หลังจากบริษัททระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี ได้มีการเจรจาหารือร่วมกับบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด(เคที) วิสาหกิจของกรุงเทพมหานคร (กทม.) นั้น ทางกทม.พยายามเร่งรัดดำเนินการหาทางออกเพื่อแก้ปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว พบว่า ในส่วนของหนี้โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว มีทั้งหมด 3 ส่วน คือ 1.หนี้ระหว่างกทม.กับภาครัฐ 2.หนี้ค่างานติดตั้งระบบเดินรถ และ3.หนี้ค่าเดินรถโดยเฉพาะในส่วนสัญญาที่ 2 รวมทั้งต้องดูรายละเอียดเรื่องสัญญาจ้างบีทีเอสเดินรถส่วนต่อขยาย ช่วงปี 2572-2585
ล่าสุดนายธงทอง จันทรางศุ ประธานกรรมการบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) ระบุว่า จากการหารือเพื่อแก้ปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียวนั้น เบื้องต้นจากการหารือในครั้งนี้มีมติให้มีการเปิดเผยรายละเอียดสัญญา ในฐานะที่กรุงเทพธนาคม เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 99.98% ซึ่งไม่มีข้อกังวลใดๆในการเปิดเผยสัญญา ทั้งนี้เมื่อกทม.ได้รับข้อมูลแล้วจะดำเนินการอย่างไรเป็นอำนาจหน้าที่ของกทม.
สำหรับรายละเอียดสัญญาการจ้างเดินรถทั้งส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงสะพานตากสิน-บางใหญ่-บางหว้า และช่วงอ่อนนุช-สมุทรปราการ และส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ไม่เคยมีการพูดถึงค่าโฆษณาบนสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส หากมีการนำเรื่องนี้มาศึกษาร่วมด้วยจะมีนัยยะถึงค่าใช้จ่ายอย่างไรบ้าง ด้านเทคโนโลยีที่ให้บริการรถไฟฟ้าบนสถานีมีข้อมูลใดบ้างที่จะกระทบต่อสัญญาก็ควรทำให้เกิดความชัดเจนเพื่อสอดคล้องกับการทำงานในปัจจุบัน รวมทั้งระยะเวลาของสัญญาการเดินรถถึงปี 2585 (30 ปี) ขณะนี้ผ่านระยะเวลามาหลาย 10 ปีแล้ว หากมีการทบทวนข้อมูลที่ชัดเจนและพิสูจน์ได้ ทางบีทีเอสก็พร้อมที่จะพุดคุย
ส่วนเรื่องการฟ้องร้องศาลปกครองของบีทีเอสเพื่อทวงหนี้ค่าจ้างเดินรถกับบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที)และกรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยการหารือมีความเห็นตรงกันทั้ง 2 ฝ่ายว่า ระหว่างที่กระบวนการยุติธรรมของศาลฯยังดำเนินการต่อไป ควรตั้งคณะทำงานทั้ง 2 ฝ่าย ศึกษาข้อมูลทั้งหมดเพื่อแก้ปัญหาโครงการฯและเจรจาถึงรายละเอียดเกี่ยวกับมูลหนี้ที่เกิดขึ้น หากได้ข้อสรุปเรื่องมูลหนี้ที่ตรงกันเพื่อชำระหนี้แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องรอจนคดีถึงที่สุด เพราะใช้ระยะเวลาเป็นปี อาจจะมีการถอนฟ้องคดีเพื่อให้เป็นข้อยุติได้
“การจัดเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการและช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ถึงแม้ไม่ใช่หน้าที่ของกรุงเทพธนาคม แต่เป็นการตัดสินใจของกทม.โดยเราเป็นผู้ประสาน ซึ่งบีทีเอสแจ้งว่าในฐานะผู้ปฏิบัติในภาคสนาม ได้ขอระยะเวลาดำเนินการด้านระบบและป้ายค่าโดยสารบนสถานีรถไฟฟ้าดังกล่าวราว 1 เดือน หากกทม.ตัดสินใจชัดเจนว่าจะกำหนดค่าโดยสารแล้ว เราจะรีบนำประเด็นนี้เรียนให้ทราบด้วยเช่นกัน”
ด้านนายคีรี กาญจพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สำหรับการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวว่า หลังจากบริษัทได้หารือกับบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด(เคที) วิสาหกิจของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้เจรจากันครั้งแรกแล้ว ต้องให้เวลานายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. ตรวจสอบข้อมูล อย่าเพิ่งถามหรือคิดในสิ่งที่เป็นการคาดการณ์ล่วงหน้า รอข้อสรุปออกมาก่อน
“ยืนยันว่าบีทีเอสไม่เคยขอขยายสัมปทานอะไรทั้งสิ้น สิ่งที่บริษัทตั้งใจจริงๆ คือ ต้องการค่าจ้างติดตั้งระบบเดินรถไฟฟ้า และการจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง อย่าทำเหมือนบีทีเอสเป็นผู้ร้าย หรือจำเลย ซึ่งบีทีเอสเป็นเจ้าหนี้ ไม่มีใครในโลกนี้ที่ติดตั้งระบบฯ และเดินรถให้โดยออกเงินให้ก่อน และค่อยเก็บเงินทีหลัง ปัจจุบันล่วงเลยมา 2-3 ปีแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้เงินค่าจ้างเลย”
ทั้งนี้จากการหารือร่วมกับบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด(เคที) ก็ทำความเข้าใจกัน และก็ต้องให้เวลาซึ่งกันและกันก่อน เพราะเป็นทีมมาใหม่ก็ต้องศึกษาข้อมูลก่อน ส่วนการทำสัญญาว่าจ้างทั้ง 2 ฉบับ เป็นสัญญาที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ไม่ใช่เป็นสัญญาที่เพิ่งเกิดขึ้นในประเทศไทย จึงอยากทราบว่าสัญญาผิดตรงไหน เมื่อรัฐบาลให้เอกชนมีส่วนร่วม สัญญานี้ก็เป็นส่วนร่วมในรูปแบบหนึ่ง และเป็นสัญญาที่ดำเนินการมาประมาณ 10 ปีแล้ว แต่วันนี้เพิ่งจะมามีข้อสงสัย
"บีทีเอสยินดีและเคารพ ซึ่งทาง กทม. มีทีมใหม่ก็ควรเข้าไปศึกษาเรื่องของสัญญาก่อน ส่วนการจะเปิดสัญญาหรือไม่นั้น เจ้าของสัญญาจะเปิดเมื่อไหร่ก็ได้ แต่รัฐบาลควรเปิดสัญญารถไฟฟ้าทุกสายให้เท่าเทียมกัน ซึ่งบริษัทไม่เคยปฏิเสธที่จะไม่เปิดสัญญา ยืนยันว่าจะไม่หยุดเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว แม้จะต้องจ่ายเงินเองทุกวัน เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสาร เพราะหากหยุดเดินรถก็ไม่ได้กระทบกับใครที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ แต่จะกระทบผู้โดยสาร ที่ผ่านมาบริษัทคำนึงถึงความสะดวกของประชาชน อยากให้รัฐบาลคิดถึงเอกชนผู้ลงทุนบ้าง จะทำอะไรก็ทำ แต่อย่ายืดเยื้อ เพราะเป็นเรื่องที่คุยกันมา 3 ปีแล้ว จะเอาอย่างไรก็บอกมา ผมไม่ได้หาเรื่อง นักการเมืองอาจจะยังเข้าใจผิด หากเข้าใจถูกสักวันเรื่องก็ต้องจบ ผมจะรอถ้าให้ผมรอ แต่ในทางกฎหมายก็ว่ากันไปเรื่อยๆ”
สำหรับภาระหนี้สะสมที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) มีต่อบีทีเอส ตั้งแต่เดือนเมษายน 2560 ถึงปัจจุบัน รวมกว่า 40,000 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าจ้างเดินรถและบำรุงรักษา (O&M) จำนวน 20,000 ล้านบาท และค่าติดตั้งงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) จำนวน 20,000 ล้านบาท