไปดูระเบียบว่าตัวที่มีอยู่เดิมนี้ สามารถปรับระเบียบได้หรือไม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันว่า ไม่ใช่เฉพาะแค่ความไม่สงบเพียงอย่างเดียว"
สำหรับเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำสำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวน 25,000 ล้านบาทนั้น ปัจจุบันยังเหลือวงเงินอีกประมาณ 4,000 ล้านบาท ส่วนการขยายเวลาเปิดให้บริการสถานบันเทิง ก็เป็นเรื่องที่จะต้องหารือกัน ระหว่างกระทรวงมหาดไทยกับตำรวจ เนื่องจากเป็นผู้มีอำนาจในการพิจารณา