รัฐเคาะมาตรการรีดค่าการกลั่นน้ำมัน ช่วยลดราคาหน้าปั๊ม

16 มิ.ย. 2565 | 12:23 น.
อัปเดตล่าสุด :16 มิ.ย. 2565 | 21:27 น.

รัฐบาลเคาะมาตรการลดค่าครองชีพ พร้อมรีดค่าการกลั่นน้ำมัน จากโรงกลั่นเอาไปใช้ตรึงส่วนไหน ทั้งอุดหนุนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง หรือเอาไปช่วยลดราคาหน้าปั๊มได้ลิตรละกี่บาท เช็ครายละเอียดได้ที่นี่ครบจบ

มาตรการลดค่าครองชีพ และแนวทางการช่วยเหลือประชาชนจากภาวะน้ำมันแพง ได้ข้อสรุปเรียบร้อย หลังจากนายกรัฐมนตรี หารือร่วมกับทีมเศรษฐกิจรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นานกว่า 1 ชั่วโมง โดยหนึ่งในมาตรการสำคัญ คือ การเรียกเก็บกำไรส่วนหนึ่งจากค่าการกลั่นน้ำมัน จากโรงกลั่นน้ำมันในประเทศ

 

เรื่องนี้ นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมกับนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน แถลงภายหลังการประชุมว่า การเรียกเก็บกำไรส่วนหนึ่งจากค่าการกลั่นน้ำมัน เป็นแนวทางหนึ่งที่งกระทรวงพลังงานมีอำนาจดำเนินการได้ตามกฎหมาย

 

สาระสำคัญของการดำเนินมาตรการ มีด้วยกันดังนี้

 

1.ขอความร่วมมือผู้ค้าน้ำมันคงค่าการตลาดอยู่ที่ 1.4 บาทต่อลิตร 

 

2.ขอความร่วมมือโรงกลั่นน้ำมันในการขอให้นำส่งกำไรส่วนต่างที่เกิดจากการกลั่นน้ำมัน เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม - กันยายน 2565 คาดว่าจะเก็บเงินเข้ากองทุนได้ประมาณเดือนละ 6,000 - 7,000 ล้านบาท แยกเป็น 

  • กลุ่มน้ำมันดีเซล จะนำเงินกำไรส่วนต่างที่เก็บได้ ประมาณเดือนละ 5,000 - 6,000 ล้านบาท จะขอความร่วมมือให้ส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับกองทุน 
  • กลุ่มน้ำมันเบนซิน จะนำเงินกำไรส่วนต่างที่เก็บได้ ประมาณเดือนละ 1,000 ล้านบาท มาลดราคาให้ผู้ใช้น้ำมันเบนซินในทันที คาดว่าจะสามารถลดราคาน้ำมันเบนซินหน้าปั๊มได้ประมาณลิตรละ 1 บาท 

 

3.ขอความร่วมมือโรงแยกก๊าซที่มีต้นทุน LPG ที่จำหน่ายเป็นวัตถุดิบในภาคปิโตรเคมี ซึ่งมีกำไรส่วนเกิน ซึ่งจะดึงเงินกำไรส่วนเกินออกมา 50% เข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง คาดว่าจะได้เงินเข้ากองทุนอีกเดือนละ 1,500 ล้านบาท

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

  • คาดว่าจะสามารถเก็บเงินได้รวมทั้งหมดประมาณ 7,500 – 8,000 ล้านบาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือน ก.ค. – ก.ย.2565 หรือวงเงินรวมสูงสุดตลอด 3 เดือนกว่า ประมาณ 2.4 หมื่นล้านบาท 

 

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า มาตรการนี้เป็นการขอความร่วมมือจากภาคเอกชนทั้งในส่วนของผู้ประกอบการในประเทศและต่างประเทศ โดยได้รับความร่วมมืออย่างดี และไม่ต้องมีการออกกฎกระทรวง หรือประกาศกระทรวงแต่อย่างไร 

ส่วนมาตรการอื่น ๆ ที่ผ่านการพิจารณาในวันนี้ ยังมีการต่ออายุมาตรการลดค่าครองชีพเดิมที่สิ้นสุดอายุ เบื้องต้นมีด้วยกัน ดังนี้

  • การตรึงราคาค่าก๊าซ NGV สำหรับแท็กซี่ 
  • การให้ส่วนลดซื้อก๊าซหุงต้ม เดือนละ 100 บาท สำหรับผู้ค้าหาบเร่ แผงลอย ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 
  • การให้ความช่วยเหลือค่าน้ำมันให้กับผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมการขนส่งทางบก
  • การให้ส่วนลดค่า FT ครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 300 หน่วย (กำลังพิจารณา)

 

มาตรการลดค่าครองชีพ และมาตรการในการช่วยเหลือราคาน้ำมันแพง

 

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า มาตรการต่าง ๆ จะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ ภายในสัปดาห์หน้า เพื่อให้มีผลบังคับใช้ก่อนมาตรการเดิมหมดอายุ โดยมาตรการทั้งหมดจะไม่ได้ใช้เงินจาก พ.ร.ก.กู้เงิน แต่จะใช้งบกลางฯ ไปดำเนินมาตรการ