วันที่ 14 มิถุนายน 2565 นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการทุจริตในสหกรณ์ ครั้งที่ 1/2565 โดยมี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้เกียรติมอบแนวทางในการปฏิบัติงาน และ นายโอภาส ทองยงค์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายกมลสิษฐ์ วงศ์บุตรน้อย ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)
พล.ต.ต.วิวัฒน์ ชัยสังฆะ รองผู้บังคับบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ ผู้อำนวยการกองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) นายฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์ ประธานที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นางบริสุทธิ์ เปรมประพันธ์ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม 109 อาคารสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล
นางสาวมนัญญา เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากปัญหาการทุจริตในสหกรณ์ที่เกิดขึ้น ก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบสหกรณ์และสมาชิกสหกรณ์โดยรวมเป็นวงกว้าง ส่งผลให้สหกรณ์ขาดสภาพคล่องทางการเงินและสมาชิกสหกรณ์ไม่สามารถเบิกถอนเงินฝากหรือกู้ยืมหรือดำเนินธุรกิจกับสหกรณ์ได้ตามปกติ ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการแก้ไขปัญหาการทุจริตในสหกรณ์เป็นไปอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพและเป็นระบบอาศัยอำนาจตามความมาตรา 11 (6) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการทุจริตในสหกรณ์ ลงวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2565
โดยมี นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นรองประธาน และมีกรรมการประกอบด้วย เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และมีอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นกรรมการและเลขานุการ
รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ที่กํากับดูแลกองพัฒนาสหกรณ์ด้านการเงินและร้านค้า เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ มีอำนาจและหน้าที่ดําเนินการเข้าตรวจสอบการทุจริตในสหกรณ์ ตรวจสอบ เร่งรัด ติดตาม การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากการทุจริตในสหกรณ์ รวมทั้งให้คําแนะนําหรือข้อเสนอแนะแก่กรมส่งเสริมสหกรณ์ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาการทุจริตในสหกรณ์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนแต่งตั้งคณะทํางานหรือมอบหมายเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติหน้าที่หรือดําเนินการตามที่คณะกรรมการมอบหมายได้ตามความจําเป็นและเหมาะสม
ทั้งนี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้แนวทางการปฏิบัติงาน ว่า รัฐบาลนำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ จึงระดมกลไกของรัฐหลายฝ่ายมาร่วมบูรณาการทำงานกัน ใช้อำนาจตามกฎหมาย เพื่อเร่งรัดติดตามติดตามเอาทรัพย์คืนให้กับผู้เสียหาย และดำเนินคดีจากผู้กระทำผิดให้เร็วที่สุด และเชื่อว่าคณะกรรมการฯ ชุดนี้มีขั้นตอน กระบวนการตรวจสอบได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตามหากจำเป็นต้องมีคณะทำงานใดๆ หรือหน่วยงานใดเพิ่มเติม ก็พร้อมให้การสนับสนุน อาทิ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ปปท.) หรือสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นต้น เพื่อขับเคลื่อนงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมครั้งแรก ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำและฝากความเป็นห่วงในเรื่องการทุจริตสหกรณ์ทุกครั้ง จะทำอย่างไรให้เกิดความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมา และจะรายงานความคืบหน้าให้นายกฯ ทราบอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะบูรณาการร่วมกันแก้ไขและสิ่งสำคัญคือต้องป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ขึ้นอีก ในส่วนของตนมีความเป็นห่วงในเรื่องของการยึดทรัพย์ เนื่องจากที่ผ่านมามีทรัพย์สินที่ยึดได้แต่คงค้างไว้เป็นเวลานาน จะทำอย่างไรกับทรัพย์สินนั้นได้บ้าง ก่อนปล่อยให้มีสภาพเสื่อมโทรม จึงได้เน้นย้ำเรื่องการยึดทรัพย์สินมาถ่ายทอดตลาด เพื่อนำเงินมาคืนให้กับผู้เสียหายให้ได้รับประโยชน์อย่างสูงสุด” รมช.มนัญญา กล่าว
สำหรับการแก้ไขข้อบกพร่องของสหกรณ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้รายงานสรุปข้อบกพร่องการทุจริต แยกตามประเภทสหกรณ์ 7 ประเภท ข้อมูล ณ วันที่ 1 มิถุนายน 2565 มีจํานวน 252 แห่ง 365 รายการ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวม 23,005,542,343 บาท และได้รับการชดใช้ไปแล้ว ปัจจุบันมีมูลค่าคงเหลือ 18,637,390,907 บาท แบ่งเป็นประเภทสหกรณ์ ดังนี้
1. สหกรณ์การเกษตร 140 แห่ง 218 รายการ มูลค่าความเสียหาย 1,964 ล้านบาท ปัจจุบันได้รับการชดใช้คงเหลือมูลค่าความเสียหาย 1,822 ล้านบาท 2. สหกรณ์ประมง 2 แห่ง 2 รายการ มูลค่าความเสียหาย 3.9 ล้านบาท ปัจจุบันได้รับการชดใช้ คงเหลือมูลค่าความเสียหาย 3.7 ล้านบาท 3. สหกรณ์นิคม 6 แห่ง 8 รายการ มูลค่าความเสียหาย 123 ล้านบาท ปัจจุบันได้รับการชดใช้ คงเหลือมูลค่าความเสียหาย 99 ล้านบาท
4. สหกรณ์บริการ 23 แห่ง 28 รายการ มูลค่าความเสียหาย 79 ล้านบาท ปัจจุบันได้รับการชดใช้ คงเหลือมูลค่าความเสียหาย 73 ล้านบาท 5. สหกรณ์ร้านค้า 4 แห่ง 4 รายการ มูลค่าความเสียหาย 8.7 ล้านบาท ปัจจุบันได้รับการชดใช้ คงเหลือมูลค่าความเสียหาย 3.3 ล้านบาท 6. สหกรณ์ออมทรัพย์ 40 แห่ง 54 รายการ มูลค่าความเสียหาย 3,510 ล้านบาท ปัจจุบันได้รับการชดใช้ คงเหลือมูลค่าความเสียหาย 3,300 ล้านบาท และ 7. สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน 37 แห่ง 42 รายการ มูลค่าความเสียหาย 17,314 ล้านบาท ปัจจุบันได้รับการชดใช้ คงเหลือมูลค่าความเสียหาย 13,333 ล้านบาท
“คณะกรรมการฯ จะมีการอัพเดตและรายงานความคืบหน้าเดือนละ 2 ครั้ง ขอยืนยันว่าทุกหน่วยงานทำงานอย่างเต็มความสามารถ และจะเร่งชดใช้ความเสียหายให้กับสมาชิก สำหรับความคืบหน้าสหกรณ์ออมทรัพย์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำกัด พบความเสียหายมูลค่า 600 กว่าล้านบาท ขณะนี้ ยึดทรัพย์มาได้เกือบ 300 ล้านบาทแล้ว ซึ่งขั้นตอนหลังจากนี้ จะติดตามยึดทรัพย์ ดำเนินคดีตามกฎหมาย และเตรียมตั้งชุดประนอมหนี้ต่อไป” รมช.มนัญญา กล่าว
นอกจากนี้ เพื่อให้การดำเนินการแก้ไขปัญหาการทุจริตในสหกรณ์ ในส่วนของการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริง ปกป้องผลประโยชน์ของสหกรณ์ได้ทันท่วงที รวมถึงในส่วนของการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับข้อบกพร่อง ตรวจสอบกรณีทุจริตสหกรณ์ ตลอดจนในส่วนของการพิจารณาระเบียบข้อบังคับและการปรับปรุงระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการตรวจสอบงบการเงิน กรรมการและผู้บริหารสหกรณ์ เป็นไปอย่างรวดเร็ว ที่ประชุมจึงมีมติเห็นชอบร่างคำสั่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่งตั้ง 3 คณะทํางาน เพื่อปฏิบัติงานให้เป็นไปตามคําสั่งสํานักนายกรัฐมนตรี ที่ 101/2565 สั่ง ณ วันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 ได้แก่
1. แต่งตั้งคณะทํางานสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริง กรณีการทุจริตในสหกรณ์ มีอำนาจหน้าที่ สืบสวนสอบสวนการทุจริตในสหกรณ์ เรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงข้อเท็จจริงหรือให้ส่งเอกสารที่เกี่ยวข้อง รวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมด และสรุปผลการสืบสวนสอบสวนเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
2. แต่งตั้งคณะทํางานรวบรวมและตรวจสอบกรณีทุจริตของสหกรณ์ มีอำนาจและหน้าที่ ศึกษา วิเคราะห์ มูลเหตุของการเกิดทุจริตในสหกรณ์ ปัญหาอุปสรรคที่ทําให้การแก้ไขปัญหาการทุจริตเกิดความล่าช้า ตลอดจนสถานการณ์ดําเนินการแก้ไขปัญหาของผู้เกี่ยวข้องต่างๆ และรายงานต่อคณะกรรมการฯ รวมทั้งพิจารณาเสนอแนวทางการตรวจสอบ พร้อมทั้งมาตรการป้องกันการทุจริตในสหกรณ์ และแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
3. แต่งตั้งคณะทํางานปรับปรุงระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการตรวจสอบงบการเงิน กรรมการและผู้บริหารสหกรณ์ มีอำนาจและหน้าที่ศึกษาวิเคราะข้อมูลข้อบังคับ และระเบียบที่เกี่ยวกับการเงินการบัญชีสหกรณ์ ปรับปรุงแก้ไขข้อบังคับและระเบียบเสนอนายทะเบียนสหกรณ์ โดยคณะทำงานดังกล่าวจะตั้งอยู่ที่ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการทุจริตในสหกรณ์ ชั้น 2 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์