ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2565 ว่า ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวอยู่ในความสนใจของคนกรุงเทพฯ โดยเฉพาะผู้โดยสารรถไฟฟ้ารวมทั้งผู้ที่ติดตามเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง หลายคนรวมทั้งเอาใจช่วยให้ท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติ หั่นค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวลงมาให้ได้ แต่จะหั่นได้หรือไม่ ? ต้องติดตาม
ดร.สามารถระบุว่า ตั้งใจที่จะไม่ให้ความเห็นเกี่ยวกับค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวจนกว่าท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติจะประกาศอัตราค่าโดยสารที่แน่นอนรวมทั้งแนวทางการแก้ปัญหาหนี้สินออกมา เป็นการเปิดโอกาสให้ท่านได้มีเวลาทำงานก่อน
แต่สภาองค์กรของผู้บริโภคได้มีหนังสือเชิญให้ท่านหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ส่งผู้แทนของพรรคเข้าร่วมประชุมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ในวันนี้ (วันอังคารที่ 30 สิงหาคม 2565) ซึ่งท่านหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้ส่งผมเป็นตัวแทนของพรรคฯ ผมจึงจำเป็นต้องให้ความเห็น
โดยอยากให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าทุกสาย ทุกสีถูกลง ไม่เฉพาะแต่สายสีเขียวเท่านั้น เพื่อช่วยให้มวลชนหรือคนส่วนมากสามารถใช้บริการได้ ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหารถติด ลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิง ลดมลพิษ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมรับกระแสโลกในการลดก๊าซเรือนกระจก และฝุ่น PM 2.5
1. ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวในปัจจุบัน
ในปัจจุบันอัตราค่าโดยสารสำหรับการเดินทางบนส่วนต่างๆ ของรถไฟฟ้าสายสีเขียวมีดังนี้
1.1 รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนหลัก
ประกอบด้วยช่วงหมอชิต-อ่อนนุช ระยะทาง 17 กิโลเมตร และช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน ระยะทาง 6.5 กิโลเมตร ค่าโดยสาร 16-44 บาท กทม.ได้ให้สัมปทานแก่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS เป็นเวลา 30 ปี ตั้งแต่ปี 2542-2572 โดย BTS เป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด 100% ทั้งงานโยธาและงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล
1.2 รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย
1.2.1 ส่วนต่อขยายที่ 1 ประกอบด้วยช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า ระยะทาง 7.5 กิโลเมตร ค่าโดยสาร 16-31 บาท และช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง ระยะทาง 5.3 กิโลเมตร ค่าโดยสาร 15 บาท ตลอดสาย กทม. จ้าง BTS ให้เดินรถตั้งแต่ปี 2555-2585
1.2.2 ส่วนต่อขยายที่ 2 ประกอบด้วยช่วงแบริ่ง-เคหะสมุทรปราการ ระยะทาง 12.6 กิโลเมตร และช่วงหมอชิต-คูคต ระยะทาง 17.8 กิโลเมตร ยังไม่เก็บค่าโดยสาร กทม. จ้าง BTS ให้เดินรถตั้งแต่ปี 2559-2585 ส่วนต่อขยายที่ 2 นี้ กทม. รับโอนมาจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) พร้อมหนี้งานโยธาประมาณ 5.5 หมื่นล้านบาท
1.3 รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนหลักและส่วนต่อขยาย
การเดินทางทั้งส่วนหลักและส่วนต่อขยายจะเสียค่าโดยสารในอัตรา 16-59 บาท หรือต่ำสุด 16 บาท สูงสุด 59 บาท
2. ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวในอนาคต
ดร.สามารถมีความเห็นว่าผู้ว่าฯ กทม. มีอำนาจที่จะกำหนดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวในอนาคตได้ดังนี้
2.1 ก่อนหมดสัญญาสัมปทานในปี 2572
สำหรับรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนหลักซึ่ง กทม. ได้ให้สัมปทานแก่ BTS นั้น ในกรณีที่ผู้ว่าฯ กทม. ไม่ต้องการปรับเปลี่ยนค่าโดยสารก็ต้องคงอัตรา 16-44 บาท ต่อไป แต่ในกรณีที่ผู้ว่าฯ กทม. ต้องการทำให้ค่าโดยสารถูกลง ก็สามารถทำได้ แต่ กทม. จะต้องชดเชยรายได้ส่วนที่ลดลงให้ BTS เพราะมีสัญญาสัมปทานผูกมัดอยู่
สำหรับรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ผู้ว่าฯ กทม. จะเก็บค่าโดยสารเท่าไหร่ก็ได้ เพราะไม่เกี่ยวข้องกับผู้รับสัมปทาน รายได้ทั้งหมดจะเป็นของ กทม. แต่ต้องคำนึงถึงสถานะทางการเงินของ กทม. และภาระหนี้สินที่ กทม. มีอยู่กับ BTS และ รฟม.
2.2 หลังหมดสัญญาสัมปทานในปี 2572
ผู้ว่าฯ กทม. ไม่จำเป็นจะต้องขยายเวลาสัมปทานให้ BTS แต่จะต้องจ้างให้ BTS เดินรถทั้งส่วนหลักและส่วนต่อขยายไปจนถึงปี 2585 ตามสัญญาจ้างที่ กทม. ทำกับ BTS ดังกล่าวแล้วข้างต้น
ในกรณีนี้ ผู้ว่าฯ กทม. จะเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งส่วนหลักและส่วนต่อขยายเท่าไหร่ก็ได้ รายได้ทุกบาททุกสตางค์จะเป็นของ กทม. ทั้งหมด แต่ กทม. จะต้องแบกรับความเสี่ยงเองทั้งหมดเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ ผู้ว่าฯ กทม. จะต้องคำนึงถึงสถานะทางการเงินของ กทม. และภาระหนี้สินที่ กทม. มีอยู่กับ BTS และ รฟม. ด้วย
3. สรุป
ดร.สามารถมองว่า บัดนี้ ผู้ว่าฯ ชัชชาติมีอำนาจอยู่ในมือแล้ว ขอให้หั่นค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวลงมาให้ได้ตามแนวทางที่ท่านเคยประกาศไว้ โดยการลดหนี้ และเพิ่มรายได้ เช่น ไม่รับโอนหนี้จาก รฟม. โอนสัมปทานให้กระทรวงคมนาคม และให้เช่าพื้นที่ทำการค้าขาย และ/หรือโฆษณา เป็นต้น
ในตอนท้าย ขอเป็นกำลังใจให้ท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติทำงานให้สำเร็จตามที่ท่านมุ่งหวัง เพื่อประโยชน์สุขของคนกรุงเทพฯ ทุกคน ดร.สามารถกล่าว