ยุโรปแตกแถว เมื่อ “รัสเซีย” ใช้ก๊าซเป็นอาวุธ

27 ก.ค. 2565 | 08:34 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ก.ค. 2565 | 15:56 น.

อดีตขุนคลัง "ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล" ให้มุมมองการคว่ำบาตรรัสเซียของชาติตะวันตก ซึ่งสุดท้ายกลายมาเป็นมาตรการเรียกแขกที่ทำให้รัสเซียต้องงัดใช้ “ก๊าซธรรมชาติ” เป็นอาวุธตอบโต้ยุโรป อานุภาพอาวุธดังกล่าวทำให้บางชาติชาติสมาชิกอียู เลือกที่จะแตกแถวเพื่อความอยู่รอด  

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Thirachai Phuvanatnaranubala วันนี้ (27 ก.ค.65) สะท้อนมุมมองจาก วิกฤตยูเครน กรณีที่ รัสเซีย กำลังใช้ “ก๊าซธรรมชาติ” เป็นอาวุธ เฉกเช่นเดียวกับที่ชาติตะวันตกใช้ระบบดอลลาร์เป็นอาวุธ การเดินหมากของรัสเซียในเรื่องนี้ ทำให้ชาติสมาชิกอียูรายใหญ่อย่างเยอรมนี ยังจำเป็นต้องแตกแถว แหวกมติกดดันรัสเซีย เพื่อความมั่นคงด้านพลังงานของตนเองซึ่งจะเป็นพลังขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อไป เนื้อหาบทความมีดังนี้   

 

“เฝ้าระวังมหาวิกฤตเศรษฐกิจ” เตือนครั้งที่ 77

เมื่อ 21 ก.ค. รัสเซียเปิดส่งก๊าซทางท่อ Nordstream 1 หลังซ่อมบำรุง ในอัตรา 40% แต่เมื่อวานนี้ (26 ก.ค.) ก็ประกาศจะลดลงเหลือ 20%

รูป 1 -2 ข่าวเมื่อ 20 ก.ค. ปูตินกล่าวในการเยือนกรุงเตหะราน ยืนยันว่า Gazprom มีความรับผิดชอบสูง จึงจะเปิดท่อตามกำหนด

ยุโรปแตกแถว เมื่อ “รัสเซีย” ใช้ก๊าซเป็นอาวุธ ยุโรปแตกแถว เมื่อ “รัสเซีย” ใช้ก๊าซเป็นอาวุธ

 

แต่ถ้าหากปัญหาเครื่องปั่นก๊าซไม่จบ ปริมาณก๊าซอาจจะลดลงเหลือ 20% ในสัปดาห์ถัดไป อันเป็นการเตือนไว้ล่วงหน้าแล้ว

เครื่องปั่นก๊าซยี่ห้อซีเมนส์ของเยอรมัน ที่ถูกส่งไปซ่อมบำรุงที่แคนาดานั้น เดิมแคนาดาบีบรัสเซีย สั่งห้ามส่งกลับคืน

ยูเครนก็ร้องขอเช่นนั้น เพราะท่อ Nordstream ทำให้รัสเซียไม่จำเป็นต้องพึ่งพาท่อที่พาดผ่านยูเครน ทำให้ยูเครนขาดรายได้ค่าผ่านท่อ

แต่ท้ายสุด เยอรมนีออกแรงเจรจา จนแคนาดายอมแหวกแซงชัน และส่งคืนไปอยู่ที่เยอรมนีแล้ว

อย่างไรก็ดี รูป 3 ข่าว ABC ระบุว่า รัสเซียยังไม่ยอมให้เยอรมนีขนส่งเครื่องปั่นก๊าซไปรัสเซีย อ้างว่าเอกสารแคนาดาไม่ชัดเจนในบางเรื่อง

รัสเซียยังไม่ยอมให้เยอรมนีขนส่งเครื่องปั่นก๊าซไปรัสเซีย

นักวิเคราะห์คาดว่า รัสเซียอาจจะต้องการใช้ก๊าซเป็นอาวุธ เช่นเดียวกับตะวันตกใช้ระบบดอลลาร์เป็นอาวุธ

อาวุธทรงพลังที่สุดของปูติน อาจจะอยู่ที่ระบอบประชาธิปไตยในยุโรป

กรณีฝรั่งเศส ปธน.มาครงแพ้เลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา โดยผู้ชนะคือพรรคฝ่ายค้านที่ไม่เอานาโต้

กรณีอิตาลี พรรค Five Star ที่ยุติการสนับสนุนรัฐบาลปัจจุบัน ก็เป็นพรรคที่โอนอ่อนไปทางรัสเซีย

ดังนั้น ยิ่งประชาชนเผชิญความเดือดร้อนเข้าไปถึงตัว การแตกคอย่อมจะเกิดมากขึ้นในยุโรป

ถึงแม้รัสเซียไม่ตัดก๊าซทั้งหมด แต่การส่งก๊าซเพียง 20% จะทำให้เกิดปัญหาใหญ่โตในเยอรมนีอยู่ดี

รูป 4 สองกลุ่มแรกที่ใช้ก๊าซสูงสุด คืออุตสาหกรรมและครัวเรือน รวมกันประมาณ 2 ใน 3

รูป 4 สองกลุ่มแรกที่ใช้ก๊าซสูงสุด คืออุตสาหกรรมและครัวเรือน

การใช้ก๊าซเพื่อผลิตไฟฟ้านั้น ใช้เป็นลำดับที่สี่ ดังนั้น การเปลี่ยนกลับไปใช้ถ่านหินผลิตไฟฟ้าแทน ก็จะประหยัดก๊าซไม่มาก

และเนื่องจากรัฐบาลเยอรมนีย่อมจะให้สิทธิแก่ประชาชนก่อน ดังนั้น กลุ่มอุตสาหกรรม จะเป็นกลุ่มที่ถูกกระทบมากสุด

 

รูป 5 แสดงอุตสาหกรรมที่จะถูกกระทบหนักสุด ถ้าหากไม่มีก๊าซตั้งแต่ 1 ก.ค. เรียงลงมา การผลิตแก้ว จะลดลง 47.8%

แต่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม จะอยู่ที่อุตสาหกรรมที่ใช้ก๊าซเป็นวัตถุดิบมากกว่า ใน รูป 6 อันดับหนึ่งคือการผลิตเคมีภัณฑ์ ซึ่งใช้ก๊าซสูงสุด

รูป 5 แสดงอุตสาหกรรมที่จะถูกกระทบหนักสุด ถ้าหากไม่มีก๊าซตั้งแต่ 1 ก.ค.

รูป 6 อันดับหนึ่งคือการผลิตเคมีภัณฑ์ ซึ่งใช้ก๊าซสูงสุด

 

เยอรมนีส่งออกประมาณครึ่งหนึ่งของจีดีพี และองคาพยพอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ที่อาศัยเคมีภัณฑ์เป็นสารตั้งต้นนั้นมีมาก

การเปลี่ยนจากก๊าซรัสเซีย ไปใช้ก๊าซธรรมชาติเหลวแทนนั้น ต้นทุนรวมค่าขนส่งจะแพงขึ้นหนึ่งเท่า

จึงจะเป็นจุดเปลี่ยนในโมเดลอุตสาหกรรมส่งออกของเยอรมนีอยู่แล้ว

 

แต่การขาดแคลนก๊าซแบบฉับพลัน ถึงขั้นที่จะต้องปันส่วน จะทำให้เศรษฐกิจเยอรมนีและยุโรปตกต่ำเร็วขึ้น

รัสเซียกำลังเร่งเร้ากระแสทางการเมืองยุโรปมากขึ้น

 

(เครดิตภาพตามแหล่งที่แสดงชื่อ)

หมายเหตุ: การกล่าวถึงชื่อบุคคลใดมิใช่เป็นการกล่าวหากระทำความผิด แต่เป็นเพื่อประกอบการบรรยายทางวิชาการเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการในการรักษาประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ