รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ที่มี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาแนวทางการแก้ปัญหาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. วงเงิน 224,544 ล้านบาท หลังจากที่คณะกรรมการ 3 ฝ่าย โดย รฟท.ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และ บริษัท เอเชีย เอรา วัณ (เอกชนคู่สัญญา) เจรจาได้ข้อยุติร่วมกัน ตามที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) มอบหมายให้แก้ปัญหาการทับซ้อนงานโยธาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน กับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน) สัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง และการชำระเงินค่าสิทธิเอกชนร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ช่วงพญาไท-สนามบินสุวรรณภูมิ และกรณีเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสถานะทางการเงินของโครงการ
ทั้งนี้หาก กบอ.พิจารณาเห็นชอบคาดว่าจะเสนอ กพอ.พิจารณาและคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบได้ภายในเดือน ส.ค. 2565 เพื่อเร่งทำสัญญาร่วมทุนใหม่เสนออัยการสูงสุดตรวจร่างสัญญาและต้องเสนอ กพอ. และ ครม.เห็นชอบร่างสัญญาใหม่ คาดว่าจะลงนามแก้ไขสัญญาและให้เอกชนรับมอบพื้นที่เริ่มดำเนินการก่อสร้างภายในเดือน ต.ค. 2565
สำหรับการแก้ไขสัญญาสัมปทานร่วมลงทุนใน 3 ประเด็น
1. การชำระเงินค่าสิทธิเอกชนร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ จำนวน 10,671.09 ล้านบาท เดิมในวันที่ 24 ตุลาคม 2564 ปรับเป็นแบ่งชำระงวดละ 1,067.11 ล้านบาทต่อปี ไม่เกิน 7 งวด
2. การแก้ปัญหาโครงสร้างทับซ้อน เอกชนรับก่อสร้างงานโยธา ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง รองรับความเร็ว 250 กม./ชม. มาตรฐานจีน ซึ่งมีค่าก่อสร้างเพิ่ม 9,207 ล้านบาท ซึ่งเดิมรัฐทยอยจ่ายเงินค่าร่วมลงทุนปีที่ 6-15 รวม 10 ปี รวม 149,650 ล้านบาท ปรับเป็นรัฐทยอยจ่าเงินค่าร่วมลงทุนปีที่ 2-8 รวม 7 ปี รวม 132,455 ล้านบาท เท่ากับรัฐประหยัดเงินลงทุนลงและสามารถแก้ปัญหาโครงสร้างทับซ้อนรถไฟไทยได้
3. การแก้ปัญหาผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของโครงการ โดยเพิ่มบทบาท สกพอ.ทำหน้าที่ในฐานะคู่สัญญา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการมากขึ้น
ทั้งนี้หากดำเนินการแก้ไขสัญญาร่วมทุนฯ เรียบร้อยจะส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนเริ่มงาน (NTP) ในเดือนตุลาคม 2565 โดยจะเริ่มก่อสร้างในช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภาก่อน โดยช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง มีความพร้อมในการส่งมอบพื้นที่แล้ว ขณะที่พื้นที่ TOD มักกะสัน ได้ทำความเข้าใจเรื่องปัญหาลำรางแล้ว สามารถใช้ได้โดยไม่มีเงื่อนไข ส่วนช่วงพญาไท-ดอนเมือง คาดว่าจะสามารถส่งมอบพื้นที่ได้ในเดือนมิถุนายน 2566