ทีมเศรษฐกิจถกวันนี้ ต่ออายุมาตรการลดค่าครองชีพ ลุ้นมาตรการไหนได้ไปต่อ

14 มิ.ย. 2565 | 02:01 น.
อัปเดตล่าสุด :14 มิ.ย. 2565 | 09:11 น.

วันนี้ “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” รองนายกรัฐมนตรี นัดหน่วยงานเศรษฐกิจ ถกมาตรการลดค่าครองชีพ เล็งต่อบางมาตรการที่กำลังจะหมดอายุในเดือนมิถุนายน - กรกฎาคม 2565 ก่อนเสนอครม.ไฟเขียวอย่างเร็วที่สุดภายในสัปดาห์หน้า เพื่อบรรเทาผลกระทบให้ประชาชน

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า วันนี้ จะนัดหน่วยงานเศรษฐกิจหารือถึงแนวทางการพิจารณา หรืออาจต่ออายุมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐบาล ซึ่งจะมีบางมาตรการสิ้นสุดในเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม นี้ 

 

สำหรับการหารือครั้งนี้ จะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางด้านเศรษฐกิจหารือ เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยประเด็นหลักจะรับฟังรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจ เงินเฟ้อ มาตรการลดค่าครองชีพ รวมไปถึงเรื่องการกู้เงินของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงด้วย

 

“จริง ๆ แล้วรัฐบาลได้นัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาคุยกันแล้วเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมาแล้ว และจะมาสรุปข้อมูลกันในนี้ ทุกเรื่องว่าภาพรวมเป็นยังไง มาตรการอะไรที่จะจัดทำออกมา รวมถึงวงเงินที่จะใช้มีจากแหล่งไหนบ้าง หากได้ข้อสรุปแล้วในสัปดาห์หน้าจะพยายามเสนอให้ครม. พิจารณา” นายสุพัฒนพงษ์ ระบุ

 

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ และรมว.พลังงาน ให้สัมภาษณ์ที่ทำเนียบรัฐบาล ถึงมาตรการลดค่าครองชีพ

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ตอนนี้เพียงพอหรือไม่ โดยเฉพาะวงเงินภายใต้พ.ร.ก.กู้เงินฯ เพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท ซึ่งยังเหลือเงินอีกประมาณ 7 หมื่นล้านบาท รองนายกฯ ยอมรับว่า ก็คงใช้เงินส่วนนี้ ส่วนจะกู้อีกหรือไม่ เห็นว่า เงินก้อนนี้ยังเหลืออยู่ และนำไปใช้ในโครงการอื่น ๆ ได้ถึงเดือนกันยายน นี้  

 

ส่วนการกู้เงินใหม่คงเป็นการกู้เงินเฉพาะในส่วนของเงินที่จะใช้สำหรับกองทุนน้ำมันเท่านั้น แต่ในรายละเอียดคงต้องมาคุยกันอีกที ซึ่งเรื่องนี้นั้นกระทรวงการคลัง ก็กำลังดูแนวทางอยู่

 

“ในหลักการนายกรัฐมนตรี มอบนโยบายให้ดูภาพรวม ทุกหน่วยงานก็ได้มาดูภาพรวมว่าจะเดินหน้าไปยังไง ประเทศไทยจะเติบโตท่ามกลางเงินเฟ้อสูงแบบนี้ มีอะไรต้องทำ ทั้งเรื่องพลังงาน ราคาน้ำมัน หรือเรื่องของเงินเฟ้อที่สูงขึ้น โดยจะดูหลาย ๆ ด้าน รวมทั้งมาตรการช่วยเหลือประชาชนเสริมเติมเข้าไปด้วย”

 

อย่างไรก็ตามในมาตรการเบื้องต้นที่อาจทำออกมา คือการต่ออายุมาตรการเดิม เช่น การช่วยเหลือเรื่องค่าไฟฟ้า สำหรับครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 300 หน่วย อาจได้รับส่วนลดค่า FT ซึ่งเรื่องนี้กระทรวงพลังงานกำลังพิจารณา เป็นต้น

ก่อนหน้านี้ในมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐบาลที่ออกมา มีด้วยกันดังต่อไปนี้

  • ครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 300 หน่วย จำนวน 20 ล้านหลังคาเรือน ได้รับส่วนลดค่า FT ลง 22 สตางค์ เป็นเวลา 4 เดือน (พ.ค.-ส.ค.2565) 
  • นายจ้างและผู้ประกันตนในมาตรา 33 ได้รับการลดเงินนำส่งจาก 5% เหลือ 1% งวดค่าจ้าง พ.ค. – ก.ค. ครอบคลุมนายจ้าง 4.9 ล้านคน และผู้ประกันตน 11.2 ล้านคน
  • ผู้ประกันตนในมาตรา 39 จำนวน 1.9 ล้านคน ลดเงินนำส่งจาก 9% เหลือ 1.9% งวดค่าจ้าง เดือนพ.ค. – ก.ค. 2565 หรือจ่ายเงินสมทบลดลงจาก 432 บาทต่อเดือน เหลือ 91 บาทต่อเดือน 
  • ผู้ประกันตนในมาตรา 40 จำนวน 10.7 ล้านคน ลดเงินนำส่งเหลือ 42 – 180 บาทต่อเดือน
  • ผู้ใช้ก๊าซหุงต้มที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 3.6 ล้านคน ได้รับการเพิ่มวงเงินช่วยเหลือค่าก๊าซหุงต้มเป็น 100 บาท/ 3 เดือน เป็นเวลา 3 เดือน
  • ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 5,500 คน ได้รับส่วนลดซื้อก๊าซหุงต้มเดือนละ 100 บาท เป็นเวลา 3 เดือน
  • ผู้ใช้ก๊าซ NGV ทั่วไป 3.18 แสนคน โดยตรึงราคาขายปลีก NGV ที่ 15.59 บาท/กก. เป็นเวลา 3 เดือน
  • ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง 1.57 แสนคน ได้รับส่วนลดค่าน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 5 บาท/ลิตร จำนวน 50 ลิตร หรือ 250 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 3 เดือน
  • ผู้ขับรถแท็กซี่ที่อยู่ในโครงการลมหายใจเดียวกัน ได้ซื้อก๊าซในราคา 13.62 บาท/กก. ในวงเงิน 10,000 บาท/เดือน เป็นเวลา 3 เดือน

 

มาตรการลดค่าครองชีพของรัฐบาล รอบเดิมที่ผ่านการเห็นชอบแล้ว