ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงกลางเดือนมิ.ย.2565 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ธนาคารโลก(เวิล์ดแบงก์) นำโดยนาย Jeffrey John Delmon ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านโครงสร้างพื้นฐานและการร่วมทุนรัฐ-เอกชน นำคณะเจ้าหน้าที่ธนาคารโลก พร้อมด้วยผู้แทนองค์กรพันธมิตร ลงพื้นที่ต.กะรน อ.เมืองภูเก็ต เพื่อรับฟังแผนและแนวคิดการพัฒนาของผู้ประกอบการเชิงสังคม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อวิจัยประเมินแหล่งเงินทุนรูปแบบใหม่ ๆ สำหรับโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อพัฒนาเมืองหรือชุมชน
ช่วงเช้าได้มีการประชุมที่ห้องประชุมเทศบาลกะรน จากนั้นลงพื้นที่สำรวจพื้นที่ตำบลกะรน โดยมีเป้าหมายเพื่อทําให้เกิดเครื่องมือการระดมทุนรูปแบบใหม่ การพัฒนากองทุนเมืองที่เสริมสร้างการลงทุน รวมถึงแผนการลงทุน และการระดมทุนสาธารณะ ซึ่งจะเป็นกลไกสําคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเมือง เพื่อนําไปสู่การยกระดับท้องถิ่น การกระจาย ศูนย์กลางความเจริญ และลดช่องว่างความเหลื่อมลํ้าของประเทศ
โดยมีนายเรวัต สมบัติทอง ปลัดเทศบาลฯ นายวัลลภ นาดอน รองนายกเทศมนตรีฯ นายสนั่น รักดำ ผู้อำนวยการกองช่าง เทศบาลตำบลกะรน ต้อนรับและนำเสนอ การเตรียมพร้อมสู่การเป็นกะรนเวลเนสซิตี้ ศักยภาพและความพร้อมของวิสาหกิจชุมชน และภาคีเครือข่ายในพื้นที่ โดย ดร.วินัย ชิดเชี่ยว กำนันตำบลกะรน
จากนั้นได้มีการนำเสนอโครงการในพื้นที่ตำบลกะรน โดยนายก้าน ประชุมพรรณ์ ประธานกรรมการบริษัท อันดามันพัฒนาเมือง จำกัด และรองผู้อำนวยการศูนย์ประสานงาน การส่งเสริมสุขภาพอันดามัน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต นายรักเกียรติ ดีดพิณ นักผังเมืองชำนาญการ หัวหน้ากลุ่มงานสนับสนุนการพัฒนาเมือง สังกัดสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดภูเก็ต และนายธนภัทร อุทวราพงศ์ ประชาสัมพันธ์ สมาคมโรงแรมที่พักส่งเสริมสุขภาพอันดามันและอ่าวไทย
รวมทั้งการบรรยายหัวข้อ “สุขภาพ ศรัทธา ปัญญา สู่ Wellness Digital City” โดยนายธีร์ นันทวริศ ศิลปินดิจิทัล ผู้กำกับภาพยนตร์โฆษณานักคิดเชิงสร้างสรรค์
ช่วงบ่ายคณะได้เดินทางมาที่ศูนย์ประสานการส่งเสริมสุขภาพอันดามัน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต มีรศ.ดร.พันธ์ ทองชุมนุม รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต นำเสนอ โครงการศูนย์ส่งเสริมสุขภาพอันดามัน รศ.ดร.ชยานนท์ ภู่เจริญ รองคณบดีคณะการบริการและการท่องเที่ยว บรรยายเรื่อง เศรษฐกิจและศักยภาพการพัฒนาพื้นที่ของจังหวัดภูเก็ต และ ผศ.ดร.รัตนา เวทย์ประสิทธิ์ นักวิจัย นำเสนอศักยภาพการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพตำบลกะรน
ขณะที่ภาคีเครือข่ายระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสอันดามัน (Andaman Wellness Corridor-AWC) บรรยายแผนยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในพื้นที่อันดามัน พังงา และกระบี่ ตลอดจนโครงการเคเบิลคาร์สู่องค์พระใหญ่ เพื่อเป็นแลนด์มาร์คใหม่ภูเก็ต ซึ่งผู้เชี่ยวชาญธนาคารโลกให้ความสนใจ ว่าเป็นโครงการจุดประกายการพัฒนาเมือง ระบบขนส่งในจังหวัดภูเก็ต ความร่วมมือของ อบจ. ภูเก็ต และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ๆ เป็นต้น
การประชุมหารือการประเมินแหล่งเงินทุน สำหรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อพัฒนาเมืองในครั้งนี้ จะได้วิจัยแผนการลงทุน และการระดมทุนสาธารณะ ซึ่งจะเป็นกลไกสําคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเมือง เพื่อนําไปสู่การยกระดับท้องถิ่น การกระจายศูนย์กลางความเจริญ และลดช่องว่างความเหลื่อมลํ้าของประเทศไทยในอนาคต โดยมีเมืองเป้าหมายในการวิจัย ได้แก่ ภูเก็ต ระยอง เชียงใหม่ ขอนแก่น และนครสวรรค์
Dr. Jeffrey John Delmon ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านโครงสร้างพื้นฐานและการร่วมทุนรัฐ-เอกชน ธนาคารโลก กล่าวว่า การได้มาประชุมร่วมกับภาคีองค์กรเพื่อการพัฒนาเมืองภูเก็ตครั้งนี้ รู้สึกทึ่งที่ได้เห็นการเติบโตของเมือง ตลอดจนแผนงานและกลยุทธ์เบื้องหลังการเติบโต การวางแผนที่จะเปลี่ยนแปลงระบบขนส่งมวลชน ที่จะตอบสนองความต้องการในพื้นที่บางส่วน และยังขยายเส้นทางไปทั่วภูเก็ตอีกด้วย รู้สึกประทับใจ และภูเก็ตมีอะไรต้องทำอีกมาก
ด้านนายขวัญพัฒน์ สุทธิธรรมกิจ Country Officer ธนาคารโลก สํานักงานประเทศไทย กล่าวว่า ในฐานะคนไทย ภูเก็ตโชคดีเพราะมีคนจากหลายภาคส่วน มาร่วมกันคิดร่วมกันทำงาน โดยมีเป้าหมายร่วมกัน ที่จะพัฒนาเมืองภูเก็ตให้น่าอยู่ อยากให้คนภูเก็ตได้ประโยชน์สูงสุด จากโครงการลงทุนที่จะเป็นสิ่งที่เป็นรากฐานในการขับเคลื่อนกระบวนการพัฒนาที่เราเห็นในภูเก็ต
"น่าภาคภูมิใจกับคนภูเก็ตและประเทศไทยเรา ที่ได้กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนของธนาคารโลก มาร่วมลงพื้นที่ศึกษา และให้ความร่วมมือเพื่อสร้างความเข้มแข็งใหัภูเก็ตในครั้งนี้"
ขณะที่นายธีร์ นันทวริศ สถาปนิกและศิลปินดิจิตัล ผู้กำกับภาพยนตร์โฆษณา และนักคิดเชิงสร้างสรรค์ ที่มาร่วมประชุมในครั้งนี้ กล่าวว่า ดีใจมากกับสิ่งที่ได้ทำร่วมกัน เป็นพลังของคนกลุ่มหนึ่งที่จะทำให้เราชนะได้ทั้งโควิดและเศรษฐกิจ และจะชนะอย่างเด็ดขาดถ้ารองรับด้วยแนวคิด"สุขภาพ ศรัทธา ปัญญา"
เพราะโครงการ AWC จะทำให้เกิดเส้นทางใหม่เชื่อมโยงฝั่งอันดามันทั้งหมด ช่วยเปิดประตูการท่องเที่ยว โดยนำสิ่งดี ๆ ของไทย ออกไปสู่ทั่วโลก ซึ่งจะเราจะส่งสารนำคุณค่าศิลปะไทยออกไปในรูปแบบดิจิทัล เป็นการตอกย้ำศรัทธาในตัวเราเอง
"เราเอาความเป็นเราใส่พู่กันในโลกไซเบอร์แล้วระบายออกไป เอาความภูมิใจนั้นออกไปทั่วสากลโลก แล้วเราจะประสบความสำเร็จ ซึ่งจะเป็นธุรกิจที่เกิดขึ้นมากมาย ทั้งธุรกิจโฆษณา ธุรกิจการแสดง ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจอาหาร ธุรกิจทั้งหลายที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว
ขณะที่ รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ รักษาการผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรม โปรแกรมวิจัย 15 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ร่วมประชุมผ่านระบบ Zoom ว่า การมาประชุมที่ภูเก็ตเกือบเป็นเมืองแรก ๆ ของการวิจัยประเมินแหล่งเงินทุนสำหรับโครงการพัฒนาต่าง ๆ
เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลังโควิดที่เป็น New S-curve ตัวหนึ่งที่สำคัญคือ Wellness ที่เราหวังว่าจะเป็นประเด็นสำคัญ นำไปสู่การพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ ในลักษณะที่เป็นการ Redesigned Supply Chain ของระบบเศรษฐกิจใหม่
น่าดีใจคือเราเห็นการปรับบทบาทขององคาพยพต่าง ๆ ทั้งสถาบันการศึกษา ที่เป็นแหล่งองค์ความรู้ชุดต่าง ๆ เห็นภาคเอกชนของเมืองกลับมาวิเคราะห์ศักยภาพพื้นที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานภาคส่วนอื่น ๆ ที่ทำงานในเชิงฟังก์ชัน มาประกบกับงานเชิงพื้นที่หรือเชิงสาธารณะ
การประสานความร่วมมือที่เป็นการฟั่นเกลียวกันอย่างนี้เป็นนวัตกรรมที่เกิดขึ้น เป็นพลังสู่การขับเคลื่อนการพัฒนา แต่อย่างไรก็ตามสิ่งท้าทายในท้ายสุดคือ เงินทุนจะมาจากไหน
"หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่(บทพ.) โปรแกรม15 เราให้ความสำคัญกับกลไกเรื่องของทุน หรือเครื่องมือทางการเงินใหม่ เป็นอีกกลไกที่ช่วยสนับสนุนให้โครงการพัฒนาเกิดขึ้นได้จริง จึงสนับสนุนให้สถาบันการศึกษาต่าง ๆ ร่วมมือกัน โดยมีมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นแกนหลัก ประเสานภาคีเครือข่ายเพื่อร่วมเรียนรู้จากธนาคารโลก เข้ามาร่วมมือด้วย
คาดหวังว่าพลังของความร่วมมือตรงนี้ จะกระตุ้นให้เกิดการลงทุน ทำให้ทุกคนได้รับประโยชน์อย่างเสมอภาค เท่าเทียม เป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจให้เกิดการจ้างงาน โดยภาคการเงินและการลงทุน เป็นห่วงโซ่อุปทานหนึ่งของเศรษฐกิจการท่องเที่ยวใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ต่อไปในอนาคต
กำพล ฝอยทอง/รายงาน