นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่างานแสดงสินค้าอาหาร THAIFEX – ANUGA ASIA 2022 ที่ผ่านมาช่วยสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการสินค้าเกษตรและอาหารของไทย โดยในส่วนของสินค้ากาแฟ กระทรวงพาณิชย์ได้เลือกเฟ้นผู้ประกอบการที่มีศักยภาพมาเข้าร่วมแสดงสินค้า
ซึ่งได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี มีคู่ค้าทั้งจากไทยและต่างประเทศขอจับคู่ธุรกิจเป็นจำนวนมาก เช่น กลุ่มวิสาหกิจชุมชนโขงเข้มนครหงส์ มีนักธุรกิจจากสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และอินเดีย ให้ความสนใจเมล็ดกาแฟคั่ว โดยเฉพาะเมล็ดโรบัสต้า ส่วน Hillkoff มีคู่ค้าจากอินเดียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ต้องการนำเข้าเช่นกัน ขณะที่กาแฟจินตนามณีพฤกษ์ มีนักธุรกิจไทยต้องการติดต่อขอซื้อแฟรนไชส์ เป็นต้น
ไม่ว่าจะเป็นCoffee Bean Roasting Hillkoff กาแฟขุนช่างเคี่ยน กาแฟจินตนามณีพฤกษ์ เฮือนฮังต่อ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟบ้านถ้ำสิงห์ The Coffeenery กาแฟเฉยเลย กาแฟลองเลย กลุ่มวิสาหกิจชุมชนโขงเข้มนครหงส์ และร้าน Chewin Coffee เป็นการขยายโอกาสทางธุรกิจให้ผู้ประกอบการ รวมถึงเพื่อประชาสัมพันธ์ให้กาแฟไทยเป็นที่รู้จักในตลาดโลก
ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์ ให้ความสำคัญกับการยกระดับสินค้ากาแฟอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความพร้อมตลอดห่วงโซ่การผลิตในอุตสาหกรรม ซึ่งกรมฯ เชื่อมั่นว่าการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์กาแฟรูปแบบใหม่และพัฒนาคุณภาพให้มีมาตรฐาน จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันในตลาดพรีเมียมของต่างประเทศได้ ขณะที่เอฟทีเอจะช่วยสร้างแต้มต่อให้สามารถเข้าถึงตลาดได้โดยมีต้นทุนที่ต่ำลง
ทั้งนี้ กาแฟไทยนับว่ามีนวัตกรรมการผลิตที่ทันสมัย รสชาติโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ โดยในช่วงไตรมาสแรก (ม.ค. – มี.ค. 2565) ไทยส่งออกกาแฟสำเร็จรูป มูลค่า 27.07 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 10.85% จากปีก่อนหน้า ขณะที่การส่งออกเมล็ดกาแฟดิบ มีมูลค่า 0.14 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 36.36% และส่งออกเมล็ดกาแฟคั่ว มูลค่า 0.24 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 25% ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ สปป.ลาว กัมพูชา เมียนมา ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และแคนาดา
สำหรับการนำเข้า ไทยนำเข้าเมล็ดกาแฟคั่ว มูลค่า 4.79 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 11.14% นำเข้าเมล็ดกาแฟดิบ มูลค่า 0.84 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 29.41% และนำเข้ากาแฟสำเร็จรูป มูลค่า 32.22 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 3.56% แหล่งนำเข้าสำคัญของไทย ได้แก่ เวียดนาม สปป.ลาว อินโดนีเซีย มาเลเซีย สหรัฐฯ และสวิตเซอร์แลนด์