นางสาวสุรียส โควสุรัตน์ นายกสมาคมเอทานอลจากมันสำปะหลัง เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2565 อีกทั้งอุปสงค์ในตลาดมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลาย ประกอบกับการกลับมาเปิดเมืองของหลายประเทศ และอัตราเงินเฟ้อที่ขยายตัว
และค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่อง ส่งผลให้ต้นทุนสินค้าต่างๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ดังนั้น การส่งเสริมการใช้เอทานอลจากผลผลิตการเกษตรภายในประเทศ จึงเป็นโอกาสที่จะทำให้ประเทศได้ประโยชน์ทั้งในด้านพลังงาน และด้านเกษตรกรรม
ดังนั้นเอทานอลถือเป็นพลังงานทางเลือก ที่จะช่วยสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงทางพลังงาน ลดการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ โดยเฉพาะในช่วงที่ราคาน้ำมันมีความผันผวน อีกทั้งการส่งเสริมการใช้เอทานอลจะทำให้ประเทศไทยมีแหล่งพลังงานทางเลือกเป็นของตนเองที่เพียงพอและยั่งยืน
นอกจากนี้ เอทานอลยังเป็นพลังงานสะอาด ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดฝุ่นละออง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่วนภาคเกษตรกรรม การสนับสนุนการใช้เอทานอล จะส่งผลให้มีการใช้ผลผลิตทางเกษตรในประเทศเพิ่มขึ้น โดยประเทศไทยมีพื้นที่ในการปลูกอ้อยและมันสำปะหลัง มากเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน โดยในฤดูกาล 2563/64 มีพื้นที่ปลูกอ้อยและมันสำปะหลัง คิดเป็น 14% ของพื้นที่เกษตรกรรม เป็นการเพาะปลูกมันสำปะหลัง 35.09 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 80,000 ล้านบาท
และการเพาะปลูกอ้อยปีละ 66.84 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 67,000 ล้านบาท รวมแล้วสามารถสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศด้วยเม็ดเงินมากกว่า 147,000 ล้านบาท การส่งเสริมการใช้ผลผลิตทางเกษตรภายในประเทศ จึงถือเป็นการกระจายรายได้ให้กับทั้งห่วงโซ่อุตสาหกรรม
“เอทานอลเป็นพลังงานทางเลือกที่จะช่วยสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศได้อย่างยั่งยืน ช่วยลดการพึ่งพาและนำเข้าน้ำมันดิบในภาวะที่ราคาน้ำมันมีความผันผวน ซึ่งปัจจุบัน ประเทศไทยมีความพร้อมทั้งในด้านวัตถุดิบมันสำปะหลัง นวัตกรรมเทคโนโลยี และงานวิจัย ที่สามารถเข้าไปช่วยเกษตรกรตั้งแต่กระบวนการเพาะปลูกที่มีประสิทธิภาพ การลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต ตลอดจนการนำผลผลิตทางเกษตรที่ได้ไปพัฒนาต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง”
ทั้งนี้สมาคมเอทานอลจากมันสำปะหลัง มีความพร้อมทั้งในด้านวัตถุดิบมันสำปะหลัง กำลังการผลิต และนวัตกรรมเทคโนโลยีในการผลิต โดยตนมีนโยบายในการขับเคลื่อนการผลิตเอทานอลอย่างเต็มกำลัง เพื่อให้เอทานอล เป็นพลังงานทางเลือกในช่วงที่ราคาน้ำมันมีความผันผวนในปัจจุบัน และช่วยให้คนไทยได้ใช้พลังงานสะอาดที่มากขึ้น สอดรับกับเป้าหมายยุทธศาสตร์การค้าของประเทศ ที่มุ่งเดินหน้าสู่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพตามเทรนด์โลก นอกจากนี้ สมาคมฯ ยังมีแผนที่จะนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาพัฒนาต่อยอดการใช้งานเอทานอล เพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบในการพัฒนาผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงในกลุ่มอื่นๆ ในอนาคต อาทิ ไบโอพลาสติก ยา เชื้อเพลิงของเครื่องบิน สารสกัดต่างๆ เป็นต้น
และด้วยความร่วมมือผนึกกำลังของทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคเกษตรกร เพื่อแลกเปลี่ยน บูรณาการ สนับสนุน และส่งเสริมการดำเนินการให้ไปทิศทางเดียวกันเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ จะเป็นจุดแข็งที่จะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเอทานอลให้เติบโตแบบองค์รวมได้อย่างยั่งยืน ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs (Sustainable Development Goals) และ ตามแนวทาง BCG Model ที่มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมใน 3 มิติ ทั้งในด้าน เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)