สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของไทย ไตรมาสที่ 2 ปี 2565 โดยระบุถึงการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปี 2565 ซึ่งมีเรื่องหนึ่งที่ควรให้ความสำคัญ คือ การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณด้านต่าง ๆ
โดยเฉพาะการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ให้ได้ไม่น้อยกว่า 92.5% ของกรอบงบประมาณทั้งหมด และงบลงทุนรัฐวิสาหกิจให้ได้ไม่น้อยกว่า 65% ของงบประมาณทั้งหมด รวมทั้งการเบิกจ่ายโครงการตามพระราชกำหนดฯ เงินกู้วงเงิน 1 ล้านล้านบาท และ 5แสนล้านบาทในส่วนที่เหลือ
เช่นเดียวกับการขับเคลื่อนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐทั้งในด้านการลงทุนพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งให้เป็นไปตามแผนงาน โดยเฉพาะการเร่งรัดดำเนินการในโครงการที่สำคัญ ๆ ที่ได้มีการอนุมัติให้ดำเนินการแล้ว
เพื่อเพิ่มศักยภาพทางการคลังโดยมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้และการใช้จ่าย เพื่อให้ฐานะการคลังอยู่ในระดับที่เพียงพอในการสนับสนุนการฟื้นตัว ของเศรษฐกิจภายใต้ความไม่แน่นอนของปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศในระยะต่อไป
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ยอมรับว่า ในเรื่องของการบริการจัดการเงินกู้ตามพ.ร.ก.กู้เงินฯ เพิ่มเติม 5 แสนล้านบาทที่เหลือ จะเพียงพอกระตุ้นเศรษฐกิจ และทำมาตรการรัฐรอบใหม่ไหม หรือไม่นั้น ตอนนี้วงเงินเหลืออยู่เพียงจำกัด จึงต้องระมัดระวังการใช้ให้ตรงจุด
ทั้งนี้วงเงินตามพ.ร.ก.กู้เงินฯ นั้น ปัจจุบันเหลืออยู่ 44,192 ล้านบาท โดยวงเงินดังกล่าว เบื้องต้น สศช. อาจสำรองวงเงินส่วนนี้ไว้เป็นค่ารักษาพยาบาล และเตรียมเอาไว้รองรับเป็นค่ายาและเวชภัณฑ์ ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาเรื่องของโควิด-19 เป็นลำดับแรก
ส่วนการกันเงินเอาไว้ใช้ในเรื่องของการฟื้นฟูเศรษฐกิจนั้น เลขาธิการ สศช. ยอมรับว่า คงเอาไปใช้ในเรื่องของการฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ไม่ค่อยมาก ขณะเดียวกันในช่วงที่ผ่านมา คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ฯ ก็ได้เสนอที่ประชุมครม. เห็นชอบโครงการที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจไปแล้ว ทั้ง คนละครึ่ง เฟส 5 และการลงทุนเศรษฐกิจฐานราก เชื่อว่า น่าจะช่วยกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง
สำหรับ รายงานรายละเอียดของการใช้จ่ายเงินกู้ตามพ.ร.ก.กู้เงินฯ เพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท มีข้อมูลรายละเอียด ล่าสุดดังนี้
ทั้งนี้แยกเป็นแผนงานด้านต่าง ๆ จำนวน 3 แผนงาน คือ
1. แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุข
2. แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา ชดเชยให้กับภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ
3. แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม