นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า กรมได้เพิ่มกิจกรรมส่งเสริมและผลักดันการส่งออกสินค้าไทยไปยังประเทศต่าง ๆ ล่าสุดกรมฯ ได้ร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงไนโรบี และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา จัดทำโครงการส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับแอฟริกาตะวันออก ปี 2565 โดยนำนักธุรกิจจาก 5 ประเทศในแอฟริกาตะวันออก ได้แก่ เคนยา แทนซาเนีย ยูกานดา เอธิโอเปีย และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก
ทั้งนี้ มีสินค้าเป้าหมาย ได้แก่ อาหาร อะไหล่รถยนต์ เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ ยาและเครื่องมือทางการแพทย์ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เครื่องจักรทางการเกษตร และผลิตภัณฑ์ยาง โดยได้กำหนดจัดให้มีการเจรจาจับคู่ธุรกิจกับผู้ผลิต ผู้ส่งออก และผู้ประกอบการ SMEs ของไทย จำนวน 78 ราย
ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากจากการจับคู่เจรจาธุรกิจ96 คู่ เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2565 ซึ่งผลเจรจาการค้า มีมูลค่าซื้อขายทันที จำนวน 51.8 ล้านบาท และคาดว่าจะมีการมูลค่าซื้อขายภายใน 1 ปี จำนวน 63.35 ล้านบาท รวมมูลค่าทั้งสิ้น จำนวน 115.15 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน กรมฯ ได้ใช้โอกาสนี้ นำเสนอข้อมูลแนะนำตลาดและสินค้าศักยภาพในแอฟริกาตะวันออก โดยคณะผู้แทนการค้าจากแอฟริกาตะวันออก เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยได้รับทราบข้อมูลต่าง ๆ เช่น ศักยภาพของตลาดในแต่ละประเทศ พฤติกรรมผู้บริโภค รูปแบบสินค้าที่ต้องการ คู่แข่งสำคัญในตลาดกับสินค้าไทย เป็นต้น และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทย ได้ขอรับคำปรึกษาจากทูตพาณิชย์ เพื่อขอทราบแนวโน้มตลาด โอกาสการส่งออกในตลาดแอฟริกาตะวันออก
“สาขาธุรกิจที่ไทยต้องการขยายตลาดในอนาคต เช่น เศรษฐกิจหมุนเวียน (BCG) การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ และอุตสาหกรรมทางการเกษตร ช่วยเพิ่มโอกาสในการส่งออกสินค้าศักยภาพของไทย เช่น อะไหล่รถยนต์ เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องจักรทางการเกษตร ยาและเครื่องมือทางการแพทย์ และจะช่วยเพิ่มโอกาสขยายตลาดการส่งออกในประเทศที่ไทยยังมีการส่งออกมาน้อย เช่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ยูกานดา แทนซาเนีย และเอธิโอเปีย รวมทั้งได้รับรู้ถึงศักยภาพในการค้าการลงทุนในภูมิภาคแอฟริกาตะวันออกมากขึ้น”
ด้าน นายณัฐพงศ์ เสนาณรงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงไนโรบี สาธารญรัฐเคนยา กล่าวว่า ภูมิภาคแอฟริกาตะวันออก เป็นตลาดใหม่ที่นักธุรกิจไทยยังมีความรู้จักและเข้าใจในข้อมูลต่าง ๆ ค่อนข้างจำกัด เช่น การทำการตลาด การหาสินค้าที่มีศักยภาพและเหมาะสม วิธีการส่งออกและนำเข้าสินค้า พฤติกรรมผู้บริโภค เป็นต้น เนื่องจากยังไม่ค่อยมีการแลกเปลี่ยนคณะเดินทางระหว่างกัน ทั้งในระดับภาครัฐและเอกชนมากนัก
และไม่สามารถจัดคณะผู้แทนการค้าในช่วงระยะเวลา 2 ปี ที่ผ่านมา อันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และในด้านการค้า ก็มีปัญหาด้านความน่าเชื่อถือในการทำธุรกิจระหว่างกัน การหลอกลวงการขายและนำเข้าสินค้า (Trade Scam) อยู่บ่อยครั้ง รวมไปถึงความน่าเชื่อถือในระบบการชำระเงิน ทำให้ภูมิภาคแอฟริกาตะวันออกเป็นตลาดที่ผู้ประกอบการไทยให้ความสนใจที่จะทำการค้า ทั้งการส่งออก นำเข้า หรือการเข้ามาลงทุนค่อนข้างน้อย กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจึงได้จัดกิจกรรมเพื่อเพิ่มโอกาสในการขยายตลาดเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ภูมิภาคแอฟริกาตะวันออก ถือเป็นแหล่งนำเข้าวัตถุดิบที่สำคัญในการผลิตสินค้าหลายชนิด เช่น ทองแดง อัญมณี โคบอล ทองคำ ดีบุก ชา กาแฟ เป็นต้น ซึ่งไทยสามารถพิจารณาเป็นทางเลือกในการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อใช้ในการผลิตสินค้าได้ในอนาคต โดยเฉพาะแร่ทองแดง และโคบอล ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเป็นสินค้าที่จะมีนัยสำคัญต่อภาคการผลิตรถไฟฟ้าของไทยในอนาคต และปัจจุบัน หลายประเทศในแอฟริกาตะวันออก ที่เคยพึ่งพาการนำเข้าจากจีน เช่น เคนยา ที่มีการนำเข้ากว่า 60% ก็ประสบปัญหาจีนส่งมอบสินค้าไม่ได้ตามปกติ จึงต้องหาแหล่งนำเข้าทดแทน รวมทั้งแหล่งนำเข้าเดิม เช่น รัสเซีย ยูเครน มีปัญหา จึงต้องหาแหล่งนำเข้าใหม่