(16 ก.ค.65) นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจจุดทำการค้า จำนวน 5 จุด ในพื้นที่เขตบางซื่อ โดยมี นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ นายโกศล สุนทรพฤกษ์ ผู้อำนวยการเขตบางซื่อ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักเทศกิจ และสำนักงานเขตบางซื่อ ร่วมลงพื้นที่และรายงานข้อมูล ว่า ในพื้นที่เขตบางซื่อ เมื่อปี 2548 มีจุดทำการค้า จำนวน 11 จุด มีผู้ค้าประมาณ 319 ราย
ปัจจุบันในปี 2565 จุดทำการค้าเหลืออยู่ 5 จุด มีผู้ค้ารวมทั้งสิ้น 171 ราย ประกอบไปด้วย จุดที่ 1 ตลาดประจวบบางซื่อ ซอยข้างโรงหนัง ถึงอาคารเลขที่ 456 มีผู้ค้า 46 ราย จุดที่ 2 ตลาดใต้สะพานสูง ถนนเตชะวณิช อาคารศูนย์เยาวชน 796 ถึงหน้าอาคารเลขที่ 788 มีผู้ค้า 48 ราย จุดที่ 3 ตลาดมณีพิมาน ถนนประชาชื่น หน้าอาคารเลขที่ 2/6 ถึงอาคารเลขที่ 7/7 มีผู้ค้า 16 ราย จุดที่ 4 หน้าตลาดบางซ่อน ถนนกรุงเทพ-นนทบุรี อาคารเลขที่ 965/3 ถึงอาคารเลขที่ 965/6 มีผู้ค้า 26 ราย และจุดที่ 5 ถนนกรุงเทพ-นนทบุรี แบ่งเป็นฝั่งขาเข้า หน้าอาคารเลขที่ 169 ถึงหน้าอาคารเลขที่ 189 (บุญเหลือ) มีผู้ค้า 12 ราย และฝั่งขาออก หน้าอาคารเลขที่ 196/21 ถึงหน้าอาคารเลขที่ 44/3 (มณีกรุงเทพ-นนทบุรี) มีผู้ค้า 23 ราย
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวต่อไปว่า จากการลงพื้นที่ตรวจจุดทำการค้าร่วมกับผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ ผู้อำนวยการเขตบางซื่อ พบว่ามีปัญหาในเรื่องการจัดระเบียบ ผู้ค้าบางรายมีชื่ออยู่ในบัญชีตามจุดทำการค้า แต่ไปตั้งวางขายของอยู่นอกจุดทำการค้า รวมถึงผู้ค้าบางรายยังยึดติดกับจุดที่เคยค้าขายมานาน โดยได้มอบหมายให้สำนักงานเขตบางซื่อพูดคุยสร้างความเข้าใจกับผู้ค้า เพื่อให้มาค้าขายอยู่ในจุดที่กรุงเทพมหานครจัดระเบียบไว้ ซึ่งเป็นจุดใกล้เคียงกัน
อีกส่วนหนึ่งคือบริเวณทางแยกหรือทางข้าม ตามหลักแล้วจะต้องเว้นระยะไว้ประมาณ 3 เมตร แต่พบว่ามีผู้ค้าไปตั้งวางขายอยู่บริเวณดังกล่าว ส่งผลให้ประชาชนผู้ใช้ทางเท้าเกิดความไม่ปลอดภัย โดยให้เจ้าหน้าที่เทศกิจกำชับผู้ค้าที่มีชื่ออยู่ในบัญชี ให้ทำการค้าในจุดที่กำหนดไว้ตามที่เสนอไปยังกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) เท่านั้น ซึ่งเป็นจุดทำการค้าที่สำนักงานเขตได้กำหนดไว้แล้ว
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ลงพื้นที่ตรวจจุดทำการค้าในพื้นที่เขตคลองสาน เขตธนบุรี เขตบางกอกน้อย เขตดุสิต และเขตบางซื่อ โดยรวมแล้วผู้ค้าส่วนใหญ่ประมาณ 70% ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี อยู่ในระเบียบกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้ แต่ยังมีผู้ค้าบางรายไม่ปฏิบัติตามระเบียบที่กำหนด เช่น ผู้ค้าในพื้นที่เขตดุสิต พบว่ามีการตั้งวางของขายตรงทางข้าม ทำให้ประชาชนข้ามถนนมาแล้ว ต้องเจอกับแผงค้าที่ตั้งกีดขวางทาง รวมถึงผู้ค้าผลไม้ที่ตั้งวางขายบริเวณใกล้ทางแยก ส่งผลทำให้เกิดปัญหาด้านการจราจรและความไม่ปลอดภัย โดยเฉพาะรถโดยสารประทำทางซึ่งมีความยาวจะตีวงเลี้ยวลำบาก เนื่องจากตัวรถจะไปติดกับร่มที่ยื่นเข้ามาในถนน ส่วนเรื่องร่มจะเห็นได้ว่าเป็นร่มเก่าและบางส่วนยื่นรุกล้ำเข้าไปในพื้นผิวจราจร โดยจะหารือกันถึงรูปแบบลักษณะของร่ม เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายแก่ผู้ใช้รถใช้ถนนทั้งรถยนต์ส่วนตัวและรถโดยสารประจำทาง
“เรื่องของทางเท้าเป็นเรื่องที่กรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะสำนักงานเขตต้องดูแล เนื่องจากเป็นพื้นที่สาธารณะ เมื่อผู้ค้าได้รับการยกเว้นให้ใช้พื้นที่ทำการค้าได้แล้ว จะต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับที่กำหนด ที่สำคัญควรมีการเอื้อกันระหว่างผู้ค้ากับประชาชนที่มาจับจ่ายใช้สอยหรือแวะซื้ออาหาร และประชาชนผู้ใช้ทางเท้าเดินทางสัญจรที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก การที่เรามีจุดทำการค้าและมีอาหารที่ราคาถูก จะช่วยประชาชนแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย กระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นการร่วมมือกันระหว่างผู้ค้าจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้ เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย
ในส่วนของเทศกิจจะต้องทำงานอย่างตรงไปตรงมาและโปร่งใส อย่าให้ประชาชนเกิดข้อครหาว่าปฏิบัติไม่ถูกต้อง อย่างไรก็ตามหากมีเรื่องร้องเรียนจะให้สำนักเทศกิจดำเนินการตรวจสอบโดยตรง ที่ผ่านมาเมื่อมีเรื่องร้องเรียนจะส่งให้ทางสำนักงานเขตในพื้นที่เข้าตรวจสอบ ซึ่งข้อเท็จจริงแล้วจะเป็นการแสดงถึงความไม่โปร่งใส การที่ให้สำนักเทศกิจหรือผู้ตรวจราชการกรุงเทพมหานครเข้ามาตรวจสอบเรื่องนี้ด้วย จะแสดงให้ถึงความโปร่งใสและจริงใจในการแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างแท้จริง” รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ กล่าวในตอนท้าย