กยท. เตรียมเปิดประมูลปุ๋ยยางล็อตแรกกว่า 8 หมื่นตัน

01 มิ.ย. 2565 | 14:10 น.
อัปเดตล่าสุด :02 มิ.ย. 2565 | 08:38 น.

"อุทัย" โวย กยท.เพิ่งตื่น ประมูลปุ๋ยยาง ล็อตแรกกว่า 8 หมื่นตัน กว่า 800 ล้านบาท พื้นที่ 2 ล้านไร่ แนะไทยขุดเหมืองปุ๋ยโปแตชอีสาน แลกยูเรีย/ ส่งขายต่างประเทศ ใช้หนี้ 5.5 ล้านล้าน เครือข่าย แนะ ต้นฝนจ่ายเป็นเงิน โอนสิทธิ์ให้สถาบันแทน ส่วนปุ๋ยปลายฝนประมูลตาม ทีโออาร์ กยท.

สืบเนื่องจาก กรณี เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2565 นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เผยว่า ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันปุ๋ยเคมีขาดแคลนอย่างหนักและราคาปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่ออาชีพสายเกษตรกรรมทุกภาคส่วนไม่เฉพาะแต่พืชยางพาราเท่านั้น และอาจกระทบต่อปริมาณผลผลิตยางของเกษตรกร

ณกรณ์ ตรรกวิรพัท

 

“ทาง กยท. ได้มีมาตรการเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาในเรื่องดังกล่าว โดยการปรับลดสัดส่วนการใช้ปุ๋ยเคมีและเพิ่มปริมาณการใช้ปุ๋ยอินทรี และจัดหาปุ๋ยให้กับเกษตรกรโดยตรงแทนการจ่ายเงินให้เกษตรกรไปซื้อปุ๋ยที่มีราคาสูงในขณะนี้ ซึ่งเป็นการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรในการลดต้นทุนการปลูกยางควบคู่กับการช่วยลดปัญหาการค้าปุ๋ยปลอมที่เกิดขึ้นได้ “

 

ผู้ว่าการ กล่าวเพิ่มเติมว่า กยท. เร่งจัดหาปุ๋ยให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางที่ได้รับการสนับสนุนปลูกแทนในปีนี้และยืนยันว่าทันต่อฤดูกาลใส่ปุ๋ยในรอบฤดูปลูก (พ.ค. – ส.ค.) อย่างแน่นอน ทั้งนี้ กยท. ไม่นิ่งนอนใจและเชื่อมั่นว่าสามารถจัดสรรปุ๋ยให้เกษตรกรชาวสวนยางได้ โดยไม่กระทบต่อผลผลิตยาง

 

แหล่งข่าว กล่าวว่า กยท.เปิดประมูลปุ๋ยเคมี ร่วม 1 หมื่นตัน และปุ๋ยอินทรีย์กว่า 7 หมื่นตัน รวมเป็น 8 หมื่นตันเศษ ในล็อตแรกกว่า 800 ล้านบาท  รวม 2 ล็อต (รวมปลายฝน ปริมาณใช้ปุ๋ยเคมี-อินทรีย์ เท่ากัน ) จะต้องใช้เงินกว่า 1,600 ล้านบาท ในพื้นที่ 2 ล้านไร่ สวนยางปลูกแทนคาด กยท. เตรียมประกาศทีโออาร์ในเร็วๆ นี้ พิจารณาตามกฎหมายแล้วไม่ทัน

 

แต่เมื่อ กยท.ร้องขอ ในที่ประชุม บอร์ด กยท.ก็จำเป็นต้องมีมติให้ทำและเชื่อมั่นว่าจะแก้วิกฤติทำให้พี่น้องชาวสวนยางมีปุ๋ยใช้ ราคาผันผวนก็มีปัญหาจริง ถ้าหาได้ก็ลองดู แต่คาดว่า กยท.คงไม่สามารถจัดหาได้ทันตามเวลา มติบอร์ดก็เปิดช่องไว้ว่าถ้าจัดหาไม่ทันตามเวลาก็ให้จ่ายเงินตรงกับเกษตรกรเช่นในอดีต 2 ปีที่ผ่านมา

 

อัพเดท

รับมือวิกฤตปุ๋ยแพง-ขาดแคลน "กยท." ปรับสูตรเพิ่มปุ๋ยอินทรีย์ลดใช้ปุ๋ยเคมี

 

เขศักดิ์ สุดสวาท

 

ด้าน นายเขศักดิ์ สุดสวาท เลขานุการเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางระดับประเทศไทย กล่าวถึง ประเด็นของปุ๋ยปลูกแทนปี 2565 ทางเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางระดับประเทศได้มีมติขอให้การยางแห่งประเทศไทยจัดหาปุ๋ยคุณภาพดีราคาถูกเพื่อแจกจ่ายให้กับเกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการแต่เนื่องจากสภาวะปีนี้ปัญหาราคาปุ๋ยเคมีราคาสูงมากทำให้ เกษตรกรอาจจะได้ปุ๋ยน้อยลงตามจำนวนที่เคยได้รับ

 

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเมื่อ กยท.ได้เปลี่ยนผู้บริหารบอร์ดการยางคนใหม่ทำให้การจัดหาปุ๋ยตามวิธีเดิมนั้นอาจจะกระทำไม่ได้ เนื่องจากมีการท้วงติงจากฝ่ายกฎหมายว่าไม่สามารถที่จะทำต่อเนื่องเหมือนปีที่แล้วได้ จึงทำให้การยางแห่งประเทศไทยจะต้องมีการจัดซื้อจัดจ้างจากส่วนกลางแทนที่จะกระจายไป ตามเขตต่างๆเหมือนปีที่ผ่านมาหรือไม่ก็เป็นการโอนสิทธิ์ผ่านสถาบันให้เกษตรกรไปรับปุ๋ยจากสถาบันต่างๆ ในเขตเพื่อที่จะเป็นการบรรเทาและส่งปุ๋ยให้ทันตามฤดูกาล

 

เมื่อเป็นเช่นนั้นทางเครือข่ายฯ ก็ไม่นิ่งนอนใจก็มีการสอบถามไปอย่างผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทยได้รับคำชี้แจงว่า ทางการยางเองก็อยากจะให้มีการแจกจ่ายปุ๋ยไปให้เกษตรกรให้ทันตามฤดูกาลก่อนฝนและปลายฝนแต่เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนนโยบายก็เลยต้องทำตามระเบียบของ คณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย ฉะนั้นเมื่อเกษตรกรได้รับความเดือดร้อนก็ขอให้ร้องเรียน มาทางเครือข่ายฯการยางระดับประเทศ

 

 

“เราเห็นว่าเมื่อการยางแห่งประเทศไทยประสงค์ที่จะมีการจัดซื้อจัดจ้างจากส่วนกลางทั้งประเทศ เราก็พยายามที่จะพบกันครึ่งทางและรอการดำเนินการ ในปีนี้ฝนมาเร็วก่อนกำหนดแต่ชาวเกษตรกรก็ยังหวังว่าจะได้รับการแจกจ่ายปุ๋ยให้ทันตามระยะเวลา  แต่หากเมื่อการยางแห่งประเทศไทย ทำประกาศทีโออาร์ไปเสร็จแล้ว  ไม่สามารถที่จะจ่ายปุ๋ยได้ให้ทันฤดูกาลต้นฝนของให้ผู้มีอำนาจจ่ายเป็นเงินและโอนสิทธิ์ให้สถาบันแทน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ส่วนปุ๋ยปลายฝนอาจใช้วิธีประมูลตาม ทีโออาร์ ชึ่งเป็นการพบกันครึ่งทาง”

 

ดร.อุทัย สอนหลักทรัพย์

 

ด้าน ดร.อุทัย สอนหลักทรัพย์ นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) กล่าวว่า ประเทศไทยมีเหมืองโปแตช ในจังหวัดอีสาน หลายจังหวัด อาทิ สกลนคร ทำไม่ขุดมาขายต่างประเทศอาจจะได้เงินคืนมาสัก กว่า 5.5 ล้านล้านบาท จากวงเงินกู้ 10 ล้านล้าน  

 

หรือนำไปแลกยูเรีย หรือ ปุ๋ยฟอสเฟต กับประเทศต่างๆ ก็ได้ ไม่ต้องคิดมาก คิดง่ายๆ เลย ขออย่างเดียวอย่าไปสัมปทานแบบน้ำมัน หรือให้รัฐวิสาหกิจมาทำ อย่าโกง คอรัปชั่น นายทุนกินหมด เพราะโกงปุ๋ยก็เจ๊งอีก ทำไม สปป.ลาว ทำได้ ที่สำคัญโปแตชคุณภาพติดอันดับ 1  ดีที่สุดในโลก

 

“ผมถามสั้น กยท.ทำไมเพิ่งตื่น เพราะธรรมดา เดือนเมษายน ต้องเตรียมจ่ายปุ๋ยแล้ว ไทม์ไลน์จะต้องจัดประมูลตั้งแต่เดือนมกราคม แล้วตอนนี้มิถุนายนแล้ว จะไปใส่ตอนไหน”