กฟผ. เปิดสถานีไฟฟ้าแรงสูงภูเก็ต 3 เสริมพลังไฟให้เจิดจรัสสมเป็น "ไข่มุกแห่งอันดามัน" ต้อนรับเศรษฐกิจฟื้นตัว การท่องเที่ยวคึกคัก หลังโควิด-19 คลี่คลาย เดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบไฟฟ้า ช่วยเพิ่มความสามารถการส่งจ่าย และสร้างความมั่นคงระบบไฟฟ้า เตรียมพร้อมรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจ การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการลงทุนในระยะยาว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2565 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดพิธีเปิดสถานีไฟฟ้าแรงสูงภูเก็ต 3 อย่างเป็นทางการ โดยมีนายอำนวย พิณสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ.ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิด ฯ เพื่อส่งจ่ายพลังงานไฟฟ้าให้แก่จังหวัดภูเก็ตอย่างเป็นทางการ มีหัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนชุมชน ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงาน กฟผ. เข้าร่วมเป็นสักขีพยาน ณ สถานีไฟฟ้าแรงสูงภูเก็ต 3 ตำบลเกาะแก้ว อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต
นายอำนวย พิณสุวรรณ กล่าวว่า จังหวัดภูเก็ต ถือเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ต้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศ มีแหล่งท่องเที่ยวที่งดงาม และทรัพยากรทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ จนได้รับขนานนามว่า "ไข่มุกแห่งอันดามัน" โดยตั้งเป้าหมายมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว การศึกษา นวัตกรรมบริการในระดับนานาชาติ และการพัฒนาที่ยั่งยืน
ซึ่งการมีโครงสร้างพื้นฐานระบบไฟฟ้าที่มั่นคงและเพียงพอ ถือเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาจังหวัดภูเก็ตในระยะยาว การเปิดสถานีไฟฟ้าแรงสูงภูเก็ต 3 จึงนับเป็นข่าวดีของจังหวัดภูเก็ต ที่มีระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานที่มีศักยภาพ มีความพร้อมรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่สูงขึ้นในอนาคต ทำให้สามารถเดินหน้าพัฒนาสู่เป้าหมายและยุทธศาสตร์ที่วางไจได้อย่างเต็มที่
ด้านนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า กฟผ. มีภารกิจดูแลรักษาความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ โดยได้เดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบไฟฟ้า เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นของภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดภูเก็ตในระยะยาวอย่างยั่งยืน เนื่องจากจังหวัดภูเก็ตมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงเป็นอันดับ 2 ของภาคใต้ และมีสถิติการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้นร้อยละ 7-10 ต่อปี
กฟผ. ได้ดำเนินโครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณภาคตะวันตกและภาคใต้ เพื่อเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า ระยะที่ 1 และก่อสร้างสถานีไฟฟ้าแรงสูงภูเก็ต 3 แห่งใหม่ เพื่อรับไฟฟ้าจากสายส่งไฟฟ้าแรงสูงระดับแรงดันสูงสุด 500 กิโลโวลต์ (KV) จากภาคกลางลงสู่ภาคใต้เส้นใหม่ ซึ่งปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จ และเริ่มจ่ายไฟเข้าสู่ระบบเมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา
สำหรับสถานีไฟฟ้าแรงสูงภูเก็ต 3 เป็นสถานีไฟฟ้าแรงสูงแบบใช้ฉนวนก๊าซ (Gas Insulated Substation: GIS) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำให้ใช้พื้นที่ในการก่อสร้างน้อยลง โดยเชื่อมโยงระบบไฟฟ้าจากภาคกลาง ผ่านสถานีไฟฟ้าแรงสูงบางสะพาน 2 - สุราษฎร์ธานี2 และสิ้นสุดที่สถานีไฟฟ้าแรงสูงภูเก็ต 3 รวมระยะทาง 504 กิโลเมตร
ถือเป็นการเชื่อมโยงพลังงานไฟฟ้าระดับแรงดันสูงสุด 500 kV เส้นแรกของภาคใต้ และเส้นที่ยาวที่สุดในประเทศไทย ช่วยเพิ่มความสามารถในการส่งจ่ายพลังไฟฟ้าจากภาคกลางสู่ภาคใต้มากกว่า 2 เท่า จากเดิม 700 เมกะวัตต์ เป็น 1,600 เมกะวัตต์ และเพิ่มความสามารถในการส่งจ่ายไฟฟ้าให้แก่จังหวัดภูเก็ตในอนาคต การันตีความพร้อมรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ สังคม และการลงทุนด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในระยะยาวอย่างยั่งยืน
กฟผ. มีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน ของจังหวัดภูเก็ต ช่วยให้ "ไข่มุกแห่งอันดามัน " กลับมาสว่างไสวและงดงามอีกครั้ง หลังจากเผชิญกับวิกฤตโควิด -19กฟผ. พร้อมที่จะดูแลระบบไฟฟ้าให้มีความมั่นคง มีประสิทธิภาพ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อการพัฒนาประเทศ และความอยู่ดีมีสุขของประชาชน ตามแนวคิด EGAT for ALL เพราะ กฟผ. เป็นของทุกคน ทำเพื่อทุกคน" ผวก.กฟผ. กล่าวทิ้งท้าย
นอกจากนี้จาก กฟผ. ได้แจกทุนการศึกษา ให้เด็กนักเรียนในพื้นที่ใกล้เคียงกับสถานีไฟฟ้าแรงสูง ภูเก็ต 3 อีกจำนวนหลายทุนด้วยกัน