รายงานข่าว (31 ส.ค. 2565) จากบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (บมจ.) เผยว่า บางจากฯ และบริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วย บริษัท ธนโชค ออยล์ ไลท์ จำกัด (บจก.) ได้ร่วมแถลงข่าวในการจัดตั้งบริษัท บีเอสจีเอฟ จำกัด (BSGF) พร้อมลงนามความร่วมมือในโครงการผลิตและจัดจำหน่ายเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel : SAF) จากน้ำมันใช้แล้วจากการทำอาหารเป็นรายแรกและรายเดียวในประเทศไทย
พร้อมกันนี้ได้เตรียมจัดตั้งหน่วยผลิต SAF ด้วยกำลังการผลิตเริ่มต้น 1 ล้านลิตรต่อวัน คาดพร้อมให้บริการอุตสาหกรรมการบินทั้งในและต่างประเทศในไตรมาส 4 ของปี 2567 ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเดินทางและขนส่งทางอากาศลงได้ราว 80,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. บางจาก คอร์ปอเรชั่น เผยว่า บมจ.บางจากฯ และบมจ. บีบีจีไอ ร่วมกับ บจก.ธนโชค ออยล์ ไลท์ ได้ลงนามข้อตกลงร่วมทุนจัดตั้งบริษัท บีเอสจีเอฟ จำกัด (BSGF) ด้วยงบลงทุน 8,000-10,000 ล้านบาท ในสัดส่วนการลงทุนโดยบางจากฯ 51% ธนโชค ออยล์ ไลท์ 29% และ บีบีจีไอ 20% เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน หรือ SAF จากน้ำมันใช้แล้วจากการทำอาหาร (Used Cooking Oil) เป็นรายแรกและรายเดียวในประเทศไทย
การร่วมทุนครั้งนี้เป็นการนำประสบการณ์และความเชี่ยวชาญระหว่างพันธมิตรทั้ง 3 มาร่วมวางรากฐานที่มั่นคงให้กับบริษัท BSGF ทั้งในด้านการจัดหาวัตถุดิบ การผลิต และการจัดจำหน่าย ประสานความแข็งแกร่ง ระหว่าง บริษัท บางจากฯ ผู้ดำเนินการโรงกลั่นน้ำมันบางจาก โรงกลั่นแบบ Complex Refinery ที่ทันสมัย เป็นผู้บุกเบิกการรับซื้อน้ำมันใช้แล้วจากการทำอาหารในครัวเรือนเพื่อผลิตไบโอดีเซลในประเทศไทยเป็นรายแรก และมีความเชี่ยวชาญในการค้าน้ำมันผ่านบริษัท BCP Trading จำกัด หรือ BCPT ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ค้าน้ำมันอิสระอันดับหนึ่งในตลาดสิงคโปร์
ส่วน บจก.ธนโชค ออยล์ ไลท์ฯ เป็นผู้มีประสบการณ์ในการจัดหาวัตถุดิบอย่างน้ำมันใช้แล้วจากการทำอาหารมายาวนาน และ บริษัท บีบีจีไอฯ ผู้นำอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและผู้สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูง
ทั้งนี้ BSGF จะเริ่มดำเนินธุรกิจด้วยการก่อสร้างหน่วยผลิต SAF จากน้ำมันใช้แล้วจากการทำอาหาร ภายในบริเวณโรงกลั่นน้ำมันบางจาก ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเปิดดำเนินการได้ช่วงปลายปี 2567 กำลังการผลิตเริ่มต้น 1,000,000 ลิตรต่อวัน เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืนที่อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกสามารถนำมาใช้ทดแทนได้ทันทีโดยไม่ส่งผลต่อเครื่องยนต์ ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอุตสาหกรรมการบินลงได้ประมาณ 80,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี (เทียบกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของเชื้อเพลิงการบินในปัจจุบัน)
BSGF พร้อมขยายเพิ่มกำลังการผลิตรองรับความต้องการใช้ SAF ในอนาคต ตามแนวโน้มความต้องการใช้ SAF ทั่วโลก สอดคล้องกับข้อกำหนดในสหภาพยุโรปที่กำหนดสัดส่วนการผสม SAF ในน้ำมันอากาศยานที่จะบินเข้าสู่สนามบินในสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (จากการลงมติของสมาชิกสภายุโรป เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา กำหนดไว้ที่ 2% ในปีค.ศ. 2025 และเพิ่มขึ้นเป็น 6%, 37% และ 85% ในปีค.ศ. 2030, 2040 และ 2050 ตามลำดับ) และสอดคล้องกับมาตรการขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) และสมาคมการบินระหว่างประเทศ (IATA) ที่ให้การสนับสนุน เพื่อให้อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ในปี 2593
นายธนวัฒน์ ลินจงสุบงกช กรรมการผู้จัดการบริษัท ธนโชค ออยล์ ไลท์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ มีความมั่นใจในการร่วมทุนครั้งนี้ ด้วยเห็นถึงศักยภาพของกลุ่มบริษัทบางจาก ซึ่งให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่นคงทางพลังงานควบคู่ไปกับดูแลสิ่งแวดล้อมและสังคมมาโดยตลอด
สอดคล้องกับพันธกิจของธนโชคฯ กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมที่มีความเชี่ยวชาญในการผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันใช้แล้ว โดยมีการลงพื้นที่จัดเก็บในชุมชน ป้องกันการนำกลับไปใช้ซ้ำหรือระบายทิ้งลงในพื้นที่สาธารณะหรือแหล่งน้ำต่าง ๆ ปัจจุบัน กลุ่มธนโชคฯ มีเครือข่ายการเก็บรวบรวมน้ำมันใช้แล้วครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ ด้วยศักยภาพการจัดเก็บและรวบรวมน้ำมันใช้แล้วประมาณ 17 ล้านลิตรต่อเดือน
“ธนโชค ออย ไลท์ฯ จะมุ่งเน้นพัฒนาวิธีการและจัดหาน้ำมันใช้แล้วสำหรับนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต SAF เพื่อยกระดับมาตรฐานของธุรกิจจัดเก็บและรวบรวมน้ำมันใช้แล้วให้พร้อมรองรับความต้องการของอุตสาหกรรมการบินได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน” นายธนวัฒน์ กล่าว
ด้าน นายกิตติพงศ์ ลิ่มสุวรรณโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บีบีจีไอ กล่าวว่า จากความชำนาญในการปฏิบัติการโรงงานไบโอดีเซล พร้อมด้วยเทคโนโลยี และ feedstock สำหรับการผลิต SAF ทำให้กลุ่มบีบีจีไอ สามารถสนับสนุนวัตถุดิบให้กับหน่วยผลิต SAF ได้อย่างเพียงพอ ทั้งยังมีหน่วยที่สามารถปรับปรุงคุณภาพวัตถุดิบให้เหมาะสมกับกระบวนการผลิต SAF อาทิเช่น กรดไขมันปาล์มและน้ำมันใช้แล้ว อีกด้วย
สำหรับผลิตภัณฑ์ SAF จากน้ำมันใช้แล้วในการทำอาหารจะส่งผลดีทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับ BCG Economy Model อย่างครบวงจร ตั้งแต่เศรษฐกิจชีวภาพ ( Bio-economy) มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยเน้นการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เชื่อมโยงกับ เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ที่ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่ต้องพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุล ให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน