ประธานสภาอุตฯ ชี้ 6 คลื่นยักษ์ซัดไทย มองบวกทุกวิกฤติยังมีโอกาส

01 ส.ค. 2565 | 09:42 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ส.ค. 2565 | 19:44 น.

“เกรียงไกร”ประธานสภาอุตฯชี้ไทยเผชิญ 6 คลื่นใหญ่ที่ต้องฝ่าฟันไปให้รอด ชี้ภายใต้ทุกวิกฤติยังมีโอกาสสำหรับประเทศไทย จี้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวให้ทัน

 

ในงานสัมมนา Thailand Survival ไทย..จะรอดอย่างไรในวิกฤติโลก ช่วง Special Talk : โอกาสและความเสี่ยงจากวิกฤติเศรษฐกิจ จัดโดยเครือเนชั่น

 

นายเกรียงไกร  เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน มีคลื่นที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย 6 ลูก

 

คลื่นลูกที่ 1 ดิจิทัล ดิสรัปชั่น (Digital Disruption)ส่งผลให้ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมไทยไม่ว่าจะมีอายุธุรกิจเท่าไร มีรายได้ หรือกำไรเท่าไร สามารถตกสวรรค์ได้ในช่วงสั้น ๆ  ทั้งนี้ 45 กลุ่มอุตสาหกรรมสมาชิกของ ส.อ.ท.พยายามดิ้นหนีดิสรัปชั่นหรือภัยคุกคามนี้ โดยปรับตัวหรือทรานส์ฟอร์มธุรกิจให้อยู่รอด  ซึ่งบางอุตสาหกรรมก็ปรับตัวไม่ทัน หรือปรับตัวไม่ได้  แต่บางอุตสาหกรรมก็ปรับตัวได้

 

เกรียงไกร  เธียรนุกุล

 

 

คลื่นลูกที่ 2 สงครามการค้า (Trade War) ระหว่างสหรัฐอเมริกา-จีน ที่เป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจอันดับ 1 และ 2 ของโลก และเป็น 2 คู่ค้ารายใหญ่ของไทย โดยจีนเป็นห่วงโซ่อุปทาน หรือ โกลบอลซัพพลายเชนในการผลิตสินค้ารายใหญ่ของโลกและเป็นห่วงโซ่การผลิตที่สำคัญของไทย โดยไทยส่งออกชิ้นส่วน และวัตถุดิบต่าง ๆ ให้จีนใช้ในการผลิตส่งออกในหลายสินค้า ซึ่งผลพวงสงครามการค้า ทำให้ไทยส่งออกสินค้าในกลุ่มข้างต้นไปจีนลดลง

 

ประธานสภาอุตฯ ชี้ 6 คลื่นยักษ์ซัดไทย มองบวกทุกวิกฤติยังมีโอกาส

 

แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นโอกาส โดยสหรัฐฯหันมานำเข้าสินค้าที่ผลิตในไทย ในแบรนด์ไทยเพิ่มขึ้นเพื่อทดแทนสินค้าจีนมากขึ้น เช่น เครื่องปรับอากาศ และอีกหลายสินค้าจนผลิตไม่ทัน ทำให้การส่งออกของไทยยังขยายตัว ขณะที่มีการย้ายฐานการผลิตของต่างชาติจากจีนมาไทยเพิ่มขึ้น เพื่อลดผลกระทบสงครามการค้า และแข่งขันไม่ได้หากผลิตในจีนส่งออกไปสหรัฐ ดังนั้นถือว่าในวิกฤติสงครามการค้า ก็มีโอกาสสำหรับไทย

 

 

ประธานสภาอุตฯ ชี้ 6 คลื่นยักษ์ซัดไทย มองบวกทุกวิกฤติยังมีโอกาส

 

คลื่นลูกที่ 3 โควิด-19 (COVID-19) ส่งผลกระทบหลายอุตสาหกรรมย่ำแย่ จากเศรษฐกิจการค้าโลกชะลอตัว แต่ก็เป็นโอกาสของหลายอุตสาหกรรม เช่น ยา เครื่องมือแพทย์ การแพทย์ครบวงจร การผลิตชุด PPE เพื่อส่งออก เป็นต้น

 

คลื่นลูกที่ 4 สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่แม้เหตุการณ์จะเกิดคนละทวีปกับไทย แต่มีแรงกระแทก และส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะเอสเอ็มอีบอบช้ำมาก จากราคาพลังงาน สินค้าโภคภัณฑ์ ต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น เกิดภาวะเงินเฟ้อลุกลามไปทั่วโลก เงินเฟ้อของสหรัฐฯ พุ่งขึ้นสูงถึง 9.1% ในเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา (สูงสุดรอบ 40 ปี) ส่วนไทยเงินเฟ้อพุ่ง 7.7% ในเดือนมิ.ย. (สูงสุดรอบ 13 ปี)

 

ประธานสภาอุตฯ ชี้ 6 คลื่นยักษ์ซัดไทย มองบวกทุกวิกฤติยังมีโอกาส

 

อย่างไรก็ดีภายใต้วิกฤตินี้ก็เป็นโอกาสของสินค้าไทย โดยเฉพาะสินค้าอาหารที่สามารถส่งออกได้เพิ่มสวนกระแสเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว โดยในปีนี้คาดไทยจะส่งออกสินค้าอาหารได้ 1.2-1.3 ล้านล้านบาท จากปี 2564 ส่งออกได้ 1.1 ล้านล้านบาท จากความต้องการสินค้าอาหารของโลกเพิ่มสูงขึ้นจากความกังวลความมั่นคงด้านอาหาร ในปี 2563-2564 ไทยอยู่อันดับ 13 ของประเทศผู้ส่งออกสินค้าอาหารของโลก ในปีนี้อาจติดท็อป 10 ของโลกได้

 

“ภายใต้วิกฤติยูเครน ราคาวัตถุดิบนำเข้า เช่น ข้าวสาลีที่ใช้ในการผลิตบะหมี่สำเร็จรูป ผู้ประกอบการต้องแบกภาระต้นทุนที่สูงขึ้น เงินเฟ้อ ดอกเบี้ยโลกขาขึ้น แต่ภายใต้วิกฤติก็มีโอกาสโดยเฉพาะการส่งออกไทยยังมีโอกาสเติบโตในครึ่งปีหลัง โดยเรามีแต้มต่อจากเงินบาทที่อ่อนค่าช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และโอกาสภาคการท่องเที่ยวที่จะมาช่วยเติมในครึ่งปีหลัง”

 

และคลื่นลูกที่ 6 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)ที่กำลังมา จะเป็นหายนะของมวลมนุษยชาติในอนาคต และกำลังเป็นวาระร่วมของโลกที่ต้องช่วยกันเปลี่ยนแปลงแก้ไขโดยเร่งด่วน