อรพิม เปี่ยมชลธาร นักวิชาการด้านประมง เขียนบทความเรื่อง ทำไมกุ้งไทยจึงเสียแชมป์โลก ความว่า :
ประเทศไทยเคยครองตำแหน่งผู้ผลิตและส่งออกกุ้งอันดับ 1 ของโลกมายาวนาน และสร้างรายได้ให้ประเทศปีละนับแสนล้านบาท แต่วันนี้ได้เสียแชมป์ไปอย่างน่าเสียดาย ขณะที่ภาพรวมของอุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงกุ้งของโลกในภูมิภาคอื่นกำลังแซงหน้าไทย โดยมีเอกวาดอร์เป็นผู้นำ และในภูมิภาคเอเชียก็มีอินเดียและเวียดนามเป็นดาวเด่น จากการวางยุทธศาสตร์กุ้งอย่างรอบด้านของรัฐบาลแต่ละประเทศ เรียกได้ว่า สถานการณ์กุ้งไทยและกุ้งโลก เปลี่ยนไปแล้วอย่างชัดเจน
ผลผลิตกุ้งไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2545-ปัจจุบัน เนื่องจาก “ปัญหาโรคระบาดกุ้ง” ผนวกกับ "ความไม่ชัดเจนของแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมกุ้งของภาครัฐ” เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไทยสูญเสียตำแหน่งผู้นำการผลิตกุ้งของโลกที่เคยทำได้เป็นอันดับ 1 ในช่วง 10 ปีก่อน
ประเทศไทยส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์ถึง 80% โดยมีตลาดหลักอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และจีน โดยปี 2565 คาดการณ์ว่าการส่งออกกุ้งจะเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาเล็กน้อยในส่วนของตลาดจีน และญี่ปุ่น เนื่องจากมีการตรวจพบเชื้อโควิดของกุ้งจากเอกวาดอร์ที่ส่งไปจีน ทำให้เป็นโอกาสที่ไทยจะส่งออกกุ้งไปจีนได้มากขึ้น และจากแนวโน้มสถานการณ์โควิดที่ดีขึ้นมีการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ทำให้การนำเข้าและบริโภคกุ้งของประเทศต่าง ๆ มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น นับเป็นโอกาสการส่งออกของกุ้งไทยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ประเทศผู้ผลิตกุ้งหลายแห่งมุ่งเน้นการแข่งขันด้านราคากัน เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำ โอกาสการขายกุ้งจากประเทศไทย จึงควรสร้างความแตกต่างด้วยมูลค่าเพิ่มในสินค้ากุ้ง โดยต้องเน้นผลิต “กุ้งพรีเมี่ยม” เจาะตลาดยุโรปที่พร้อมจ่ายแพงขึ้นสำหรับกุ้งคุณภาพดีมาก ปลอดสาร ปลอดภัยและเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ จากผลผลิตกุ้งไทยที่ถดถอยลง ทำให้ไทยมีวัตถุดิบกุ้งไม่เพียงพอสำหรับแปรรูปส่งออก จำเป็นต้องมีการนำเข้า เพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตสำหรับการส่งออก โดยข้อมูลในปี 2564 พบว่าเป็นกุ้งนำเข้าจากเอกวาดอร์มากที่สุด 51.79% อาร์เจนตินา 32.09% เมียนมา 1.85% อินเดีย 1.74% กรีนแลนด์ 1.74% และประเทศอื่นๆ 10.79% ตั้งแต่ผลผลิตลดน้อยลง ประเทศไทยนำเข้ากุ้งอย่างต่อเนื่อง
ในปี 2565 ก็เช่นกัน ที่มีการนำเข้ากุ้งเฉกเช่นทุกปี โดยตั้งเป้านำเข้าจากเอกวาดอร์และอินเดียไว้ถึงกว่า 10,000 ตัน สะท้อนการไม่พัฒนาอุตสาหกรรมกุ้งอย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไปย่อมหมายถึงหายนะของเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งไทยและอุตสาหกรรมกุ้งทั้งระบบ นอกจากนี้ การนำเข้ากุ้งยังทำให้การผลิตกุ้งพรีเมี่ยมของไทยที่เน้นใช้ Local Content หรือใช้ผลิตภัณฑ์ภายในประเทศกว่า 90% ถูกลดระดับความเป็นพรี่เมี่ยมลง กลายเป็นช่องว่างให้คู่แข่งแทรกตัวเข้าสู่ตลาดลูกค้าของไทย รัฐจึงควรรักษาระดับการใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นจุดขายของกุ้งไทยให้ชัดเจนและต่อเนื่อง
มีการประเมินความเสียหายที่เกิดจากการเสียโอกาสของกุ้งไทยไว้อย่างน่าสนใจ จากปี 2553 ที่ไทยมีผลผลิตกุ้งสูงสุด 640,000 ตัน ส่งออกได้ถึง 427,580 ตัน มูลค่า 100,948 ล้านบาท และในปี 2554 ไทยสามารถสร้างมูลค่าการส่งออกสูงสุดที่ 110,278 ล้านบาท โดยเป็น Local Content กว่า 90% แต่ผ่านไป 10 ปี ในปี 2564 ผลผลิตกุ้งไทยเหลืออยู่เพียง 284,000 ตัน มูลค่าส่งออก 47,908 ล้านบาท จึงพอสรุปได้ว่า ประเทศไทยมีมูลค่าเสียหายจากการเสียโอกาสของกุ้งไทยในช่วง 10 ปีไปถึงประมาณ 5 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย และไม่เข้าใจว่ารัฐบาลไทยละเลย ปล่อยให้สถานการณ์กุ้ง บานปลายมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร
การนำเข้าผลผลิตทางการเกษตรจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะอย่างไร ย่อมส่งผลต่อเสถียรภาพราคาสินค้าในประเทศ ขณะที่ปัจจุบันราคากุ้งในประเทศกำลังตกต่ำ ส่วนหนึ่งเกิดจากการนำเข้ากุ้ง เมื่อผนวกภาวะฝนตกหนักที่ทำให้โรคระบาดเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรเร่งจับกุ้งก่อนกำหนด ทำให้ราคากุ้งอ่อนตัวอย่างรวดเร็ว
นับเป็นโอกาสที่โรงงานแปรรูปจะทยอยเก็บกุ้งของไทยเข้าห้องเย็น โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ราคากุ้งตกต่ำไปถึงราคาประกันที่วางไว้ ทั้งนึ้เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรไทย และทำให้มูลค่าเงินที่จะเสียไปกับกุ้งเอกวาดอร์หรืออินเดีย กลับมาหมุนเวียนอยู่กับเกษตรกรไทยซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อประเทศมากกว่า และหากนับปริมาณเฉพาะที่จับก่อนกำหนดก็มีมากในระดับหลายหมื่นตัน ซึ่งครอบคลุมเป้าการนำเข้า 10,000 ตันที่กรมประมงวางไว้ในปีนี้อยู่แล้ว
ถึงตรงนี้ก็คงต้องวัดใจ “โรงงานแปรรูปกุ้ง” ว่าจะพร้อมทำเพื่ออุตสาหกรรมกุ้งไทยโดยรวมหรือไม่ เพราะหากจริงใจที่จะอุดหนุนกุ้งไทยอย่างเต็มที่ ก็จะไม่จำเป็นต้องนำเข้ากุ้งจากประเทศอื่นเลย ทั้งยังเป็นการลดความเสี่ยงด้านเชื่อโรคระบาดกุ้งจากต่างถิ่นด้วย เหนืออื่นใดคือภาครัฐมีข้อมูลการลงกุ้งเข้าเลี้ยงของเกษตรกรอยู่แล้ว ควรนำข้อมูลเหล่านั้นมาบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ เชื่อมโยงไปถึงการช่วยลดต้นทุนการผลิตให้กุ้งไทยสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก
กล่าวโดยสรุป การแก้ปัญหาของทั้งห่วงโซ่อุตสาหกรรมกุ้งไทย ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุด้วยการนำเข้า แต่ทุกภาคส่วนของอุตสาหกรรมกุ้งจำเป็นต้องร่วมมือกันมุ่งเน้นไปที่ภาพรวมของประเทศ โดยวางยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมกุ้งในระดับประเทศให้ชัดเจนและรอบด้าน จัดการทั้งปัญหาโรคกุ้ง และระบบการพัฒนาการเลี้ยงกุ้งอย่างมีเป้าหมาย ซึ่งต้องมี “รัฐบาล”เป็นแกนสำคัญในการขับเคลื่อน ทำหน้าที่วางยุทธศาสตร์และกระจายนโยบายสู่การปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม เมื่อนั้นอุตสาหกรรมกุ้งไทยจึงจะกลับมาอยู่ในแถวหน้าของโลกได้อีกครั้ง