จับตา 27 ก.ค.นี้ รฟม.เปิดทางเอกชนยื่นข้อเสนอ “ประมูลสายสีส้ม” รอบ 2

26 ก.ค. 2565 | 08:17 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ก.ค. 2565 | 16:06 น.

รฟม.เปิดโอกาส 14 เอกชนยื่นข้อเสนอ ลุยประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม 1.4 แสนล้านบาท รอบ 2 ในวันที่ 27 ก.ค.นี้ ตั้งเกณฑ์เทคนิคเข้ม เล็งตอกเสาเข็ม ก.ย.นี้ คาดเปิดให้บริการธ.ค.70

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)  ได้ประกาศเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมคัดเลือกเป็นผู้ร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงิน 1.4 แสนล้านบาท และได้เปิดขายเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (Request for Proposal Documents: RFP) ตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม – 10 มิถุนายน 2565 นั้น โดยวันที่ 27 ก.ค. 2565 เวลา 9.00-15.00 น. ทางรฟม.ได้เปิดโอกาสให้เอกชนที่ซื้อซองประมูลสามารถยื่นข้อเสนอในวันเวลาดังกล่าวตามเดิม 

 

 


ทั้งนี้ตามแผน รฟม.ได้ปรับแผนการดำเนินงานโครงการฯโดยคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนภายในเดือน มี.ค.-ส.ค. 65 หลังจากนั้นจะเริ่มก่อสร้างโครงการภายในเดือน ก.ย. 65 และเปิดให้บริการโครงการส่วนตะวันออกภายในเดือน ส.ค. 68 และเปิดให้บริการโครงการส่วนตะวันตกภายในเดือน ธ.ค. 70 
 

สำหรับหลักเกณฑ์การประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) รอบ 2 นั้น ระบุว่า การกำหนดเกณฑ์ทีโออาร์มีการปรับคะแนนด้านเทคนิคทุกหัวข้อรวม อยู่ที่ 90% โดย รฟม. ได้กำหนดให้ผู้ยื่นข้อเสนอต้องมีประสบการณ์ในการบริหารจัดการก่อสร้างงานโยธา โดยมีสัญญาที่เป็นคู่สัญญาโดยตรงกับหน่วยงานของรัฐบาลไทยที่แล้วเสร็จภายในช่วงระยะเวลา 20 ปี ครบทั้ง 3 ประเภทตามที่กำหนด  ประสบการณ์ด้านงานโยธา 3 ประเภท ได้แก่ 1.  งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดินด้วยหัวเจาะ มูลค่าไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท 2. งานออกแบบและก่อสร้างสถานีใต้ดิน หรือสถานียกระดับของระบบขนส่งมวลชน มูลค่าไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท และ 3.งานออกแบบและก่อสร้างทางวิ่งพร้อมรางที่สาม แบบไม่ใช้หินโรยทาง มูลค่าไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท

 

 


นอกจากนี้พบว่าคะแนนด้านเทคนิคในแต่ละหัวข้อจะต้องได้ไม่น้อยกว่า 85% โดยปรับเพิ่มขึ้นจากการประมูลครั้งแรก ที่กำหนดไว้ไม่น้อยกว่า 80% และคะแนนด้านเทคนิครวมทุกหัวข้อจะต้องได้ไม่น้อยกว่า 90% โดยปรับเพิ่มขึ้นจากการประมูลครั้งแรก ที่กำหนดไว้ไม่น้อยกว่า 85%

ที่ผ่านมามีเอกชนที่สนใจติดต่อขอซื้อเอกสารประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม รวมจำนวนทั้งสิ้น 14 ราย ดังนี้


1. บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM)
2. บริษัท ซิโน–ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC
3. บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD
4. บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)หรือ บีทีเอส
5. บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) 
6. China Harbour Engineering Company Limited
 7. บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)

 

 


8. โตคิว คอนสตรัคชั่น คัมพานี ลิมิเต็ด
9. Incheon Transit Corporation
10. บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จํากัด (มหาชน)
11. บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) 
12. RH International (Singapore) Corporation PTE. LTD.
13. Kumagai Gumi Co., LTd. 
14. บริษัท ซีเมนต์ โมบิลิตี้ จำกัด