ค่าไฟขึ้นเดือนไหน หน่วยละกี่บาท ผู้ใช้ต้องจ่ายเพิ่มถึง 5 บาทหรือไม่ เช็คเลย

04 ส.ค. 2565 | 20:11 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ส.ค. 2565 | 23:46 น.

ค่าไฟขึ้นเดือนไหน หน่วยละกี่บาท ผู้ใช้ต้องจ่ายเพิ่มถึง 5 บาทหรือไม่ เช็คเลยที่นี่มีคำตอบ หลัง กกพ. เตรียมแถลงข่าวค่าเอฟทีงวดสุดท้ายของปีนี้

ค่าไฟขึ้นเดือนไหน หน่วยละกี่บาท เป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก หลังมีกระแสข่าวการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือค่าเอฟที (FT) มาอย่างต่อเนื่อง

 

ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" จะพาไปไขคำตอบเพื่อให้คลายความสงสัย

 

วันนี้ (5 ส.ค.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) จะจัดให้มีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการภายใต้หัวข้อ “ชี้แจงตอบข้อซักถามค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) รอบเดือนกันยายน – ธันวาคม 2565” ช่วงเวลาประมาณ 10.00-11.30 น.  

 

ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวออกมาหลังจากที่มีการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เพื่อพิจารณาค่าเอฟทีรอบสุดท้ายของงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 65 เมื่อวันพุธที่ 27 ก.ค. 65 

 

 

โดยภายหลังการประชุมมีรายงานว่า ที่ประชุมมีมติให้ปรับค่าไฟฟ้างวด ก.ย.-ธ.ค. เป็น 4.72 บาทต่อหน่วย จากงวดปัจจุบันเดือนพ.ค.-ส.ค.อยู่ที่ ประมาณ 3.79 บาทต่อหน่วย ซึ่งเป็นอัตราค่าไฟฟ้าสูงสุดเป็นประวัติการณ์  

สำหรับการปรับขึ้นค่าไฟเป็น 4.72 บาทต่อหน่วยนั้น  มาจากการปรับขึ้นค่าเอฟที 68.66 สตางค์ต่อหน่วย มาอยู่ที่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย โดย กกพ.ให้เหตุผลว่าเป็นต้นทุนที่แท้จริงตามราคาเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าที่ปรับสูงขึ้น และเมื่อรวมกับค่าเอฟทีงวดปัจจุบันที่เก็บอยู่ 24.77 สตางค์ต่อหน่วย 

 

ส่งผลให้ค่าเอฟทีรวมในงวดเดือนก.ย.-ธ.ค.2565 จะอยู่ที่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งบวกกับค่าไฟฟ้าฐานประมาณ 3.79 บาทต่อหน่วย จะทำให้ค่าไฟฟ้าโดยรวมที่ประชาชนต้องจ่ายอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วยดังกล่าว 

 

ค่าไฟขึ้นเดือนไหน หน่วยละกี่บาท ผู้ใช้ต้องจ่ายเพิ่มถึง 5 บาทหรือไม่

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีกระแสข่าวขึ้นค่าไฟในอัตราดังกล่าวออกไป ขณะที่ กกพ. เองก็มีนัดแถลงข่าวค่าเอฟทีต่อสื่อมวลชนในวันจันทร์ ที่ 1 ส.ค. 65 แต่งานแถลงข่าวต้องถูกยกเลิก และเลื่อนออกไปอย่างกะทันหัน

 

ซึ่งสาเหตุที่มีการเลื่อนงานแถลงข่าวออกไป รายงานข่าวระบุว่า เนื่องจากมีผู้บริหารในรัฐบาลประสานกับ กกพ.ขอให้พิจารณาให้รอบคอบและให้มีมาตรการช่วยเหลือกลุ่มผู้มีรายได้น้อยด้วย กกพ.จึงขอให้สำนักงาน กกพ.เลื่อนแถลงข่าวดังกล่าวไปก่อน

โจทย์ที่รัฐบาลต้องการมี 2 แนวทางคือ 1.ต้องการให้ กกพ.พิจารณาต่ออายุมาตรการดูแลผู้ใช้ไฟที่ไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ประเภทบ้านอยู่อาศัยและประเภทกิจการขนาดเล็ก (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) ซึ่งเป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อย หรือกลุ่มเปราะบางถึงสิ้นปี โดยผู้ใช้ไฟฟ้าดังกล่าวที่จ่ายค่าไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จะได้รับส่วนลดค่าไฟฟ้าจากการลดค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) ที่ 0.2338 บาทต่อหน่วย (จ่ายเท่าอัตราเดิมของเดือนมกราคม-สิงหาคม 2565) ซึ่งเดิมมาตรการที่ดำเนินอยู่รัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้ แต่ครั้งนี้ไม่มีเม็ดเงินให้ กกพ.จึงไม่สามารถดำเนินการให้ได้

 

2.หากไม่สามารถดำเนินการได้เพราะไม่มีงบประมาณ ต้องการให้ กกพ.พิจารณาแนวทางพิจารณาสูตรคำนวณค่าไฟใหม่ ภายใต้เกณฑ์ใครใช้ไฟน้อยให้ค่าไฟอัตราต่ำ ใครใช้ไฟมากให้จ่ายค่าไฟในอัตตราสูงขึ้น แต่ กกพ.ยังไม่สามารถทำได้ทันที เพราะต้องใช้เวลาดำเนินการ หากจะปรับสูตร อาจต้องเปิดรับฟังความเห็นผู้มีส่วนได้เสีย และอาจต้องเสนอเข้าคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เป็นประธาน จึงไม่สามารถปรับสูตรให้ได้ในทันที

 

อย่างไรก็ดีล่าสุด นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ยืนยันว่า สำหรับอัตราค่าเอฟทีงวด ก.ย.-ธ.ค. นั้น ค่อนข้างแน่นอนแล้วว่า จะมีการปรับขึ้นในอัตรา 68.66 สตางค์ต่อหน่วยจากงวดที่ผ่านมา เป็นอัตราที่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย และจะทำให้ผู้ใช้ไฟต้องจ่ายที่ราคา 4.72 บาทต่อหน่วย

 

โดยได้แจ้ง 3 การไฟฟ้า ประกอบการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ,การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ถึงมติของคณะกรรมการ กกพ.ในการเห็นชอบค่าเอฟทีดังกล่าว 

 

ส่วนบทสรุปจะเป็นอย่างไรนั้น ค่าเอฟทีงวด ก.ย.-ธ.ค.จะปรับขึ้นเป็นเท่าไหร่ โดยรวมแล้วผู้ใช้ไฟจะต้องจ่ายหน่วยละกี่บาทอีกไม่นานจะถูกเฉลยคำตอบ