นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (จร.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากที่ทั่วโลกให้ความสำคัญกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ Climate Change โดยจะนำเรื่องนี้มาเป็นข้อกำหนดหรือเงื่อนไขทางการค้าใหม่ของโลก ไม่ว่าจะเป็นองค์การการค้าโลก (WTO) มีสมาชิก 6 ประเทศ อาทิ นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ สวิตเซอร์แลนด์ ไอซ์แลนด์ เสนอให้มีการลดภาษีสินค้าและบริการด้านสิ่งแวดล้อม จัดทำแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการติดฉลากสิ่งแวดล้อม และขอให้ยกเลิกการอุดหนุนนํ้ามันจากฟอสซิล
อีกทั้ง ความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก( APEC) ที่ปีนี้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุม ประเทศสมาชิกได้ให้ความสนใจ มีการจัดทำบัญชีรายการสินค้าเพื่อลดภาษีนำเข้าให้เหลือไม่เกิน 5% ใน 54 รายการสินค้า และอยู่ระหว่างการจัดทำแนวทางส่งเสริมและอำนวยความสะดวกแก่บริการสิ่งแวดล้อม รวมถึงเวทีของความตกลงการค้าเสรี ( FTA) มีข้อบทเรื่องการค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมเรื่องสิ่งแวดล้อมและ Climate Change เป็นประเด็นสำคัญในการเจรจาด้วย
ที่สำคัญสหภาพยุโรปหรือ EU อยู่ระหว่างเตรียมใช้มาตรการ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) ที่จะเก็บภาษีคาร์บอนกับสินค้านำเข้า โดยจะเริ่มบังคับใช้ในปี 2566 กับสินค้า 5 ประเภท ได้แก่ ซีเมนต์ ไฟฟ้า ปุ๋ย เหล็ก และเหล็กกล้า และอะลูมิเนียม และอาจขยายให้ครอบคลุมสินค้าประเภทอื่นด้วยในอนาคต โดยในช่วง 3 ปีแรก (2566–2568) จะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน ให้ผู้นำเข้าเพียงแค่รายงานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ EU ทราบ และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2569 เป็นต้นไป ผู้นำเข้าจะต้องจ่ายภาษีคาร์บอนตามปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้าที่ตนนำเข้า
ดังนั้น ผู้ประกอบการไทย หรือภาคผลิตที่ผลิตสินค้าเพื่อการส่งออก จะไม่สามารถหลีกเลี่ยงจากผลกระทบดังกล่าวได้ จึงจำเป็นต้องเร่งปรับตัวที่จะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตั้งแต่ต้นทางหรือปลายทาง เพื่อให้กระบวนการผลิตสินค้าเป็นไปตามเงื่อนไขที่ EU กำหนด โดยเฉพาะสินค้าเหล็กและเหล็กกล้า ที่ปี 2564 มีมูลค่าส่งออกราว 4,109 ล้านบาท และอะลูมิเนียม มีมูลค่าส่งออก 2,004 ล้านบาท ที่ถูกกำหนดอยู่ในรายการสินค้าที่ต้องปฏิบัติ
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการควรแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ ของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการลดการปล่อยคาร์บอนฯ เพราะตอนนี้ FTA ไม่ได้หารือเฉพาะเรื่องการเปิดตลาดสินค้าเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องการบริการและการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับ Climate Change ดังนั้น บริษัทเอกชนของไทยควรศึกษาและสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาธุรกิจบริการให้คำปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม พลังงานหมุนเวียน เป็นต้น ส่วนผู้ประกอบการขนาดเล็ก หรือ SME ก็ควรจะต้องติดตามและเรียนรู้เทรนด์เรื่อง Climate Change ตามทิศทางของโลกเพื่อนำไปปรับใช้กับการวางแผนธุรกิจด้วย”
ทั้งนี้ มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ที่ผ่านมา รัฐสภายุโรปอนุมัติร่างกฎหมาย CBAM ตามที่คณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมฯ เสนอ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2564 โดยจะขยายรายการสินค้าที่ครอบคลุมจากเดิม 5 รายการ ได้แก่ ซีเมนต์ เหล็ก และเหล็กกล้า ปุ๋ย อลูมิเนียม และการผลิตพลังงานไฟฟ้า เป็น 9 รายการ ซึ่ง 4 รายการที่เพิ่มขึ้นมา ได้แก่ Organic Chemical, Plastics, Hydrogen, Polymer
อีกทั้ง ขยายขอบเขตการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ให้ครอบคลุมการปล่อยคาร์บอนทางอ้อม (Indirect Emissions) ด้วย เช่น การใช้ไฟฟ้าในกระบวนการผลิต ใน 9 รายการสินค้าข้างต้น จากเดิมครอบคลุมเฉพาะการปล่อยคาร์บอนทางตรง (Direct Emission)
พร้อมทั้ง จัดตั้งหน่วยงานดูแลระบบ CBAM หรือ CBAM Authority แทนที่การทำงานของ 27 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยจะเริ่มต้น transitional period สำหรับทดสอบการรายงานข้อมูลในช่วงวันที่ 1 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2569 และจะเริ่มต้นบังคับใช้เต็มรูปแบบตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2570 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ผู้ส่งออกสินค้าทั้ง 9 รายการข้างต้น จะได้รับใบอนุญาตปล่อยคาร์บอนแบบให้เปล่า (Free Allowance) ในสัดส่วนเดียวกับผู้ประกอบการภายในสหภาพยุโรปได้รับภายใต้ระบบ EU- Emissions Trading System (ETS) ที่เกี่ยวข้องกับการจัดสรรและการซื้อขายสิทธิ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ทั่วสหภาพยุโรป เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการกีดกันทางการค้าตามกฎการค้าของ WTO ที่ต้องไม่เลือกปฏิบัติ
สำหรับ Free Allowance ที่ให้กับผู้ส่งออกและผู้ประกอบการในสหภาพยุโรปจะลดลงตามระดับ โดยระหว่างปี ค.ศ.2023-2026 จะได้รับการยกเว้นเก็บภาษี 100% ปี ค.ศ. 2027 ได้รับการยกเว้นภาษี 93% ปี ค.ศ. 2028 ได้รับการยกเว้นภาษี 84% ปี ค.ศ.2029 ได้รับการยกเว้นภาษี 69% ปี ค.ศ.2030 ได้รับการยกเว้นภาษี 50% ปี ค.ศ. 2031 ได้รับการยกเว้นภาษี 55% และปี ค.ศ.2032 จัดเก็บภาษีเต็ม 100%