วันนี้(24 ก.ค.65) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคสร้างอนาคตไทย ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า ตั้งคณะกรรมการแก้ไขเศรษฐกิจ การปรับลดของราคาพลังงาน แนวโน้มการผ่อนคลายทางเศรษฐกิจ ? ถึงเวลา “เกาให้ถูกที่คัน” เร่งแก้ปัญหาอย่างจริงจัง !
เก็บมาฝากเรื่องปากท้อง สัปดาห์นี้ก่อนอื่นผมต้องขอบคุณรัฐบาลที่ได้มีการตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจฯ ขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาราคาพลังงานผันผวนและการขาดแคลนพลังงานที่กำลังจะเกิดขึ้น
ในปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาผมเองได้มีการเรียกร้องให้มีแก้ปัญหาราคาน้ำมันแพงแบบบูรณาการ และเสนอยกเรื่องน้ำมันเป็นวาระแห่งชาติ หวังใจเป็นอย่างยิ่งครับ ว่า คณะกรรมการชุดนี้จะสามารถเข้ามาเพื่อบูรณาการจากทุกภาคส่วนเข้ามาเป็น คลังสมอง แก้ไขปัญหาและผลัก GDP ให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นได้
อย่างที่ได้บอกไว้ว่า การแก้ไขปัญหาปากท้องต้องเอาจริงเอาจังทำให้เป็นวาระที่นายกฯ ลงมาบัญชาการเอง
ผมจะคอยจับตาดูการทำงานของคณะกรรมการฯ ชุดนี้อย่างใกล้ชิด และจะนำเรียนพี่น้องประชาชนทุกท่านให้ทราบในอนาคตต่อไป!!!
แต่ที่น่ายินดีในสัปดาห์นี้และมีท่าจะมีทิศทางคลายตัวมากยิ่งขึ้น คงเป็นสถานการณ์พลังงานตอนนี้ครับ สัปดาห์นี้ราคาพลังงานอย่างน้ำมันมีการปรับตัวลดลง
ทั้งราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) และราคาน้ำมันดิบดูไบ
สาเหตุหลักๆ มาจากราคาน้ำมันโลกที่เริ่มปรับตัวลงมา ด้วยปัจจัยอย่าง เช่น
การเพิ่มอัตราดอกเบี้ย 0.5% ของ ECB หรือธนาคารกลางยุโรป ในวันที่ 22 ก.ค. ซึ่งถือการเพิ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบทศวรรษเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อในภูมิภาค อันจะนำไปสู่การถดถอยทางเศรษฐกิจและความต้องการการใช้น้ำมันปรับลดลงต่อไป
อีกอย่างหนึ่งที่จะต้องจับตามอง คือ การประชุม FED หรือ ธนาคารกลางสหรัฐฯ ใน 26-27 ก.ค. ที่จะถึงนี้ ว่าจะมีนโยบายปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรือไม่ หลังเงินเฟ้อสหรัฐฯ พุ่งสูง 9.1%
เช่นเดียวกับก๊าซธรรมชาติที่ราคาก็ลดลงครับ ทั้งในตลาดเอเชียแปซิฟิค หรือ ยุโรป
อย่างที่ยุโรปนี่ลดติดต่อกันเป็นวันที่ 5 หลังจากแก๊ซพรอม (Gazprom) รัฐวิสาหกิจรัสเซียกลับมาส่งออกก๊าซทางท่อน็อดสตรีม 1 (Nord Stream 1) ในวันที่ 21 ก.ค. 65 ตามปกติหลังเสร็จสิ้นการปิดซ่อมบำรุงประจำปี
ประกอบกับมีข่าวว่าสหรัฐฯ จะส่งออก LNG มายังเอเชียเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยลดความตึงตัวของราคาก๊าซธรรมชาติในช่วงนี้ได้ลงบ้างพอสมควร
สถานการณ์ทั้งหมดนี้ต้องติดตามกันต่อไปว่า ยุโรปจะได้รับการส่งมอบและมีการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียอย่างไรต่อไป
ส่วนค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลงเทียบกับค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งตัวขึ้นนั้น แม้จะเป็นผลดีต่อการส่งออกในบ้านเราตามที่หลายคนคิด แต่ข้อควรพิจารณาอีกนิดคือ อัตราค่าเงินบ้านเราเมื่อเทียบกับหลายๆ ประเทศ ยังแข็งค่ากว่ามาก ฉะนั้นนัยยะนี้ การส่งออกไปในบางประเทศที่ค่าเงินเขาอ่อนกว่าเราอาจไม่เป็นผลดีต่อเราเท่าไหร่นัก
อย่างคู่ค้าของไทย อย่าง ญี่ปุ่น และ EU พบว่า ค่าเงินบ้านบ้านเราเทียบกับเงินเยน แข็งค่าขึ้นกว่า 10% ขณะที่เงินบาทเทียบกับเงินยูโร แข็งค่าขึ้น 4.2% ซึ่งลักษณะแบบนี้เป็นการเทียบค่าเงินบาทกับค่าเงินของประเทศคู่ค้าและคู่แข่งของไทยซึ่งเรียกว่า ดัชนีค่าเงินบาทหรือ Nominal Effective Exchange Rate (NEER)
ส่วนวิกฤติที่คงต้องติดตามในเวลานี้ คือ สถานการณ์ในเมืองจีน และผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จะตามมา ทั้งการประกาศล็อกดาวน์ในเมืองสำคัญ ตามนโยบาย Zero COVID ของปธน. สีจิ้นผิง
และสถานการณ์ความเปราะบางในภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นภาคธุรกิจหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ที่ขับเคลื่อนราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมโดยตรง (industrial metal) และโดยอ้อมคือ การบริโภคภาคเอกชนที่ลดลงตามไปด้วย
โดยปัจจุบันราคาอสังหาริมทรัพย์ (China property price) เมื่อเทียบกับปีก่อนปรับตัวติดลบไปกว่า 3 % แล้ว ขณะที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (commodity prices) ก็ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องเช่น
สถานการณ์เช่นนี้อาจกระทบต่อสกุลเงินของประเทศในภูมิภาคอ่อนค่าลงตามไปด้วย โดยเฉพาะหากมีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจจีนมาก และสินค้าส่งออกไทยบางประเภทอาจชะลอตัวลง เนื่องจากมีการพึ่งพาภาคก่อสร้างจีนในบางส่วน เช่น สินค้าประเภทไม้, แร่อโลหะ, เหล็กแปรรูป เป็นต้น
ในภาวะการณ์เช่นนี้ มีทั้งศึกนอกและศึกใน ต้องเตรียมแก้และรับมือครับ ต้องเตรียมพร้อมและเท่าทันสถานกาณ์อย่างใกล้ชิด และหวังว่าเราจะเห็นทางออกในอนาคตจากความพยายามจากหลายๆ ภาคส่วนในตอนนี้ครับ