นายระพีภัทร จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เผยว่า คุณมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตร กำกับดูแลคุณภาพและมาตรฐานผลไม้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถ และศักยภาพการในการส่งออกลำไย ทุเรียนและผลไม้สดไปจีนตลอดห่วงโซ่ ให้มีคุณภาพ มาตรฐานและสอดคล้องตามมาตรการสุขอนามัยพืชและนโยบาย Zero Covid ของจีน จึงได้ร่วมกับจังหวัดจันทบุรี
โดยมี นายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัด ,ดร.รัฐวิทย์ ตั้งเกียรติพชร นายกสมาคมการค้าและการท่องเที่ยวชายแดนไทย กัมพูชา ร่วมกันจัดประชุม“ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุลำไยภาคตะวันออก ฤดูกาลผลิตปี 2565/66 เพื่อเตรียมความพร้อมให้ผู้ส่งออกลำไยสดของภาคตะวันออก ซึ่งคาดการณ์จะมีผลผลิตลำไยประมาณ 3 แสนตันลดลงจากปีที่แล้วประมาณ 1 แสนตัน ปัจจุบันมีโรงคัดบรรจุลำไยในภาคตะวันออก ที่ขึ้นทะเบียนโดยกรมวิชาการเกษตร จำนวน 108 โรง
กรมวิชาการเกษตร จึงกำหนดเป็นนโยบายสำหรับการส่งออกลำไยสดและทุเรียนผลสด รวมทั้งผลไม้ตามฤดูกาลส่งออกไปจีน ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ ปัจจัยการผลิต สวน โรงคัดบรรจุ และส่งออกถึงประเทศปลายทาง ดังนี้
1.กรมวิชาการเกษตรมุ่งมั่นที่จะอำนวยความสะดวกให้เกษตรกรโดยมีแนวคิดที่จะจัดทำโครงการ GAP แบบกลุ่มให้กับเกษตรกรที่มีพื้นที่ผลิตน้อยกว่า 5 ไร่ สามารถรวมกลุ่มจัดตั้งเป็น GAP แบบกลุ่มและนำผลผลิตไปขายยังล้งเพื่อรับซื้อ ซึ่งจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายและประหยัดเวลา รวมถึงลดขั้นตอนและต้นทุนของเกษตรกร นอกจากนี้กรมฯ ยังได้จัดตั้งหน่วยบริการเคลื่อนที่ (GAP Clinic) ตั้งแต่วันที่ 7 กรกฎาคม 2565 เพื่อให้บริการต่ออายุ ใบอนุญาติ GAP ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ สวพ. 6
โดยมีจุดบริการนำร่อง เบื้องต้นในพื้นที่ อ.สอยดาวเป็นแห่งแรก 3 ที่ด้วยกันคือ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน โดยมีเกษตรกรสมัครใหม่ 62 ราย ต่ออายุ 184 ราย สหกรณ์โคนมสอยดาว สมัครใหม่ 79 ราย ต่ออายุ 403 ราย รวมทั้ง 2 ที่สมัครใหม่ 141 ราย ต่ออายุ 587 ราย และสหกรณ์การเกษตรโป่งน้ำร้อนประมาณสมัครใหม่และต่ออายุประมาณ 500 ราย ที่สมาคมการค้าและการท่องเที่ยวชายแดนไทยกัมพูชา
2.การป้องกันปัญหาสารเคมีกำจัดศัตรูพืช และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ตกค้างในลำไยเกินค่ามาตรฐานกรมวิชาการเกษตรได้กำหนดเป็นแนวทางปฏิบัติและมาตรการป้องกัน นอกจากนี้กรมฯยังมีการเฝ้าระวังการจำหน่ายปุ๋ยปลอม และสารเคมีทางการเกษตรที่ไม่ได้อนุญาตให้ใช้ในประเทศไทย หากพบมีการลักลอบต้องดำเนินคดีเท่านั้น
รวมถึงใช้สารเคมีต้องเป็นตามมาตรฐาน GAP การใช้สารรม ตามมาตรฐาน GMP โดย สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตทุกเขตของกรมวิชาการเกษตร จะเป็นหน่วยงานหลักที่จะเข้าในสนับสนุนภารกิจส่งเสริมมาตรการเฝ้าระวังดังกล่าว โดยมี สวพ.6 เป็นพื้นที่นำร่อง
3.แนวทางการปฏิบัติตามมาตรการตรวจสอบเพื่อรับรองสุขอนามัยพืช ตามมาตรการที่สำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (GACC) พิจารณาและเห็นชอบ เมื่อปลายปี 2564 เพื่อลดปัญหาการแจ้งเตือน และระงับการส่งออก ซึ่งครอบคลุม ตั้งแต่สวน GAP, GMP Plus , การตรวจสอบและรับรองสุขอนามัยพืช และกรมจะเพิ่มความเข้มงวดในการสุ่มตรวจ โดยเฉพาะโรงคัดบรรจุที่มีความเสี่ยงสูงตามรายชื่อที่ GACC แจ้งเตือนมา
4.การลดปัญหาการปนเปื้อนของเชื้อโควิด-19 ในผลไม้ส่งออก ไปจีน ตามมาตรการ GAP และ GMP Plus ครอบคลุมการป้องกันการปนเปื้อน Covid บนผิวผลไม้ บรรจุภัณฑ์ และตู้ขนส่งสินค้าสำหรับผลไม้ส่งออก สอดคล้องกับประกาศมาตรการควบคุมและตรวจสอบการดำเนินการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา -2019 ในโรงคัดบรรจุผลไม้ ของจังหวัดจันทบุรี และจังหวัดชุมพร
ดังนั้น โรงคัดบรรจุลำไย ทุเรียน และผลไม้อื่นๆ ที่จะส่งออกไปจีน ต้องผ่านการรับรอง GMP Plus ซึ่งเป็นงานที่ทั้งจังหวัดจันทบุรีและชุมพร รวมกับหน่วยงานสาธารณสุข และกรมวิชาการเกษตร เป็นผู้ตรวจประเมินและรับรอง
5.ความร่วมมือไทย-จีน เกี่ยวกับการตรวจสอบ กักกันโรคและศัตรูพืชซึ่งได้มีการประชุม เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงตั้งคณะทำงานด้านมาตรการสุขอนามัยพืชร่วมกันเพื่อเป็นเวทีในการหารือถึงแนวทางการนำเข้าส่งออกและตรวจสอบการกักกันโรคและศัตรูพืชในผลไม้โดยจะใช้เป็นช่องทางในการกำหนดขั้นตอนปฏิบัติงาน รวมถึงแก้ไขปัญหาต่างๆในการส่งออกผลไม้จากไทยไปจีนแบบครบวงจร
6.กรมวิชาการเกษตรจะมีความร่วมมือกับ องค์การตลาดเพื่อการเกษตร (อตก.) ในการรับซื้อผลไม้และสินค้าเกษตรตามฤดูกาลซึ่งรวมถึง ลำไย และทุเรียน ทั้งนี้เพื่อเป็นการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรในการเพิ่มรายได้ ระบายผลผลิตทางการเกษตรและช่วยพยุงราคาสินค้าเกษตรให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
นอกจากนี้ ประเด็นอื่นๆ จากข้อเสนอในที่ประชุมจะได้กำหนดเป็นแนวทางในการปฏิบัติร่วมกัน (DOA Together) เพื่อให้การส่งออกลำไยสด ทุเรียนผลสดและผลไม้ตามฤดูกาล มีคุณภาพมาตรฐานขั้นตอนต่างๆเป็นไปอย่างราบรื่น ได้รับการยอมรับ สอดคล้องกับมาตรการสุขอนามัยพืช และนโยบาย
Zero Covid สร้างรายได้เข้าสู่ประเทศ ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจภาพรวมของจังหวัดจันทบุรี และประเทศไทยต่อไป