กรมสรรพสามิต ได้ออกประกาศประกวดราคาซื้อสารมาร์คเกอร์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 จำนวน 2 แสนลิตร วงเงิน 120 ล้านบาท ใช้ผสมในน้ำมันดีเซลส่งออกและน้ำมันประมง (น้ำมันเขียว) เพื่อป้องกันการลักลอบน้ำมันที่ไม่เสียภาษีอย่างถูกต้องเข้ามาจำหน่ายในประเทศ พร้อมทั้งเครื่องตรวจวัดปริมาณสารมาร์คเกอร์ไม่น้อยกว่า 180 เครื่อง โดยให้ยื่นข้อเสนอและราคาทางระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2565 ซึ่งมีผู้ยื่นข้อเสนอและราคาจำนวน 2 ราย และจะพิจารณาผู้ที่ชนะการประมูลให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้ เพื่อนำสารมาร์คเกอร์ไปใช้ในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ต่อไป
ระหว่างนี้มีผู้มีส่วนได้เสีย ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนไปยังผู้ตรวจการแผ่นดิน และกรมบัญชีกลาง เพื่อขอความเป็นธรรมในการประกวดราคาซื้อสารมาร์คเกอร์ดังกล่าว เนื่องจากทีโออาร์ที่กำหนดมานั้น มีการเปลี่ยนแปลงไปจากของเดิมที่ใช้กันมาไม่ต่ำกว่า 10 ปี โดยกำหนดปริมาณความเข้มข้นของสารมาร์คเกอร์ในการผสมในน้ำมันดีเซลลงเหลือ 20 มิลลิกรัมต่อลิตร (พีพีพเอ็ม) และการตรวจวิเคราะห์หาสารมาร์คเกอร์ไม่ใช้กระบวนการทางเคมี และลดขั้นตอนการตรวจสอบ
อีกทั้ง การกำหนดราคากลางสูงกว่าเดิม 2 เท่า จากที่เคยประกวดราคาจัดซื้อ 4.5 แสนกิโลกรัม ใช้เงิน 129 ล้านบาท แต่ครั้งนี้จัดซื้อจำนวน 2 แสนกิโลกรัม ใช้เงิน 120 ล้านบาท ประกอบกับราคากลางที่กำหนดมานั้น ไม่เป็นไปตามระเบียบกรมบัญชีกลางกำหนด ที่จะต้องไปตรวจสอบหรือกำหนดราคาโดยคณะกรรมการ 6 คน แต่ครั้งนี้กำหนดเพียง 1 คน และไม่เป็นนักวิทยาศาสตร์ชำนาญการ รวมทั้งเปิดช่องให้ผู้ที่ไม่ได้เป็นผู้ค้าขายเคมีภัณฑ์เข้าร่วมเสนอราคาได้ จากเดิมที่มีผู้ผลิตและผู้นำเข้าสารมาร์คเกอร์อยู่จำนวน 3 ราย
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การลดปริมาณผสมสารมาร์คเกอร์ในน้ำมันดีเซลลงเหลือ 20 พีพีเอ็ม โดยไม่ใช้สารเคมีในการตรวจวิเคราะห์หาสารมาร์คเกอร์นั้น ได้สร้างความกังวลให้กับผู้ค้าน้ำมันในประเทศ เนื่องจากเกรงว่าความเข้มข้นของสารมาร์คเกอร์ที่เติมไปนั้นจะเบาบางจนเครื่องตรวจวัดปริมาณหาสารมาร์คเกอร์ไม่สามารถตรวจวัดได้ เพราะเป็นวิธีใหม่ที่เพิ่มเริ่มนำมาปฏิบัติใช้ เกรงว่าเมื่อส่งออกน้ำมันดีเซลออกไปแล้ว หากมีการวกกลับเข้ามาในประเทศ จะทำให้ไม่สามารถตรวจหาสารมาร์คเกอร์เจอจากน้ำมันดีเซลส่งออกที่ได้รับการยกเว้นภาษีสรรพสามิตได้ ส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของประเทศ
ทั้งนี้ แม้ว่าปัจจุบันภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลจะจัดเก็บเพียง 1.34 บาทต่อลิตรก็ตาม แต่เมื่อรัฐบาลกลับมาจัดเก็บภาษีเต็มที่ 5.99 บาทต่อลิตร หากวิธีการตรวจหาสารมาร์คเกอร์ที่ไม่รัดกุมพอ ก็จะเปิดช่องหรือจูงใจให้มีการลักลอบน้ำมันดีเซลที่ส่งออกทั้งทางบกและทางทะเลเข้ามามากขึ้น ซึ่งในปีงบประมาณ 2564 มีการส่งออกน้ำมันดีเซลไปทางทะเลราว 3,828 ล้านลิตร และส่งออกทางบกโดยรถยนต์ 863ล้านลิตร
แหล่งข่าวจากกรมสรรพสามิตระบุว่า สาเหตุที่มีการยกเลิกทีโออาร์ในการจัดซื้อสารมาร์คเกอร์แบบเดิม เนื่องจากพบว่า มีการผูกขาดการจัดซื้อจากเจ้าเดิมมายาวนานเป็น 10 ปี กระบวนการไม่โปร่งใสและยังไม่มีประสิทธิภาพที่เพียงพอ เมื่อเทียบกับเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เปลี่ยนไปมาก ขณะเดียวกันหลังจากตรวจสอบปริมาณสต๊อกสารมาร์คเกอร์ที่มีอยู่พบว่า สามารถใช้ได้ไปอีกราว 1 ปีครึ่ง ในปี 2564 จึงไม่ได้จัดซื้อสารมาร์กเกอร์เลย เพราะยังสามารถใช้มาได้ถึงกลางปี 2565
ดังนั้น ในการจัดซื้อสารมาร์คเกอร์รอบใหม่ จึงได้เพิ่มเทคนิคเข้าไปทำให้ได้สารมาร์คเกอร์ที่มีคุณภาพสูงขึ้นกว่าเดิมสามารถใช้ในปริมาณที่น้อยลง ทำให้สามารถลดปริมาณการเติมสารมาร์คเกอร์จากเดิม 40 มิลลิกรัมต่อลิตรเหลือเพียง 20 มิลลิกรัมต่อลิตรได้ หรือในระหว่างนี้ไม่ใช้เลยก็ได้ เพราะไม่ได้จัดเก็บภาษีดีเซล ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นดีเซลที่ใช้ในประเทศ หรือดีเซลเพื่อการส่งออก อัตราภาษีคือ 0% ตามมาตรการของรัฐบาล เพื่อบรรเทาภาระประชาชนจากราคาน้ำมันดีเซลที่เพิ่มขึ้น
“ด้วยคุณภาพสารที่ดีขึ้นทำให้จำนวนที่สั่งซื้อ 2 แสนกิโลกรัม ต้องใช้งบประมาณ 120 ล้านบาท ซึ่งดูเหมือนจะแพง เพราะที่ผ่านมาจะซื้อ 4.5 แสนกิโลกรัม ใช้งบประมาณ 129 ล้านบาท แต่หากเทียบประมาณการใช้ต่อยูนิตจะถูกลงกว่าเดิมมากจากคุณภาพสารที่ดีขึ้น”
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3801 วันที่ 17 - 20 กรกฎาคม 2565