จากกรณีสมาคมรักษ์ทะเลไทย และสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย เรียกร้องให้ภาครัฐเร่งรัดกระบวนการคุ้มครองสัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อน และขนาดเล็ก เพื่อแก้วิกฤติทรัพยากรประมง ใช้มาตรการ 57 ตาม พ.ร.ก.การประมง 2558 นั้น นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง ชี้แจงว่า การปฏิบัติการควบคุมการทำประมง
โดยการใช้กฎหมายนั้น จะต้องสามารถทำได้ทั้งผู้ที่กฎหมายบังคับ และเจ้าหน้าที่จะต้องทำหน้าที่ควบคุมให้เป็นไปตามแนวทางนั้นด้วย ซึ่งกรมประมงจะเร่งดำเนินการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย และสมาคมสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย รวมถึงผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อให้ได้แนวทางในการกำหนดมาตรการที่เป็นที่ยอมรับ ของผู้เกี่ยวข้องต่อไป โดยหลังจากนี้ขอความร่วมมือให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว
ขณะที่นายสะมะแอ เจะมูดอ นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ในเรื่องดังกล่าวนี้อยูที่กระทรวง กับกรมประมง ที่จะเอาข้อมูลทางวิชาการมาบังคับใช้ ไม่ใช่กลับมาถามชาวประมงอีก ไม่ใช่แล้ว เลยขั้นตอนมาแล้ว ไม่ใช่จะต้องกลับมาหารือนับหนึ่งใหม่ มองว่าเป็นเทคนิคของหน่วยงานรัฐ พอมีการเจรจา ก็ต้องย้อนกลับมาถามชาวบ้านใหม่
"ที่ผ่านมาทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็ไม่ได้สนใจอะไรเลย โดยเฉพาะอำนาจของรัฐมนตรีว่าการที่มีอำนาจสูงสุดจะต้องเซ็นลงนาม กฎหมายออกมาแล้ว ติดอยู่แค่รัฐมนตรีให้ประกาศกำหนด เซ็นลงนามเท่านั้นก็มีผลบังคับใช้ทันที แล้วนำข้อมูลทางวิชาการมาประกอบ แล้วหากมาพูดคุยกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่จบไม่สุดสิ้น แต่ถ้าใช้ข้อมูลทางวิชาการมากำหนดเป็นนโยบายรัฐเลย"
“ความจริงมีการกำหนดออกมาเรียบร้อยแล้ว มีการกำหนด ปลา 2 ชนิด ก็คือ “ปลาทู” กับ “ปลารัง” เพราะตัวเล็กมาก ไม่สามารถแยกได้ปลา 2 ชนิดนี้ มีขนาดไม่เกิน 14 เซนติเมตร สามารถสืบพันธุ์ได้แล้ว แต่ถ้าต่ำกว่า ไม่สามารถสืบพันธุ์ได้ อีก 2 ตัวก็คือ “ปูทะเล” กับ “ปูม้า” ก็อยากให้ประกาศมาเลย โดยเฉพาะ "ปูม้า" "
นายสะมะแอร์ กล่าวว่า ถึงแม้จะมีธนาคารปู ตามชายฝั่ง พอปล่อยลูกปู แล้วให้ชาวประมงไปจับ ก็ไม่ใช่ เป็นส่วนหนึ่งที่จะต้องกำหนด ส่วนปูทะเล ยังไม่จำเป็นอยู่ตามแนวชายฝั่งปะการัง ให้นำร่อง สัตว์น้ำ 3 ชนิด ประกาศ ก่อน ได้แก่ ปลาทู ปลารัง และ ปูม้า นำร่องก่อน ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวมายืดเยื้อมา 2 ปีแล้ว ก็ไม่เข้าใจว่าหน่วยงานรัฐจะย้อนกลับมาถามทำไมอีก”
ด้านนายประเสริฐ แตกช่อ นายกสมาคมประมงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า กลุ่มคนที่มายื่นโดยอ้างว่าเป็นตัวแทนประมงพื้นบ้าน ให้ประกาศใช้ มาตรา 57 ตาม พ.ร.ก.การประมงฯ ไม่ได้มีอาชีพทำประมง แล้วถ้ากฎหมายบังคับใช้จริง ประมงตายเรียบ ดังนั้นในเรื่องดังกล่าวค้านหัวชนฝา แน่นอนและในวันที่ 22 มิถุนายน เวลา 12.00-17.00 น. จัดประชุมปรึกษาหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางช่วยแก้ปัญหาต่อไป
ขณะที่ นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาของชาวประมง ทางสำนักนายกรัฐมนตรี แจ้งว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้เข้าพบ ในวันศุกร์ที่ 17 มิถุนายน 2565 เวลา 13.30 น. ณ ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ซึ่งมีประเด็นหารือ อาทิเช่น เรื่องข้อกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของการประกอบอาชีพ เรื่องการนำเรือออกนอกระบบ และปัญหาด้านแรงงาน ล่าสุด บทสรุปนโยบาย มูลนิธิ EJF แนะไทย ลดกองเรืออวนลาก ซึ่งเป็นมหันตภัยใต้ทะเล โดยให้ลดกองเรือ จะนำเรื่องดังกล่าวนี้ไปขี้แจง เนื่องจากข้อมูลจะคลาดเคลื่อนขัดความเป็นจริง เป็นต้น
ด้าน นายบรรจง นะแส ที่ปรึกษาสมาคมรักษ์ทะเลไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ตอนพี่น้องประมงพื้นบ้านเดินทางรอนแรมมาทางเรือ ขอไปยื่นหนังสือ/ให้ข้อมูล ให้ยืนตากแดดตากลมยื่นริมรั้ว….แต่พอประมงพาณิชย์จะมายื่นหนังสือ ตอบรับ/เชิญให้เข้าพบได้ถึงในทำเนียบ…ท่านนายกรัฐมนตรีสั่งหรือทีมงานชง งานนี้จะตามดูกันต่อไป