ธนาคารกลางเมียนมา(CBM) มีคำสั่ง(13 ก.ค.) ให้บริษัทท้องถิ่น และผู้กู้ยืมเงินรายย่อย ระงับการจ่ายหนี้ ทั้งเงินต้น และดอกเบี้ยแก่เจ้าหนี้ต่างประเทศ เพื่อรักษาทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศของเมียนมาที่ลดลงต่อเนื่อง (ข้อมูลหนี้ต่างประเทศของเมียนมา ณ ธ.ค. 2563 อยู่ที่ 13,348 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทุนสำรอง ณ มี.ค. 2565 อยู่ที่ 7,705 ล้านดอลลาร์) รวมถึงเพื่อป้องกันเงินไหลออก และลดความผันผวนของค่าเงินจ๊าดที่ปัจจุบันลดลงมาอยู่ที่ 1,850 จ๊าดต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งหลายฝ่ายคาดจะส่งผลกระทบกับไทยที่เป็นคู่ค้าและนักลงทุนอันดับต้น ๆ ในเมียนมา
นายกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์ ประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมา เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า คำสั่งดังกล่าวมีผลกระทบต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(FDI) ซึ่งรวมทั้งนักลงทุนไทยในเมียนมา ที่มีการนำเข้า-ส่งออกสินค้าและวัตถุดิบผ่านทางท่าเรือ หรือเครื่องบินที่ต้องใช้สกุลดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นอัตราแลกเปลี่ยนหลักในการซื้อขายในรูปแบบปกติ (Normal Trade) ที่อาจหยุดชะงัก หรือชะลอตัว เพราะเกรงจะไม่ได้รับการชำระหนี้
อย่างไรก็ดีด้านการส่งออก-นำเข้า ไทย-เมียนมามองว่า ไม่กระทบมากนัก เพราะสัดส่วน 80% ของการค้าไทย-เมียนมาเป็นการค้าชายแดน ที่ล่าสุดรัฐบาลเมียนมาได้อนุญาตการซื้อขายโดยใช้เงินบาท-จ๊าด เริ่มตั้งแต่ 14 ธ.ค. 64 เป็นต้นมา ปัจจุบันมีธนาคารกสิกรไทยเป็นธนาคารไทยเพียงรายเดียวที่ได้รับอนุญาตในการทำธุรกิจทางการเงินในการซื้อขายสินค้าโดยใช้เงินบาท-จ๊าด จากทางการเมียนมา
“ในกลุ่มลงทุน FDI ทั้งไทยและเทศส่วนใหญ่จะกระทบแน่นอน เพราะทุกรายต้องทำเป็น Normal Trade ทั้งหมด และซื้อขายเป็นสกุลดอลลาร์ที่เขาให้หยุดพักการชำระหนี้ ซึ่งหากไม่มีรายได้จากเมียนมาค้ำจุนธุรกิจก็จะลำบาก ส่วนการค้าไทย-เมียนมา คาดไม่กระทบรุนแรง เพราะส่วนใหญ่เป็นการค้าชายแดน และใช้เงินบาท-จ๊าดในการค้าขาย”
แบนนำเข้ารถยนต์กระทบหนัก
ด้าน นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า จากที่ทางการเมียนมาได้ห้ามนำเข้ารถยนต์และสินค้าฟุ่มเฟือยตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา ล่าสุดมีคำสั่งให้บริษัทท้องถิ่น และผู้กู้ยืมเงินระงับการจ่ายหนี้ให้เจ้าหนี้ต่างประเทศ จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนของไทยไปเมียนมาแน่นอน ซึ่งจากยอดส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบของไทยไปเมียนมาช่วง 5 เดือนแรกปีนี้มูลค่า 69.02 ล้านดอลลาร์ มีความเสี่ยงการได้รับการชำระเงินค้าสินค้า รวมถึงทั้งปีนี้การส่งออกรถยนต์ฯไปเมียนมาจะลดลงแน่นอน (ปี 2564 ไทยส่งออกรถยนต์ และชิ้นส่วนไปเมียนมา 148.37 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)
ค้าชายแดนแม่สอดสลบ
นายบรรพต ก่อเกียรติเจริญ นักธุรกิจค้าชายแดนไทย-เมียนมา และที่ปรึกษาหอการค้าจังหวัดตาก กล่าวว่า คำสั่งธนาคารกลางเมียนมา ขณะนี้ได้ส่งผลกระทบกับตลาดการค้าชายแดนไทย-เมียนมา ด้านด่านแม่สอด จ.ตาก กับเมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง สหภาพเมียนมา และคาดว่าจะหนักขึ้น ต่อเนื่องจากภาวะเงินเฟ้อที่เริ่มพุ่งสูงขึ้น สินค้าแพงขึ้น
ที่สำคัญคืออัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินจ๊าดกับเงินบาทไทยผันผวนหนัก ค่าเงินที่ซื้อขายกันในตลาดมืดกับตลาดทางการแตกต่างกันมา จนทำให้แทบจะทำการค้าไม่ได้ จากเมียนมากำลังขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ เงินดอลลาร์แทบจะหมดจากคลัง จึงต้องการเงินดอลลาร์สหรัฐฯไว้ไปชำระหนี้ต่างประเทศ รวมทั้งการนำไปซื้อน้ำมันมาใช้ภายในประเทศ ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่กำลังเผชิญคล้ายกับประเทศศรีลังกา และรัฐบาลเมียนมาเริ่มบีบให้ต้องใช้เงินดอลลาร์สหรัฐฯทำการค้าตามแนวชายแดน
ระนองลุ้นคำสั่งซื้อรอบใหม่
ด้านตลาดค้าชายแดน “ระนอง-เกาะสอง” นายนิตย์ อุ่ยเต็กเค่ง รองประธานหอการค้าจังหวัดระนอง กล่าวว่า ตามหนังสือธนาคารกลางเมียนมา ถึงธนาคารที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการให้ซื้อขายเงินตราต่างประเทศ สั่งให้ผู้กู้ระงับการชำระดอกเบี้ยและเงินต้นที่กู้จากต่างประเทศ ไม่ว่าจะในรูปของเงินสดหรือรูปแบบอื่นใดก็ตาม รวมทั้งให้ธนาคารต้องแจ้งลูกค้าธุรกิจที่มีหนี้ต่างประเทศ ต้องปรับแผนการชำระเงินที่กู้ยืมมาจากต่างประเทศ
“อย่างไรก็ตามจากที่รัฐบาลเมียนห้ามนำเข้ารถยนต์ สินค้าฟุ่มเฟือย ทั้งยังจำกัดการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันปรุงอาหาร เพื่อรักษาปริมาณเงินสำรองระหว่างประเทศ แม้จะยังอนุญาตให้ใช้เงินหยวนและเงินบาทเพื่อการค้าชายแดนกับจีนและไทยอยู่ก็ตาม ซึ่งการห้ามนำเข้าสินค้าบางรายการข้างต้น หากทางการเมียนมาดำเนินการอย่างเข้มงวดจริง จะกระทบไทยแน่นอน แต่ตอนนี้ต้องรอดูคำสั่งซื้อสินค้าที่เข้ามารอบใหม่ ว่าจะมีการปรับลดลงมากน้อยแค่ไหน ลดลงอัตราร้อยละเท่าไหร่ หากเทียบกับปัจจุบัน”
โอสถสภาเตรียมถกเงื่อนไขชำระหนี้
นางวรรณิภา ภักดีบุตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โอสถสภา หรือ OSP กล่าวว่า บริษัทเป็นผู้นำตลาดเครื่องดื่มให้พลังงานอันดับหนึ่งในประเทศเมียนมาภายใต้แบรนด์ “ชาร์ค” และ “เอ็ม-150” หลังธนาคารกลางเมียนมาประกาศคำสั่งให้ระงับชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยแก่เจ้าหนี้ในต่างประเทศนั้น ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจของโอสถสภาในเมียนมา โดยบริษัทสามารถดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ อีกทั้งการลงทุนในเมียนมา เป็นการทำธุรกรรมกับสถาบันการเงินในประเทศไทยเเละสถาบันการเงินในประเทศเมียนมา ทั้งนี้การชำระหนี้จะมีการเจรจากันภายใต้เงื่อนไขและข้อตกลงระหว่างบริษัทและสถาบันการเงินต่อไป
“แม้ว่าจะสถานการณ์ทางการเงินจะมีความผันผวนด้านค่าเงินหรืออัตราการแลกเปลี่ยน แต่ธุรกิจของบริษัทยังคงดำเนินต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันนี้การซื้อขายในเมียนมาสามารถทำได้ในหลายสกุลเงินมากขึ้น ทำให้บริษัทสามารถบริหารจัดการทางการเงินได้หลากหลายมากขึ้น เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป”
“เอ็กซิม”เตรียมแผนช่วยลูกค้า
นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวยอมรับว่า น่ากังวลกรณีธนาคารกลางเมียนมา ประกาศให้ภาคธุรกิจและผู้กู้รายย่อยระงับการชำระหนี้ต่างประเทศ แต่ขณะนี้ยังไม่พบลูกค้าของเอ็กซิมแบงก์ที่เข้าไปลงทุนในเมียนมาได้รับผลกระทบโดยตรงจากคำสั่งดังกล่าว ซึ่งเป็นคำสั่งระงับการชำระคืนเงินกู้ แต่ธุรกิจของไทยที่เข้าไปลงทุน จะใช้รูปแบบการชำระเงินเพื่อซื้อขาย ไม่ได้อยู่ในสถานะการชำระคืนเงินกู้
ปัจุจบันลูกค้าของเอ็กซิมแบงก์ที่เข้าไปลงทุนในเมียนมามี 7 ราย มูลค่าลงทุนประมาณ 2,000 ล้านบาท จากภาพรวมการลงทุนไทยในเมียนมา ณ ปัจจุบันมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.8 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในกลุ่มพลังงานและกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค
“กรณีตัวอย่างเช่น กรณีโรงไฟฟ้าโตโย-ไทยที่อยู่ในเมืองย่างกุ้ง ซึ่งมีการขายไฟให้รัฐบาลเมียนมา โดยรัฐบาลเมียนมาจะชำระค่าไฟที่ซื้อจากโตโย-ไทย ด้วยการโอนเงินเข้าบัญชีเอ็กซิมแบงก์ ซึ่งเงินที่โอนเข้ามาเอ็กซิมแบงก์จะตัดเอาส่วนของหนี้ที่โตโย-ไทยต้องชำระให้เอ็กซิมฯออกก่อน และจึงทอนเงินที่เหลือให้กับโตโย-ไทย ดังนั้นจึงไม่เข้าข่ายการชำระคืนเงินกู้ตามนโยบายที่ธนาคารกลางเมียนมาได้ประกาศออกมา” นายรักษ์ กล่าว
อย่างไรก็ตามเอ็กซิมแบงก์ได้ออกเตรียมมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่เข้าไปลงทุนในเมียนมาไว้แล้ว โดยเฉพาะนักลงทุนในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งอาจมีการค้าขายสินค้า แต่ยังเก็บเงินไม่ได้ หรือ นักธุรกิจที่เข้าไปลงทุนในศูนย์กระจายสินค้า ที่ต้องชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้เอ็กซิมแบงก์ในทุกเดือน ก็จะขยายระยะเวลาการชำระเงินออกไป เช่น จากชำระทุกเดือน ก็ขยายเป็น ทุก 3 – 6 เดือน เพื่อรอให้บรรยากาศคลายตัว ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีลูกค้าของเอ็กซิมแบงก์รายใดติดต่อเข้ามา นอกจากนี้เอ็กซิมแบงก์ จะมีการปรับลดวงเงินเครดิต เช่น จากวงเงินเครดิต 5 ล้านบาท ลดลงเหลือ 1 ล้านบาท และลดระยะเวลาชำระคืนจาก 90 วัน เหลือ 30 วัน เพื่อเป็นการเช็คสุขภาพของธุรกิจ และลกความเสี่ยงของลูกค้าและแบงก์ที่อาจเกิดขึ้น
นายรักษ์ กล่าวอีกว่า โดยส่วนใหญ่นักธุรกิจของเมียนมา จะมีบัญชีสำหรับชำระเงินในต่างประเทศด้วยซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในสิงคโปร์ ไม่ได้มีเพียงบัญชีเดียวในเมียนมา ดังนั้นในการทำธุรกรรมชำระหนี้อาจไม่ต้องทำที่เมียนมา แต่ไปทำที่สิงคโปร์แทน เป็นต้น ขณะเดียวกันนักธุรกิจไทยทำการค้าการลงทุนกับเมียนมามานาน ทำให้มีความคุ้นชินกับการปิดประเทศ หรือ สถานการณ์ต่าง ๆ และที่ผ่านมานักธุรกิจเมียนมาไม่เคยผิดนัดชำระหนี้ แต่บางช่วงจากสถานการณ์ในประเทศก็อาจมีการขอชะลอหรือเลื่อนการชำระหนี้ออกไปบ้าง
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3802 วันที่ 21 – 23 กรกฎาคม 2565