สรรพสามิต เดินหน้าเก็บภาษี CBAM 5 กลุ่มสินค้าส่งออก

11 พ.ค. 2565 | 08:59 น.
อัปเดตล่าสุด :11 พ.ค. 2565 | 16:09 น.

สรรพสามิต เดินหน้าศึกษาจัดเก็บภาษี CBAM เริ่มใน 5 กลุ่มสินค้าส่งออกของไทย หวังกันเงินภาษีไม่ให้ไหลออกนอกประเทศ พร้อมเดินหน้าปรับโครงสร้างภาษีครั้งใหญ่ หนุนไทยลดปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ

นายณัฐกร อุเทนสุต ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิต กรมสรรพสามิต กล่าวเสวนาในหัวข้อ “Carbon war : จุดเปลี่ยนการค้า - การลงทุน” ในงานสัมมนา “ZERO CARBON วิกฤต – โอกาสไทยในเวทีโลก” ที่จัดโดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ

 

โดยระบุว่า ขณะนี้กรมอยู่ระหว่างการศึกษาการจัดเก็บภาษี CBAM หรือมาตรการภาษี Carbon Boarder Adjustment Mechanism ใน 5 สินค้าส่งออกสำคัญ คือ ซีเมนต์ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ปุ๋ย และไฟฟ้า ซึ่งสหภาพยุโรป จะเริ่มเก็บภาษีดังกล่าวอย่างเต็มรูปแบบตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2569

 

นายณัฐกร อุเทนสุต ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิต กรมสรรพสามิต

 

ทั้งนี้มองว่าหากไทยมีการจัดเก็บภาษี CBAM เอง โดยเริ่มต้นใน 5 กลุ่มสินค้าส่งออกหลัก ก็จะทำให้ผู้ประกอบการไม่ต้องไปเสียภาษีให้กับประเทศปลายทาง ซึ่งยังส่งผลดีต่อรายได้จากการจัดเก็บภาษีของไทย และรัฐบาลยังสามารถนำเงินจากภาษีส่งกลับไปยังผู้ประกอบการผ่านมาตรการอุดหนุนต่างๆ เป็นต้น

ขณะที่การปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต เพื่อจูงใจให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาคอุตสาหกรรม และครัวเรือนลดการใช้พลังงานและลดการปล่อยคาร์บอนฯ นั้น เช่น การเพิ่มอัตราการจัดเก็บภาษีน้ำมันดีเซล ที่ในอดีตมีอัตราการจัดเก็บต่ำกว่าน้ำมันเบนซิล

 

แต่เนื่องจากมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนสูงกว่า กรมจึงมองว่าอัตราภาษีน้ำมันดีเซลควรจะเทียบเท่าหรือมากกว่าน้ำมันเบนซิล ทำให้ปัจจุบันอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 6 บาทต่อลิตร

 

“วันนี้มาเลเซีย และบรูไน ที่มีราคาน้ำมันดีเซลถูกกว่าไทย เนื่องจากมีการผลิตเพื่อใช้เองได้ นอกจากนั้นประเทศอื่นในภูมิภาคน้ำมันดีเซลแพงกว่าไทยหมด ดังนั้น หากเรามองถึงอนาคตและเป้าหมาย ก็ต้องมองถึงภาพความเป็นจริงที่ควรจะเกิดขึ้น”

 

สรรพสามิต เดินหน้าเก็บภาษี CBAM 5 กลุ่มสินค้าส่งออก

 

ขณะเดียวกัน กรมฯอยู่ระหว่างการศึกษาการลดภาษีเครื่องจักรหรืออุปกรณ์นำเข้าที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ลดการใช้พลังงาน เพื่อจูงใจให้ภาคอุตสาหกรรมปรับเปลี่ยนมาใช้อุปกรณ์หรือเครื่องจักร

 

และในปี 2593 จะมีการจัดเก็บภาษี เช่น ถ่านหิน รวมทั้ง NGV มากขึ้น เพราะมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ในปริมาณสูง ซึ่งเป็นปัญหาหลักที่เกิดขึ้นในขณะนี้

 

นอกจากนี้ในอนาคตจะมีการนำคาร์บอนเครดิตมาใช้ คือ หากจะมีการปล่อยก๊าซคาร์บอน จะต้องมีการซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อมาถั่วเฉลี่ยการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ  

 

รวมทั้งจะมีการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ ปี 69 ในส่วนของอัตราภาษีไฮบริด และปลั๊กอินไฮบริด ให้มีความแตกต่างกัน เพื่อส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานไฟฟ้ามากขึ้น

 

“อยากให้มองว่าการที่ไทยต้องมีคาร์บอนฯ เทรด หรือ คาร์บอนเครดิต เป็นสิ่งจำเป็นที่เราต้องปรับและต้องเปลี่ยน หากวันนี้เราไม่ทำอนาคตก็จะถูกทำให้ต้องปรับจากต่างประเทศผ่านมาตรการทางภาษีหรือมาตรการกีดกันทางการค้า ดังนั้นหากเราทำก่อนก็จะทำให้เราปรับตัวได้ก่อน”