“ฐานเศรษฐกิจ” ยังคงเกาะติดความคืบหน้าการจ่าย "เงินช่วยเหลือชาวนา" ไร่ละ 1,000 บาท สูงสุดได้รับเงิน 2 หมื่นบาท วงเงิน 54,972.72 บาท จำนวนเกษตรกรที่จะได้รับประโยชน์ กว่า 4.6 ล้านราย เกษตรกร สามารถตรวจสอบสถานะการโอนเงินได้ที่ลิ้งค์ https://chongkho.inbaac.com/ บัญชี ธ.ก.ส. ล่าสุดยังมีตกค้าง จากงบประมาณสำหรับโครงการสนับนุนค่าบริหารจัดการไม่เพียงพอ
นายสุเทพ คงมาก นายกิตติมศักดิ์สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” วันนี้ (27 เม.ย.65) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม นบข. ครั้งที่ 1/2565 (ผ่านระบบ Video Conference) นั้น โดยมีการวาระในการพิจารณา “เงินช่วยเหลือชาวนา” หรือเงิน โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกร ผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 ในส่วนที่ขอเพิ่ม จำนวน 594.64 ล้านบาท
โดยไม่เป็นการเพิ่มภาระงบประมาณตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 และเป็นการบริหารจัดการงบประมาณที่ได้รับมาแล้วให้เกิดประสิทธิภาพ จึงเห็นควรนำงบประมาณคงเหลือจากโครงการประกันรายได้ๆ ที่เหลือจ่ายจากการชดเชยส่วนต่าง จำนวน 33 งวด นำมาจ่ายเงินสนับสนุนให้เกษตรกรตามโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการฯเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ที่ประชุมจึงได้มีมติ เห็นชอบ รวมทั้งขยายระยะเวลาโครงการฯ ก่อนนำเสนอ ให้นำเสนอ ครม.พิจารณาในสัปดาห์หน้า
มติที่ประชุมเห็นชอบแนวทางการจ่ายเงิน โดยให้ ธ.ก.ส. จ่ายเงินเกษตรกรกลุ่มที่ปลูกก่อน 16 มิถุนายน 2564 วงเงิน 166.50 ล้านบาท สำหรับงบที่เหลือวงเงิน 21.03 ล้านบาท ให้พิจารณาจ่ายให้เกษตรกรกลุ่มที่ปลูกตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2564 ตามความเหมาะสมต่อไป
อย่างไรก็ดี ในโครงการ กรอบ "เงินช่วยเหลือชาวนา" ไร่ละ 1,000 บาท สูงสุดได้รับเงิน 2 หมื่นบาท วงเงิน 54,972.72 บาท ขอเพิ่ม 594.644 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 55,567.364 ล้านบาท
นายสุเทพ กล่าวถึง ในปี 2565 กรมการค้าต่างประเทศ และสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยได้กำหนดเป้าหมายการส่งออกไว้ประมาณ 7 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.38 จากปริมาณการส่งออกปี 2564 โดยมีปัจจัยสนับสนุนได้แก่ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด - 19 เริ่มคลี่คลาย ทำให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวและมีการบริโภคมากขึ้น
ประกอบกับคาดว่าน้ำฝนและน้ำในอ่างเก็บน้ำในปีนี้มีปริมาณเพียงพอต่อการเพาะปลูกทำให้ผลผลิตมีปริมาณเพิ่มขึ้น จึงส่งผลให้ราคาข้าวไทยในปี 2565 อยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้ ในขณะเดียวกัน ความสัมพันธ์ ทางการทูตระหว่างไทยกับชาอุดิอาราเบียได้รับการฟื้นฟู ซึ่งนับเป็นโอกาสที่ดีทางการค้าข้าวของไทย
นอกจากนี้ยังมีเส้นทางการขนส่งเพิ่มขึ้นใหม่อย่างเส้นทางรถไพจีน - ลาว ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการขนส่งสินค้าจากไทยไปจีนท่ามกลางปัญหาการขาดแคลนตู้ขนส่งสินค้าและระวางเรือ อีกทั้ง ยังคาดว่าสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเขีย - ยูเครนจะไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวไทยมากนัก
โดยอุปสรรคหลักของการส่งออกข้าวไทยในปีนี้ยังคงเป็นปัญหาค่าระวางที่ปรับตัวสูงขึ้น อันเป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นสถานการณ์การส่งออกข้าวไทย ปี 2565 (ม.ค. - ก.พ.) ไทยส่งออกข้าวได้ปริมาณ1.10 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.41 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาข้าวไทยอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้ โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ราคาข้าวขาวไทยอยู่ในระดับต่ำกว่าประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนาม ประมาณ 5 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ทำให้ประเทศผู้นำเข้าหันมานำเข้าข้าวไทยเพิ่มขึ้น
ประกอบกับสถานการณ์ความชัดแย้งระหว่าง "รัสเชีย - ยูเครน" ส่งผลให้ราคาข้าวโพดและข้าวสาลีซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักที่ใช้ในการผลิตอาหารสัตว์มีราคาสูงขึ้น จึงทำให้มีการหันมานำเข้าข้าวหักจากไทยเพื่อนำไปใช้ทดแทนข้าวโพดหรือข้าวสาลีในอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ผู้นำเข้าบางส่วนยังเพิ่มปริมาณการนำเข้าข้าวเพื่อสำรองไว้เนื่องจากมีความกังวลจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่าง "รัสเซีย - ยูเครน"
สำหรับสถานการณ์ราคาข้าวเปลือกเมื่อเทียบกับเดือนก่อน ดังนี้ "ข้าวเปลือกหอมมะลิ" และ "ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่" ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากเกษตรกรบางส่วนนำข้าวเข้าร่วมโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปี 2564/65 ส่งผลให้ผู้ประกอบการโรงสีที่มีความต้องการรับซื้อข้าว ต้องเสนอราคารับซื้อข้าวเพิ่มสูงขึ้นเพื่อจูงใจให้เกษตรกรนำข้าวออกมาจำหน่าย ส่วน "ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว" ราคาปรับตัวลดลง เนื่องจากเข้าสู่ช่วงผลผลิตฤดูกาลใหม่ (นาปรังปี 2565) ออกสู่ตลาดมาก
ในขณะที่การบริโภคในประเทศค่อนข้างคงที่ "ข้าวเปลือกเจ้า" ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการโรงสีมีความต้องการรับซื้อข้าวเพื่อสีแปรสภาพส่งมอบให้กับคู่ค้าอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยบวกจากราคาส่งออกข้าวขาวซึ่งอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้ ทำให้ประเทศผู้นำเข้าข้าวมีความต้องการรับซื้อข้าวขาวจากไทย
เช่นเดียวกับในส่วน "ข้าวเปลือกปทุมธานี" ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการโรงสีมีความต้องการใช้ข้าวและเก็บสต๊อก ในช่วงที่ผลผลิตยังออกสู่ตลาดน้อย จึงเสนอราคารับซื้อเพิ่มสูงขึ้น ปัจจัยบวก ได้แก่ (1) ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง ส่งผลให้ราคาส่งออกข้าวสามารถแข่งขัน ในตลาดโลกได้ และ (2) สถานการณ์โควิด 19 เริ่มคลี่คลาย ส่งผลให้อุปสงค์กลับมาฟื้นตัว ปัจจัยลบ ได้แก่ ค่าระวางเรือปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น จากสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวได้