นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทยไม่เห็นด้วย กับการที่กรมการข้าวจะใช้งบประมาณที่รัฐบาลสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพการผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว อัตราไร่ละ 1,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 20ไร่ หรือไม่เกิน 20,000 บาทต่อครัวเรือน จากจำนวนเกษตร 4.6 ล้านครัวเรือน ซึ่งเป็นงบประมาณที่ช่วยเหลือเกษตรกรโดยตรง และเป็นเม็ดเงินที่เกษตรกรได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึง ถ้าหากกรมการข้าวจะใช้งบประมาณ ก็ไม่สมควรมายุ่งเกี่ยวกับเงินที่รัฐบาลสนับสนุนเกษตรกร
ส่วนการตั้งศูนย์ข้าวชุมชน เดิมมีอยู่แล้ว 2,478 ศูนย์ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อชาวนา สมาคมชาวนาฯขอตั้งคำถาม และขอสังเกต เราเคยมีการตรวจสอบประสิทธิภาพว่า เกิดประโยชน์ต่อชาวนาเพียงใด ความสำเร็จของศูนย์ข้าวแต่ละศูนย์เป็นอย่างไร มีการติดตามตรวจสอบประเมินผลหรือไม่ และเกษตรกร 4.6 ล้านครัวเรือนได้ประโยชน์อย่างไร และการที่ชาวนาจะใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวต่างๆก็ต้องมีทางเลือก ที่หลากหลายสนองเกษตร
ปัจจุบันก็มีภาคเอกชน ที่ทำพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพจำหน่ายให้กับชาวนา ชาวนาก็มี ทางเลือกสำหรับในที่จะซื้อพันธุ์ข้าวจากแหล่งทั่วไป นอกจากพันธุ์ข้าวของศูนย์ เพียงอย่างเดียว จะได้มีการแข่งขันสู้กันในด้านคุณภาพ และราคา สิ่งที่สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เป็นห่วงก็คือถ้าหากเกิดมีคนหัวใส บอกว่าถ้าหากชาวนาไม่ใช่เมล็ดพันธุ์ข้าวจากศูนย์ หรือแหล่งที่จัดให้ ก็จะไม่ได้รับการช่วยเหลือดูแล หรือสนับสนุนในด้านต่างๆ จากภาครัฐ แบบนี้ก็คงยุ่ง หวังว่าคงจะไม่มีพวกหัวใส
ถ้ามีความจำเป็นที่จะต้องตั้งศูนย์ข้าวชุมชน ก็ไม่ควรมายุ่งเกี่ยว กับเงินที่รัฐบาล สนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพ ไร่ละ1,000บาท ไม่เกิน20ไร่ หรือไม่เกิน20,000บาทต่อ ครัวเรือน เพราะชาวนาได้ประโยชน์อย่างทั่วถึง และไม่จำกัดสิทธิ์ต่างๆของชาวนา ในการที่จะเลือกใช้พันธ์ุข้าว จากแหล่งผลิตทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นของศูนย์ข้าว หรือของภาคเอกชนทั่วไป และที่สำคัญชาวนาเองก็ทำแปลงเมล็ดพันธ์ุ ใช้เอง และจำหน่ายแบ่งปัน กันในหมู่ชาวนา ด้วยกันเอง
ด้าน นายเดชา นุตาลัย อุปนายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า ผมไม่ได้เป็นสมาชิก และชาวนาทั้งประเทศไม่ได้เป็นสมาชิกศูนย์ข้าวชุมชน กว่า 2,000 ศูนย์ และชาวนาคนอื่นๆ จะทำอย่างไร เอาเงินชาวนาทั้งประเทศไปให้คนเพียงกลุ่มหนึ่งเท่านั้นแค่นั้นเองหรือ ทำอย่างนี้ได้อย่างไร จำได้เมื่อปีที่แล้ว ศูนย์ชุมชนฯ ก็เคยได้ไปแล้ว แล้วของเก่าที่เคยซื้อไป ใช้ได้มีประสิทธิภาพหรือไม่ ประเมินหรือยัง หรือกลายเป็นเศษเหล็ก อนุสาวรีย์ อย่างที่ว่ากัน ถ้าดีกับชาวนา ไม่ว่าหรอก
“แต่ว่าชาวนาคนอื่น ไม่ได้ ไม่ใช่ชาวนาหรือ แล้วกลุ่มนั้นก็เคยได้ไปแล้ว ซึ่งในภาวะแบบนี้ควรช่วยเหลือชาวนาอย่างเท่าเทียมกัน จะไปโอนเงินเข้าศูนย์ข้าวชุมชน มีเบื้องหน้าเบื้องหลังอะไรกันหรือไม่ มีอะไรไม่ชอบมาพากล ของที่จะซื้อไปซื้อที่ไหม แล้วซื้อที่จัดให้ไว้แล้วหรือไม่ แล้วถ้าไปซื้อที่อื่นไม่ผ่าน ใช่หรือไม่ นี่เป็นการตั้งข้อสังเกต”
นายเดชา กล่าวว่า ควรจะให้กับคนที่ยังไม่เคยได้ดีกว่าไหม แล้วถ้าชาวนาคิดเอง แล้วซื้อเอง ต้องการอยากได้เอง ได้ใช้แน่นอน แล้วต้องกระจายเท่าเทียมกัน
นายอัษฎางค์ สีหาราช ประธานศูนย์ข้าวชุมชนตำบลคอรุม และประธานนาแปลงใหญ่ ตำบลคอรุม อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ กล่าวว่า ปีที่แล้ว ที่รัฐบาลให้เงินอุดหนุนให้เปล่า ผ่านศูนย์ละ 3 ล้านบาท เป็นแปลงใหญ่ เป็นนโยบายของรัฐบาล เพื่อให้เกษตรกรรวมตัวกัน อย่างน้อย 30 ครัวเรือน ไม่ต่ำกว่า 300 ไร่ จดทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นเกษตรแบบใหญ่ จะมี เกษตรแปลงใหญ่ข้าว สัตว์ และพืชต่าง รวมกัน 14 ชนิด ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นหน่วยงานที่ดูแล
เมื่อปีที่แล้ว ใช้เงินงบประมาณโควิดต้องการสร้างความเข้มแข็งให้องค์กรเกษตรกร กรมส่งเสริมการเกษตร โครงการแปลงใหญ่ยกระดับจัดหาเครื่องจักรกลเกษตรให้กับแปลงใหญ่ทั้งประเทศไม่เกิน 3 ล้านบาท ก็มีการดำเนินการมาแล้ว 1 ปี โดยให้เขียนเสนอให้โครงการว่าต้องการเงิน 3 ล้านบาทไปซื้ออะไร
นายอัษฎางค์ กล่าว แต่พอมาปีนี้ทางอธิบดีกรมการข้าว รัฐมนตรีช่วยฯ ที่ชงเรื่องไปยัง ครม.สำนักงบประมาณเพื่อขอรับเงินสนับสนุนมาให้ศูนย์ข้าวชุมชน เบื้องต้น 1.5 หมื่นล้าน ให้ศูนย์ข้าวชุมชน 5,000 ศูนย์ ศูนย์ละไม่เกิน 3 ล้านบาท จัดซื้อจัดจ้างเครื่องจักรกลทางการเกษตร เหมือนโมเดลแปลงใหญ่ไม่มีผิด แต่ยังไม่เห็นคู่มือในการดำเนินงาน ของแปลงใหญ่ปีที่แล้ว เงินโอนเข้าบัญชี ชื่อแปลงใหญ่ แล้วจัดซื้อจัดจ้างตามมติที่ประชุมของแต่ละแปลง
"เพราะฉะนั้นแปลงใหญ่ของปีที่แล้วจะได้เครื่องจักรกลตรงตามวัตถุประสงค์ของแต่ละแปลง แล้วที่บอกว่ายังไม่เห็นคู่มือ สิ่งที่น่ากลัวและน่ากังวลที่สุดคือ ทางกรมการข้าว จัดซื้อเอง เป็นเรื่องอันตรายมาก เหมือนปีที่แล้วที่กรมการข้าวจัดซื้อเครื่องคัดแยกเมล็ดพันธุ์ 200 ตัว แต่ถามว่าใช้งานได้ดีไหม ก็ใช้งานได้ดี ขึ้นอยู่กับการปรับของแต่ละศูนย์ข้าวชุมชน ในการจูนเครื่องเป็นหรือไม่ ไม่ใช่ไม่ดี"
นายอัษฎางค์ กล่าวว่า ล่าสุดกรมการข้าวได้มีหนังสือมาถึงศูนย์ข้าวชุมชน แล้ว ให้แจ้งความจำนงว่าทางศูนย์ข้าวฯ ของคุณต้องการอะไร เช่น แทรกเตอร์ รถดำนา รถเกี่ยวข้าว หรือ โดรน โดยระบุขอให้เป็นเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่สามารถทำแล้วลดต้นทุน แล้วถ้ากรมการข้าว จัดซื้อเอง เป็นเรื่องที่น่ากลัวเหมือนเครื่องคัดแยกฯ ปัญหาเกิดแน่นอน และความแตกแยก เพราะวันนี้การเมืองเข้าไปยุ่ง จัดแจง
"ส่วนงบ 1.5 หมื่นล้าน มาจากเงินช่วยเหลือชาวนา ค่าปลูก ค่าเก็บเกี่ยว ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ แล้วชาวนาคนอื่นที่ไม่ใช่สมาชิกข้าว ศูนย์ชุมชุนจะเสียโอกาส จะได้ประโยชน์เฉพาะกลุ่มไม่กี่คน แล้วชาวนาทั้งประเทศกว่า 4.6 ล้านครัวเรือน เสียโอกาส ผมสงสารชาวนากลุ่มใหญ่ของประเทศ ที่ไม่รู้ว่าเงินส่วนนี้หายไปไหน ไม่มีใครกล้าพูดความจริง แล้วประธานศูนย์ข้าวชุมชนแต่ละจังหวัดก็โทรมาหา ว่าทำไมไม่ทำอะไรบ้าง ผมก็บอกว่าผมอายุ 60 ปี แล้วเป็นมา 3 สมัยแล้ว"
การเมืองหลายพรรคก็มองว่าประชาธิปัตย์ใช้งบตัวนี้ไปเป็นฐานเสียง ปัจจุบันศูนย์ข้าวชุมชน 2,478 ศูนย์ มีสมาชิก 1.32 แสนครัวเรือน ได้ก่อตั้งขึ้นปี 2542 กรมส่งเสริมการเกษตร ดูแล พอมีกรมการข้าว ปี 2549 ก็มาอยู่ภายใต้ดูแลต่อ เป็นระเบียบกรมการข้าว ที่ต้องมีศูนย์ข้าวชุมชน แตกต่างจากสมาคม มีเงื่อนไขจะต้องไม่ต่ำกว่ากี่ครัวเรือน มีพื้นที่ไม่น้อยกว่าเท่าไร ถึงจะต้องตั้งเป็นศูนย์ข้าวชุมชนได้
ทั้งนี้โดยวัตถุประสงค์ของศูนย์ข้าวชุมชน ทำงานร่วมกับกรมการข้าว เนื่องจากกรมการข้าวไม่มีเจ้าหน้าที่ในระดับจังหวัด มีแต่ศูนย์เมล็ดพันธุ์ ศูนย์วิจัย และน้อยมาก ก็สร้างศูนย์ข้าวชุมชนให้เป็นอาสาสมัครชาวนา เพื่อที่จะทำงานในพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพ แต่ก็มีดีบ้าง และไม่ดีบ้าง สิ่งที่คิดล่วงหน้า ณ ขณะนี้มีศูนย์ข้าวชุมชน 2,478 ศูนย์ แต่ตัวโครงการ 1.5 หมื่นล้าน เขียนศูนย์ข้าวชุมชุน 5,000 ศูนย์ ก็รู้สึก งง ก็แสดงว่าการเขียนโครงการที่ไปขอเงินสำนักงบประมาณ จะต้องทำให้เกิดถึง 5,000 ศูนย์ตามเป้าหมาย มองว่าจะทำให้เกิดขึ้นมา เพื่อรองรับงบประมาณหรือ ไม่ใช่วัตถุประสงค์ของศูนย์ข้าวชุมชนแล้ว