สถาบัน International Institute for Management Development หรือ IMD สวิตเซอร์แลนด์ ประกาศผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ประจำปี 2565 โดยผลกระทบสะสมจากโควิด-19 ส่งผลให้ปีนี้ประเทศไทยมีอันดับลดลงถึง 5 อันดับมาอยู่ในอันดับที่ 33 จาก 63 เขตเศรษฐกิจ โดยมีอันดับลดลงในทุกปัจจัยชี้วัด และปัจจัยด้านเศรษฐกิจได้รับผลกระทบมากที่สุด
ทั้งนี้ในภาพรวม ปี 2565 ไทยมีอันดับความสามารถในการแข่งขันอยู่ที่อันดับ 33 จาก 63 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก ปรับลดลง 5 อันดับจากอันดับที่ 28 ในปีที่แล้ว โดยมีผลคะแนนสุทธิลดลงจาก 72.52 มาอยู่ที่ 68.67 ซึ่งต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยของ 63 เขตเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นจาก 63.99 ในปี 2564 มาอยู่ที่ 70.03 ในปีนี้
เมื่อพิจารณาปัจจัย 4 ด้านที่ใช้ในการจัดอันดับ ไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันลดลงจากปีที่แล้ว ในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็น สมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance) ประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency) ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency) และโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure)
ด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ มีอันดับที่ลดลงมากที่สุดถึง13 อันดับ ตามมาด้วย ด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ ลดลง 11 อันดับ ด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ ลดลง 9 อันดับ และด้านโครงสร้างพื้นฐาน ลดลง 1 อันดับ
ประเด็นสำคัญในแต่ละด้าน มีดังนี้
ด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ
ภาพรวมอันดับลดลงจากปี 2564 ถึง 13 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 34 ในปี 2565 สาเหตุหลักจากปัจจัยย่อยการค้าระหว่างประเทศ ที่ไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ในปี 2564 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบ 16 ปี จากผลกระทบของการระบาดของไวรัสโควิด 19 จนมีผลสืบเนื่องไปถึงภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ (Domestic economy)
ด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ
ภาพรวมอันดับลดลงจากปี 2564 ถึง 11 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 31 ในปี 2565 สาเหตุหลักจากปัจจัยย่อยการคลังภาครัฐ จากการขาดดุลงบประมาณของภาครัฐ เพื่อประคองเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวจากพิษโควิด 19 และหนี้สาธารณะของไทยที่เพิ่มสูงขึ้น
ด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ
ภาพรวมอันดับลดลงจากปี 2564 ถึง 9 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 30 ในปี 2565 สาเหตุหลักจากปัจจัยย่อยผลิตภาพและประสิทธิภาพ ที่ไทยยังคงมีขีดความสามารถในการแข่งขันน้อยทั้งภาพรวม (อันดับ 47) และในทุกภาคเศรษฐกิจ รวมถึงประเด็นกำลังแรงงานไทยที่มีอัตราการเติบโตลดลง เนื่องจากไทยได้เข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ (Ageing Society) อย่างแท้จริง ซึ่งส่งผลต่อตลาดแรงงานทั้งปัจจุบันและอนาคต
ด้านโครงสร้างพื้นฐาน
มีอันดับลดลงจากปี 2564 เล็กน้อย 1 อันดับ โดยไทยยังคงมีอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในด้านนี้ อยู่ในอันดับค่อนข้างต่ำคืออันดับที่ 44 ถึงแม้จะมีอันดับดีขึ้นในหลายปัจจัยย่อย แต่ปัจจัยย่อยสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมมีอันดับต่ำลง 2 อันดับ
นายธีรนันท์ ศรีหงส์ ประธานศูนย์เพื่อการพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) กล่าวว่า ผลการจัดอันดับในปีนี้ สะท้อนให้เห็นถึงโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศที่เปราะบาง มีการพึ่งพิงปัจจัยภายนอกและต่างประเทศมากเกินไป รวมถึงผลิตภาพการผลิตของประเทศอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ขาดความสามารถในการแข่งขันในโลกยุคใหม่
นอกจากนั้นอันดับด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ ที่ลดลง 11 อันดับ ยังสะท้อนถึงการลดลงของความเชื่อมั่นในนโยบายการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของภาครัฐ รวมถึงความสามารถในการปรับบทบาทของภาครัฐในการเป็นผู้สนับสนุนภาคประชาชนและภาคเศรษฐกิจให้มีความเข้มแข็ง
ดังนั้น ความสามารถในการปรับตัว เป็นประเด็นที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในยุคต่อจากนี้ที่ทุกอย่างมีความผันผวนเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งภาครัฐและเอกชนของไทยมีความจำเป็นต้องพัฒนาทั้งในระดับองค์กรให้มีโครงสร้างและกลไกการทำงานที่มีความยืดหยุ่นปรับตัวได้ง่ายและในระดับบุคลากรที่เปิดกว้างพร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่และมีวิธีคิดที่ก้าวทันโลก
ขณะเดียวกันต้องเสริมสร้างปัจจัยพื้นฐานให้มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคเศรษฐกิจที่เป็นเสาหลักของประเทศ และการมีกฎระเบียบนโยบายที่ทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่และสนับสนุนให้ภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล
อย่างไรก็ตามหากพิจารณาในระดับอาเซียน IMD มีการจัดอันดับเขตเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้รวม 5 เขตเศรษฐกิจ โดยสิงคโปร์ยังคงเป็นผู้นำโดยมีอันดับดีขึ้น 2 อันดับจากอันดับที่ 5 ใน 2564 มาเป็นอันดับที่ 3 ปีนี้
ขณะที่มาเลเซียมีอันดับลดลงจากอันดับที่ 25 มาเป็นอันดับที่ 32 ในปีนี้ และอินโดนีเซีย มีอันดับที่ลดลงจากอันดับที่ 37 เป็นอันดับที่ 44 ส่วนฟิลิปปินส์มีอันดับดีขึ้นจากอันดับที่ 52 เป็นอันดับที่ 48 ในปีนี้
ขณะเดียวกันเมื่อมองภาพรวมในระดับโลก เขตเศรษฐกิจที่มีอันดับความสามารถในการแข่งขันสูงที่สุด 5 อันดับแรกในปี 2565 ได้แก่ อันดับ 1 เดนมาร์ก อันดับ 2 สวิตเซอร์แลนด์ อันดับ 3 สิงคโปร์ อันดับ 4 สวีเดน และอันดับ 5 ฮ่องกง
IMD พบว่าเขตเศรษฐกิจที่อยู่อันดับต้น ๆ ของโลกในปีนี้เป็นเขตเศรษฐกิจขนาดเล็ก ที่มีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีดิจิทัล มีนโยบายสนับสนุนที่ดี มีความชัดเจนในการส่งเสริมด้านความยั่งยืน มีภาคธุรกิจที่มีศักยภาพในการปรับตัวสูง รวมถึงประสิทธิภาพของภาครัฐ ที่แข็งแกร่ง ทำให้เขตเศรษฐกิจเหล่านี้มีความสามารถในการปรับตัวในช่วงเวลาแห่งความไม่แน่นอนทั้งจากผลกระทบของความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ และการระบาดของไวรัสโควิด 19 ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา