รัฐบาล รับลูก กมธ. แก้กฎหมายดัน “กระท่อม” ทำอาหาร เครื่องสำอาง ส่งออก

01 ส.ค. 2565 | 03:42 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ส.ค. 2565 | 10:48 น.

รัฐบาล รับข้อสังเกต คณะกรรมธิการพิจารณาร่างพ.ร.บ.พืชกระท่อม สั่งกระทรวงยุติธรรมร่วมพิจารณากับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งเสนอแก้กฎหมายใช้ทำผลิตภัณฑ์สมุนไพร ยา อาหารและเครื่องสำอาง ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา สนับสนุนการส่งออก

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า หลังจาก ร่างพ.ร.บ.พืชกระท่อม พ.ศ. …. ได้ผ่านการเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว โดยมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดมาตรการกำกับดูแลการเพาะปลูกพืชกระท่อม การขายและการนำเข้าหรือการส่งออกใบกระท่อม เพื่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประชาชนมากที่สุด 

 

พร้อมกำหนดมาตรการกำกับดูแลการขาย การโฆษณาและการบริโภคใบกระท่อมเพื่อคุ้มครองสุขภาพของบุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่า 18 ปีและบุคคลกลุ่มเสี่ยงอื่น 

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

 

อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อสังเกตจากคณะกรรมธิการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ฯ จากทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ซึ่งรัฐบาลเห็นชอบที่จะรับไปพิจารณาต่อไป เพื่อให้การใช้พืชกระท่อมเกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งในด้านการแพทย์และเศรษฐกิจ และป้องกันความเสี่ยงจากการบริโภคที่ไม่เหมาะสม

 

โดย กระทรวงยุติธรรม จะเป็นหน่วยงานหลักในการรับข้อสังเกตดังกล่าว และนำไปพิจารณาร่วมกันกับกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และต้องนำกลับมาเสนอสำนักเลขาคณะรัฐมนตรีต่อไป

สำหรับข้อสังเกต มีด้วยกันดังนี้

  1. กระทรวงสาธารณสุข ควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์สมุนไพร ยา อาหารและเครื่องสำอาง เพื่อให้ประชาชนและผู้ประกอบการสามารถใช้ประโยชน์จากพืชกระท่อมเป็นผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้
  2. รัฐควรสนับสนุนและส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาพืชกระท่อมในทุกมิติ โดยเฉพาะมิติประโยชน์ทางการแพทย์ สนับสนุนให้มีการใช้ใบกระท่อมตามวิถีชุมชน
  3. สนับสนุนการส่งออกพืชกระท่อม เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศและมีมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนผู้เพาะปลูกพืชกระท่อม ผู้ค้าใบกระท่อม และอุตสาหกรรมพืชกระท่อมในประเทศ เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 5 ปีแรก
  4. กำหนดเพิ่มเติมสถานที่ห้ามขาย วิธีการห้ามขาย หรือการห้ามขายในลักษณะอื่น

 

นางสาวรัชดา กล่าวว่า รัฐบาลพร้อมรับฟังข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน เพื่อผลักดันให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มจากการใช้พืชกระท่อมในทางการแพทย์ ขับเคลื่อนให้เป็นพืชเศรษฐกิจ และสร้างรายได้แก่เกษตรกร

 

ขณะนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ทำการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตและขยายกระท่อมพันธุ์ดี แจกจ่ายแก่เกษตรกรหลายแสนต้นไปแล้ว เพื่อให้ปลูกเป็นพืชสมุนไพรพื้นบ้านในครัวเรือน และสามารถนำไปพัฒนาอาชีพเป็นพืชทางเลือกในอนาคต

 

ส่วนการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา รัฐบาลส่งเสริมการสกัดสารไมทราไจนีน” (Mitragynine) ในใบกระท่อมเพื่อมาใช้ประโยชน์ทำผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และอื่น ๆ เช่น ต้านโรคซึมเศร้า บรรเทาอาการพาร์กินสัน เป็นต้น มั่นใจได้ว่า พืชกระท่อมจะเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญอีกชนิดหนึ่งของประเทศอย่างแน่นอน