จากปากบิ๊กสภาอุตฯ เมียนมาเบรกจ่ายหนี้ต่างประเทศ กระทบไทยแค่ไหน?

31 ก.ค. 2565 | 06:34 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ก.ค. 2565 | 14:00 น.

เอกชนไทยตั้งรับคำสั่งรัฐบาลกลางเมียนมา สั่งระงับการชำระหนี้ต่างประเทศในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ ยืนยันภาคการค้าไม่กระทบมาก แต่ยอมรับมีผลต่อการลงทุนทางตรงไทยในเมียนมา สภาธุรกิจไทย-เมียนมา ชง กกร.ขอ 6 แบงก์พาณิชย์ช่วยรับชำระหนี้เป็นเงินจ๊าด

 

นายเกรียงไกร  เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า จากเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม  2565 ธนาคารกลางเมียนมา (CBM)ได้ออกคำสั่งให้บริษัทและผู้กู้ยืมเงินรายย่อยให้ระงับการชำระคืนหนี้เงินกู้ต่างประเทศในรูปดอลลาร์สหรัฐฯไว้ก่อน โดยธนาคารกลางเมียนมาส่งถึงธนาคารที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการให้ ซื้อขายเงินตราต่างประเทศระบุให้แบงก์และลูกค้าระงับการชำระดอกเบี้ยและเงินต้นที่กู้จากต่างประเทศ

 

คำสั่งดังกล่าวเป็นมาตรการปกป้องทุนสำรองเงินตราต่างประเทศที่ลดลง โดยปัจจุบันเมียนมามีทุนสำรองฯเพียง 7.7  พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มูลเหตุจากสถานการเศรษฐกิจของเมียนมาได้รับผลกระทบจากโควิด-19  จนถึงการเปลี่ยนแปลง การปกครอง อีกทั้งผลกระทบจากผลสงครามยูเครน-รัสเชีย ซึ่งทำให้เศรษฐกิจเมียนมาที่มีความเปราะบาง โดยสภาพของกระแสเงินสดในท้องตลาดที่ไม่อยู่ในสภาพที่คล่อง ส่งผลให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศลดน้อยลงอย่างมีนัยยะ

 

เกรียงไกร  เธียรนุกุล

 

 

จากปากบิ๊กสภาอุตฯ  เมียนมาเบรกจ่ายหนี้ต่างประเทศ กระทบไทยแค่ไหน?

 

อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2565 นายกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์ ประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมา ได้เป็นประธานการประชุมระดมความเห็น เรื่อง การปรับตัวของผู้ประกอบการจากผลกระทบการออกประกาศของรัฐบาล เมียนมาว่าด้วยการระงับชำระหนี้ต่างประเทศ ณ ห้องประชุมสภาอุตสาหกรรมฯ และผ่านทางระบบ ออนไลน์ โดยการระดมความเห็นครั้งนี้มีประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (เกรียงไกร เธียรนุกุล)เข้าร่วมรับฟังด้วย

 

โดยในช่วงต้นของการระดมความเห็น สภาธุรกิจไทย-เมียนมา ได้เรียนเชิญ นายธนวุฒิ นัยโกวิท ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ณ กรุงย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา เข้าร่วมให้ข้อมูลตาม ข้อเท็จจริงในสถานการณ์ในเมียนมา มีผู้ประกอบการเข้าร่วมกว่า 100 ราย รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ อาทิ บีโอไอ  และ หน่วยงานทางการเงิน ทั้ง EXIM BANK และธนาคารแห่งประเทศไทย สรุปผลการระดมความเห็นถึงผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทย โดยสรุปได้ดังนี้

 

ด้านการค้า ไทย – เมียนมา แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1.การค้าชายแดน พบว่า ไม่ได้ผลกระทบ และในทางกลับกัน เป็นผลบวกด้านการค้าชายแดนของไทย จะเติบโตขึ้น เนื่องจากนโยบายที่เมียนมาและไทยสามารถซื้อขายด้วยสกุลบาท-จ๊าดได้ ส่วนสินค้าที่จะมาทางจีนเข้าเมียนมานั้น แม้ว่า จะสามารถซื้อขายด้วยสกุล หยวน-จ๊าด ได้ แต่ด้วยสภาพแวดล้อม ปัจจุบันด่านชายแดนจีน-เมียนยังมีข้อติดขัด และเข้าออกไม่สะดวกจากเรื่องของมาตรการโควิดของจีนอยู่

 

2.การค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นการค้าแบบสากล ที่ซื้อขายด้วยดอลลาร์สหรัฐฯ แต่สัดส่วนการค้าในกลุ่มนี้ จะมีไม่สูงมากนัก ซึ่งในทางกลับกัน กลุ่มสินค้าที่เคยซื้อขายผ่านทางนี้ มีโอกาสที่จะปรับเปลี่ยนมาผ่านรูปแบบ การค้าชายแดนมากขึ้น

 

จากปากบิ๊กสภาอุตฯ  เมียนมาเบรกจ่ายหนี้ต่างประเทศ กระทบไทยแค่ไหน?

ด้านอุตสาหกรรมที่ไปลงทุนในเมียนมา แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

การลงทุนทางตรง (FDI) ในกลุ่มนี้ แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ 1.กลุ่มที่กู้เงินจากสถาบันการเงินในไทยเป็นเงินบาท ก็จะไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ 2. กลุ่มที่ไปกู้เงินจากสถาบันการเงินจากต่างประเทศ ที่เป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ กลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบซึ่งต้องติดตามแนวทางตามลำดับต่อไป

 

การลงทุนภายใน หมายถึง บริษัทที่ลงทุนในเมียนมาอยู่แล้ว และได้นำผลกำไรที่เกิดขึ้นมาลงทุนขยาย ธุรกิจต่อ กลุ่มนี้ก็จะไม่ได้รับผลกระทบใด

 

สำหรับข้อเสนอของสภาธุรกิจไทย-เมียนมา ที่จะเตรียมนำเสนอต่อคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) มี 3 เรื่องที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงิน ได้แก่

1. เสนอให้สถาบันทางการเงินของไทย พิจารณาออกมาตรการในการชะลอการชำระหนี้หรือให้ชำระเฉพาะ ดอกเบี้ยยกเว้นเงินต้น เป็นระยะเบื้องต้น 1 ปี

 

2. เสนอให้สถาบันทางการเงินของไทย พิจารณาหาสินเชื่อ (Soft loan) เพื่อมาช่วยเหลือและผ่อนคลาย ให้กับนักลงทุนไทย

3. เสนอให้สถาบันทางการเงินไทยในเมียนมา (ธนาคารพาณิชย์ ในเมียนมา 6 แห่ง) เข้ามาเป็นกลไกช่วยเหลือ ในการรับชำระหนี้เป็นเงินจ๊าดจากผู้ประกอบการ โดยมีความตกลงอัตราแลกเปลี่ยนจ๊าด – ดอลลาร์ร่วมกัน