“ดารุมะ ซูชิ” อ่วม สคบ. ชง DSI เป็นคดีพิเศษ เช็คเส้นทางธุรกิจ-การเงิน

20 มิ.ย. 2565 | 09:00 น.
อัปเดตล่าสุด :20 มิ.ย. 2565 | 17:59 น.

ร้านดารุมะ ซูชิ บุฟเฟ่ต์แซลมอนชื่อดัง เตรียมเจอฟันอ่วม หลัง สคบ. ลงพื้นที่ตรวจสอบบริษัทไร้เงาผู้บริหาร ลุยถก DSI ประสานเป็นคดีพิเศษ หลังเข้าข่ายผู้เสียหาย และวงเงินเข้าเกณฑ์ ไล่เช็คเส้นทางการทำธุรกิจ การเงิน พร้อมประสานแบงก์ตรวจธุรกรรมการเงิน

จากกรณี ร้านดารุมะ ซูชิ (Daruma Sushi) บุฟเฟ่ต์แซลมอนชื่อดัง ได้เปิดขายวอยเชอร์ (e-Voucher) บุฟเฟ่ต์ในราคาหัวละ 199 บาท จนคนแห่เข้าไปจองซื้อจำนวนมาก แต่สุดท้ายผู้ที่จองคิวเอาไว้ไปใช้บริการไม่ได้ จนล่าสุดมีผู้เสียหายไปร้องเรียนกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และสคบ.ได้ยกทีมลงพื้นที่ตรวจสอบไปแล้วนั้น 

 

ล่าสุด พ.ต.อ.ประทีป เจริญกัลป์ รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า หลังจากได้ลงพื้นที่ตรวจสอบร้านดารุมะ ซูชิ และ บริษัท ดารุมะ ซูชิ จำกัด ณ ห้างสรรพสินค้าเดอะแจส รามอินทรา แต่กลับพบว่าบริษัทดังกล่าวได้ปิดเงียบไม่มีใครอยู่ จากนั้น จึงได้เดินทางมาหารือกับกระทรวงยุติธรรม และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เพื่อเร่งหาแนวทางช่วยเหลือผู้บริโภคต่อไป

 

“จากการหารือร่วมกัน สคบ.จะประสานและส่งข้อมูลรายละเอียดต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับกรณีนี้ให้กับ DSI ร่วมกันตรวจสอบตามอำนาจหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน เช่น สคบ.ดูเรื่อง กฎหมายสัญญา โฆษณา และขายตรง ขณะที่ DSI จะช่วยเรื่องของคดีพิเศษ โดยในการดำเนินการดังกล่าวได้แจ้งให้เลขาธิการ สคบ.รับทราบ และรายงานไปยังนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รับทราบแล้ว” พ.ต.อ.ประทีป กล่าว

 

อย่างไรก็ตามในการประชุมคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งมีนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน วันที่ 21 มิถุนายน 2565 นี้ สคบ.จะรายงานเรื่องนี้ให้กับที่ประชุมรับทราบการดำเนินการทั้งหมดและคงต้องรอฟังนโยบายจากรัฐมนตรีก่อนว่าจะมอบหมายเรื่องอะไรเพิ่มเติม

นายจิติภัทร์ บุญสม ผู้อำนวยการกองคุ้มครองผู้บริโภคด้านโฆษณา สคบ. อธิบายกับ "ฐานเศรษฐกิจ" เพิ่มเติมว่า จากการหารือกับ DSI พบว่า ตามเกณฑ์ของ DSI เรื่องที่จะรับเป็นคดีพิเศษต้องมีผู้เสียหายมากกว่า 100 ราย และมีมูลค่าการเสียหายมากกว่า 10 ล้านบาท ซึ่งกรณีของร้านดารุมะ ซูชิ เข้าข่ายทั้งหมด เพราะ ล่าสุดในวันที่ 20 มิถุนายน 2565 มีผู้บริโภคร้องเรียนมากว่า 400 รายแล้ว และคิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 27 ล้านบาท และอาจจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

 

โดยจากการรายงานข้อมูลเบื้องต้นจากการสอบข้อเท็จจริงกับบริษัทผู้จัดทำแอปพลิเคชัน Daruma Sushi ซึ่งเป็นผู้ได้รับว่าจ้างให้ทำแอปพลิเคชัน และเปิดขาย e-Voucher บุฟเฟ่ต์แซลมอน พบว่า ตั้งแต่มีการเปิดขาย e-Voucher มาตั้งแต่ปีที่ก่อน ได้ขายไปแล้วเกือบ 6 แสนใบ ใช้ไปแล้วประมาณ 4 แสนใบ เหลือที่ยังไม่ได้ใช้ 1.29 แสนใบ คิดเป็นจำนวนผู้ถือ e-Voucher ประมาณ 3.3 หมื่นราย 

 

ส่วนการตรวจสอบข้อกฎหมายว่าจะเข้าข่ายฉ้อโกงประชาชน ซึ่งได้รับความเสียหายจากการเข้าไปซื้อ e-Voucher อย่างไรนั้น สคบ. จะมีการตรวจสอบรายละเอียดต่อไป เบื้องต้นจากหลักฐานทั้งหมดที่รวบรวมมาก็เข้าข่ายคดีอาญาฐานฉ้อโกง และหากเข้าข่ายคดีอาญาได้จริง กรณีนี้ถือว่าจะเป็นประโยชน์กับการเร่งรัดการดำเนินคดีได้เร็วกว่า การดำเนินคดีแพ่งเพื่อฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายด้วย

 

“ข้อมูลที่ DSI ร่วมมือเข้ามาตรวจสอบ และนำเข้าไปเป็นคดีพิเศษนั้น จะสอบทั้งข้อมูลธุรกิจ การเงิน ตามอำนาจของ DSI เอง ขณะเดียวกัน สคบ. ยังเตรียมทำหนังสือไปถึงสำนักงานใหญ่ธนาคารต่าง ๆ เพื่อขอตรวจสอบข้อมูลการทำธุรกรรมของเจ้าของร้านดารุมะ ซูชิ และยังประสานทางสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ดูว่ามีการเดินทางเข้าออกประเทศหรือไม่” นายจิติภัทร์ กล่าว

ทั้งนี้จากการตรวจสอบข้อมูลของบริษัท ดารุมะ ซูชิ จำกัด จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบข้อมูลดังนี้

 

บริษัท ดารุมะ ซูชิ จำกัด

  • ตั้งอยู่เลขที่ 87 โครงการ เดอะ แจส รามอินทรา ชั้นที่ 2 ห้อง เอ217 ถนนลาดปลาเค้า แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร
  • จดทะเบียนตั้งบริษัทวันที่ 12 ม.ค. 2559 (6 ปี 5 เดือน)
  • ดำเนินธุรกิจในกลุ่มธุรกิจการบริการด้านอาหารในภัตตาคาร/ร้านอาหาร
  • ทุนจดทะเบียนปัจจุบัน 5 ล้านบาท
  • มูลค่าบริษัท 6,374,148 บาท (127.48% ของทุน)
  • จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มร้านจำนวน 22 สาขา ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล

 

กรรมการ 

  • นายเมธา ชลิงสุข

 

ผู้ถือหุ้น

  • นายเมธา ชลิงสุข สัดส่วน 98.98% จำนวน 4,949 หุ้น มูลค่า 6,309,131 บาท 
  • นายเจษฎา รัตนนันท์ สัดส่วน 1% จำนวน 50 หุ้น มูลค่า 63,741 บาท
  • นายสมบูรณ์ คุณะวิภากร สัดส่วน 0.02% จำนวน 1 หุ้น มูลค่า 1,274 บาท

 

ทั้งนี้เมื่อตรวจสอบข้อมูลงบการเงินบริษัท ซึ่งนำส่งในปี 2564 พบข้อมูลสินทรัพย์รวมบริษัท รายได้ และผลประกอบการ รวม 5 ปี โดยบริษัท มีรายได้รวมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีหลัง มีรายได้รวมเกือบ 50 ล้านบาท และมีกำไรในช่วง 3 ปีหลังตกปีละ 1 ล้านบาท ดังรายละเอียดต่อไปนี้

 

สินทรัพย์รวม 

  • ปี 2560 มี 2.7 ล้านบาท
  • ปี 2561 มี 2.5 ล้านบาท
  • ปี 2562 มี 11.7 ล้านบาท
  • ปี 2563 มี 39.6 ล้านบาท
  • ปี 2564 มี 41.5 ล้านบาท

 

รายได้รวม 

  • ปี 2560 มี 26.4 ล้านบาท
  • ปี 2561 มี 27.3 ล้านบาท
  • ปี 2562 มี 39 ล้านบาท
  • ปี 2563 มี 43.7 ล้านบาท
  • ปี 2564 มี 45.6 ล้านบาท

 

ผลกระกอบการ 

  • ปี 2560 กำไร 674,204 บาท
  • ปี 2561 กำไร 698,721 บาท
  • ปี 2562 กำไร 1 ล้านบาท
  • ปี 2563 กำไร 1.7 ล้านบาท
  • ปี 2564 กำไร 1.2 ล้านบาท