วันที่ 2 ส.ค.65 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม แถลงหลัง การเป็นประธานประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ที่ทำเนียบรัฐบาลว่า วันนี้ ครม.รับทราบภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจไทยประจำไตรมาสที่ 2 ปี 2565 ซึ่งได้แจ้งครม.ทราบว่ามีหลายประเด็นมีแนวโน้มไปในทางที่ดี ซึ่งต้องแยกจากกันระหว่างเศรษฐกิจระดับมหภาคกับเศรษฐกิจระดับจุลภาค และประชาชนข้างล่างก็อีกเรื่องที่เราต้องแก้ปัญหาตรงนั้น
แต่นี่คือภาพใหญ่ของประเทศที่เทียบเคียงกับทุกประเทศในโลก สรุปว่ามีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดี แต่ยังมีประเด็นที่ยังต้องติดตาม โดยเฉพาะสถานการณ์ด้านการเงิน การคลังภายนอกประเทศเพื่อให้ทุกภาคส่วนใช้เป็นข้อมูลสำหรับประกอบกิจการและเตรียมการรับกับอนาคตที่จะมาถึง เนื่องจากเศรษฐกิจนั้นผูกติดกันหมดทั้งโลก
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในภาพรวมเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่องร้อยละ 3.3 ในปีนี้ และคาดการณ์จะเพิ่มเป็นร้อย 4.2 ในปีหน้า จากการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชน และการซื้อของกลุ่มผู้มีรายได้สูงในประเทศในครึ่งปีหลัง
รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่ประมาณการอยู่ที่ 6 ล้านคน จากเดิมที่ประเมินไว้ 5.6 ล้านคน โดยเฉพาะเดือนนี้เพิ่มขึ้นถึง 2 ล้านคน ถือเป็นการเพิ่มขึ้นจำนวนมากพอสมควรจากมาตรการเปิดประเทศของไทย และต่างประเทศที่เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้
ฉะนั้นในปี 2566 คาดว่าจะอยู่ที่ 19ล้านคน และภาคเศรษฐกิจก็คาดว่าจะมีการระดมทุนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องให้สอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ทั้งนี้ เราต้องเร่งพิจารณาเป็นกรณีเร่งด่วนคือเรื่องค่าเงินบาท ที่มีผลต่อการนำเข้าและส่งออก
ซึ่งด้านการส่งออกสินค้าไทยถือเป็นข่าวดีที่แนวโน้มขยายตัว ร้อยละ 7.9 จากที่เดิมที่ประมาณการไว้ร้อยละ 7.0 และในปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องอีก แต่ก็มีปัจจัยที่ทำการเกิดความผันแปรของผู้ค้าโดยเฉพาะกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลัก เช่น จีน โดยปัจจัยหนึ่งคืออัตราเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นทั่วโลก
จากผลของราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นส่งผ่านไปยังต้นทุนสินค้าต่างๆ โดยอัตราเงินเฟ้อของไทยปีนี้อยู่ที่ร้อยละ 6.2 แต่คาดว่าจะลดงเหลือร้อย 2.5 ในปี 2566 ขอให้ประชาชน และภาคธุรกิจเชื่อมั่นเสถียรภาพการเงินของไทยยังมันคงและแข็งแกร่งจากการดำเนินนโยบายการเงินการคลังที่รอบคอบและมีวินัยของเรา และเป็นที่เชื่อมั่นของนักวิเคราะห์ นักลงทุนต่างประเทศจากความสนใจในการเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ซึ่งเรื่องการลงทุนมีหลายอย่าง หลายประเทศ หลายโครงการ ที่ตนยังไม่สามารถชี้แจงได้เนื่องจากอยู่ช่วงการเจรจาร่วมกัน ทั้งโครงการขนาดใหญ่ ขนาดเล็กจำนวนมากพอสมควร
"อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจต่อปัญหาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะค่าครองชีพของประชาชน ซึ่งเราต้องแยกพิจารณา ส่วนนี้คือเศรษฐกิจระดับจุลภาค ประชาชนยังมีรายได้น้อยอยู่ เราให้ความสำคัญในเรื่องค่าครองชีพ และธุรกิจบางกลุ่มที่เปราะบาง ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างเร่งด่วนในการหามาตรกาดูแลช่วยเหลือต่อไป"นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายกฯกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ตนได้สั่งการ และติดตามหลายเรื่อง ทั้งนโยบายเร่งด่วน เช่น การลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซล 5 บาทต่อลิตร เป็นเวลา 2 เดือน การจัดสรรที่ดินทำกินให้เกษตรกรมากกว่า 1 หมื่นราย การประกันภัยข้าวนาปี 29 ล้านไร่ การส่งเสริมการลงทุนในอีอีซี วันนี้มีผู้ขอรับการสนับสนุนแล้ว 183 โครงการมูลค่าเกือบ1 แสนล้านบาท
ทั้งหมดนี้มีการดำเนินการและเกิดประโยชน์ไปแล้ว ซึ่งจากที่ตน และครม.ลงพื้นที่ก็ได้ไปติดตามเรื่องเหล่านี้ อะไรที่มีปัญหาอุปสรรคก็จะแก้ไข อะไรไม่สามารถดำเนินการได้ก็ต้องปรับแผนงานเหล่านั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการใช่จ่ายงบประมาณ