สำนักข่าวซินหัวรายงานการเปิดเผยของ สภาพลังงานลมโลก (GWEC) ว่า จีน เป็น ผู้นำอันดับ 1 ของโลกในด้านการติดตั้ง กังหันลมผลิตไฟฟ้านอกชายฝั่ง เพิ่มขึ้นรายปีติดต่อกันเป็นปีที่ 3 แล้ว โดยในปี 2563 จีนมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากการติดตั้งกังหันลมนอกชายฝั่งเพิ่มขึ้นมากกว่า 3 กิกะวัตต์
นายเฟิง จ้าว หัวหน้าแผนกข้อมูลและกลยุทธ์การตลาดของ GWEC เปิดเผยว่า แม้จีนเผชิญวิกฤตโรคโควิด-19 เป็นประเทศแรก แต่ก็ส่งผลกระทบเล็กน้อยต่ออุตสาหกรรมกังหันลมผลิตไฟฟ้านอกชายฝั่ง ทำให้ธุรกิจฟื้นคืนกลับสู่ปกติได้อย่างเร็วที่สุดในเดือนมี.ค. 2563
ทั้งนี้ GWEC คาดการณ์ว่า การเติบโตแบบทำลายสถิติของจีนจะยังคงดำเนินต่อไปในปี 2564 นี้ เนื่องจากยังคงมีการเร่งติดตั้งกังหันลมนอกชายฝั่งอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบัน จีนแซงหน้าเยอรมนี เป็นตลาดกังหันลมผลิตไฟฟ้านอกชายฝั่งขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากอังกฤษ
GWEC ระบุว่า ในปัจจุบันกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมของกังหันลมนอกชายฝั่งทั่วโลกอยู่ที่กว่า 35 กิกะวัตต์ ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 62.5 ล้านตัน หรือเทียบเท่ากับการกำจัดรถยนต์ออกจากท้องถนนกว่า 20 ล้านคัน
รายงานของสมาคมพลังงานลมแห่งประเทศจีน (Chinese Wind Energy Association) คาดการณ์ว่า จีนจะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมนอกชายฝั่งได้อีก 52 กิกะวัตต์ภายในปี 2573 การขยายตัวอย่างรวดเร็วมีหลายปัจจัยผลักดัน ส่วนหนึ่งเนื่องจากการติดตั้งกังหันลมผลิตไฟฟ้าบนชายฝั่งหรือบนแผ่นดิน ซึ่งกระจุกตัวทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ เริ่มถึงจุดอิ่มตัว ขณะที่นอกแนวชายฝั่งทะเลของจีนที่ยาวถึง 18,000 กิโลเมตรนั้น มีพื้นที่ที่ได้รับลมแรงตลอดปีและสภาวะเหมาะสมสำหรับการติดตั้งกังหันลมผลิตไฟฟ้ามากกว่า 3 ล้านตารางกิโลเมตร โดยเฉพาะแนวชายฝั่งด้านตะวันออกเฉียงใต้ของจีน รวมถึงหมู่เกาะ มีความเหมาะสมอย่างมากสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานลมนอกชายฝั่ง ป้อนความต้องการใช้ไฟฟ้าของภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่มักจะกระจุกตัวในพื้นที่เมืองชายฝั่งทะเล
ข้อมูลในปี 2562 ชี้ว่า 11 มณฑลชายฝั่งทะเลของจีนเป็นผู้ใช้กระแสไฟฟ้าจำนวนมากถึง 53% ของการใช้ไฟฟ้าทั้งหมดภายในประเทศ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: