จากธนาคารกลางเมียนมา(CBM) ได้ออกประกาศระงับการชำระหนี้ที่เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐฯโดยไม่มีกำหนดระยะเวลา สร้างความตื่นตระหนกในหมู่นักลงทุนต่างชาติในเมียนมา รวมถึงประเทศไทยที่เป็นคู่ค้าและนักลงทุนอันดับต้นๆ ในเมียนมานั้น
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2565 ทาง ส.อ.ท.ได้จัดประชุมเร่งด่วนในเบื้องต้นผ่านระบบซูม โดยได้เชิญตัวแทน 45 กลุ่มสมาชิกของ ส.อ.ท. สภาอุตสาหกรรมจังหวัดที่มีพรมแดนติดกับเมียนมาและมีด่านชายแดนค้าขายกัน ตัวแทนจากหน่วยราชการ และธนาคารที่เกี่ยวข้อง เช่น บีโอไอ EXIM BANK และธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นต้น ร่วมประชุมรวมกว่าร้อยคน มีนายกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์ ประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมา เป็นประธานการประชุมเพื่อระดมความคิดเห็นผลกระทบจากคำสั่งดังกล่าวของธนาคารกลางเมียนมา
ทั้งนี้ได้ข้อสรุปผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทย ดังนี้ ด้านการค้าไทย-เมียนมา แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม 1.การค้าชายแดน พบว่าไม่ได้รับผลกระทบมาก แต่ในทางกลับกันเป็นผลบวกต่อการค้าชายแดนไทย-เมียน (สัดส่วน 92% ของการค้าไทย-เมียนมาเป็นการค้าชายแดน) ที่จะเติบโตขึ้นเนื่องจากนโยบายที่เมียนมาและไทยสามารถซื้อขายด้วยสกุลบาท-จ๊าดได้ ซึ่งจะไม่เกี่ยวข้องกับคำสั่งของธนาคารกลางเมียนมา ส่วนสินค้าที่มาจากจีนเข้าเมียนมาแม้จะสามารถซื้อขายด้วยสกุลหยวน-จ๊าดได้ แต่ปัจจุบันด่านชายแดนจีน-เมียนยังติดขัดเข้า-ออกไม่สะดวก จากมาตรการโควิดของจีน
กลุ่มที่ 2.การค้าระหว่างประเทศทั่วไป (Normal Trade)ไทย-เมียนมา ที่การค้าขายมีการเปิดแอล/ซี ขนส่งทางเรือ หรือทางเครื่องบิน ที่ซื้อขายกันด้วยสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ กลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบ แต่สัดส่วนกลุ่มนี้มีไม่สูงมากนัก (สัดส่วน 8.36% ของการค้าไทย-เมียนมา) ซึ่งกลุ่มสินค้าที่ซื้อขายผ่านช่องทางนี้มีโอกาสจะปรับเปลี่ยนผ่านรูปแบบการค้าชายแดนมากขึ้น
“เมียนมาระงับการชำระหนี้ต่างประเทศที่เป็นเงินดอลลาร์ เพราะ 1.ทุนสำรองระหว่างประเทศเขาเหลือแค่ 7.7 พันล้านดอลลาร์ซึ่งน้อยมาก หากต้องไปชำระหนี้อาจทำให้การคลังเขาแย่ลง เงินทุนสำรองจะหมดไป และอาจทำให้เข้าสู่สถานการณ์คล้ายศรีลังกาได้ 2.ค่าเงินจ๊าดอ่อนค่าลงตามค่าเงินในภูมิภาค ตอนนี้ลดค่าลงไปแล้วประมาณ 30% หรือเกือบ 1 ใน 3 ถือว่าอันตราย และ 3.เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือ FDI ในเมียนมา ทั้งจากชาติตะวันตก สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ทยอยถอนออกจากปัญหาการเมืองในเมียนมา ทุนใหม่ก็ไม่มีเข้าไป ขายของไม่ได้ นักท่องเที่ยวช่วงโควิดก็ไม่มี ทำให้รายได้เงินต่างประเทศแทบไม่มี ดังนั้นเขาต้องรักษาสภาพตัวเองด้วยการชะลอการชำระหนี้ทั้งเงินต้น ดอกเบี้ยในรูปดอลลาร์”
ขณะผลสำรวจผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไทยที่ไปลงทุนในเมียนมา แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มได้แก่ 1.การลงทุนทางตรง (FDI) แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่ กลุ่มที่กู้เงินจากสถาบันการเงินไทยเป็นเงินบาท กลุ่มนี้ไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ ทั้งสิ้น ส่วนกลุ่มที่ไปกู้เงินจากสถาบันการเงินจากต่างประเทศที่เป็นสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ กลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบซึ่งต้องติดตามต่อไป กลุ่มที่ 2 การลงทุนภายใน หมายถึงบริษัทที่ลงทุนในเมียนมาอยู่แล้ว และได้นำผลกำไรที่เกิดขึ้นมาลงทุนขยายธุรกิจต่อ กลุ่มนี้ก็ไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ
ด้านนายกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์ ประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมา เผยว่า จากการค้าไทย-เมียนมาช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ยังขยายตัวได้ดี มียอดการค้ารวมกว่า 1.18 แสนล้านบาท (+32.75%) ซึ่งสัดส่วน 92% เป็นการค้าชายแดน ใช้เงินบาท-จ๊าดในการซื้อขาย คาดปีนี้การค้าไทย-เมียนมาจะทะลุถึง 2 แสนล้านบาทแน่นอน
อย่างไรก็ตามทางสภาธุรกิจฯ ได้เตรียมนำเสนอต่อคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยที่อาจได้รับผลกระทบจากคำสั่งของธนาคารกลางเมียนมาในครั้งนี้ ใน 3 เรื่องได้แก่ 1.เสนอให้สถาบันทางการเงินของไทยพิจารณาออกมาตรการในการชะลอการชำระหนี้ หรือให้ชำระเฉพาะดอกเบี้ยยกเว้นเงินต้น เป็นระยะเวลาเบื้องต้น 1 ปี
2.เสนอให้สถาบันการเงินของไทยพิจารณาหาสินเชื่อซอฟต์โลน เพื่อช่วยเหลือและผ่อนคลายให้กับนักลงทุนไทย และ 3.เสนอให้สถาบันการเงินไทยในเมียนมา (ธนาคารพาณิชย์ไทยในเมียนมา 6 แห่ง) เข้ามาเป็นกลไกช่วยเหลือในการรับชำระหนี้เป็นเงินจ๊าดจากผู้ประกอบการไทย โดยมีความตกลงอัตราแลกเปลี่ยนจ๊าด-ดอลลาร์ร่วมกัน
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 3804 วันที่ 28 – 30 กรกฎาคม 2565