4 ก.ย.2565 - นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ตรวจเข้มคุณภาพปุ๋ยยูเรียนำเข้า(สูตร 46-0-0) เพื่อให้เกษตรกรของไทยได้ใช้ปุ๋ยคุณภาพที่ดี และคุณสมบัติถูกต้องตามที่สำแดง และเป็นการป้องกันการปลอมปนของปุ๋ยด้อยคุณภาพ ทั้งนี้คาดว่าจากนี้ไปราคาปุ๋ยน่าจะมีโอกาสลดลง เนื่องจากปริมาณปุ๋ยยูเรียที่ภาคเอกชนขอนำเข้าเริ่มมีปริมาณเพิ่มขึ้น
โดยตั้งแต่มกราคม-กรกฎาคม 2565 มีการนำเข้าแล้ว 1.25 ล้านตัน จาก ปี 64 มีการนำเข้าทั้งปี 1.96 ล้านตัน ปี63 นำเข้า 2.1 ล้านตัน ปริมาณเกือบเท่ากับการนำเข้าในช่วงภาวะปกติก่อนที่จะเกิดสงครามระหว่างยูเครนและรัสเชีย ที่ถูกระบุว่าเป็นเหตุทำให้ปุ๋ยมีราคาแพงเพราะเป็นประเทศที่ส่งออกปุ๋ยรายสำคัญ
“ ทั้งนี้ปุ๋ยยูเรียที่นำเข้าย้อนหลังปี 63- ก.ค. 65 พบว่า 12 อันดับที่ไทยนำเข้านั้นไม่มีชื่อของประเทศยูเครนและรัสเซีย โดยส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศซาอุดิอาระเบีย การตาร์และมาเลเซีย 3 ประเทศนี้ ไทยนำเข้ารวมกว่า 80% ดังนั้นราคาปุ๋ยที่แพงขึ้นอ้างเหตุจากสงครามน่าจะขัดแย้งกับข้อเท็จจริง ซึ่งกำลังให้กรมวิชาการเกษตรไปช่วยดูว่าจะทำอย่างไรให้ปุ๋ยมีราคาลดลงเพื่อให้เกษตรกรอยู่ได้ เพราะหากเกษตรอยู่ไม่ได้ ไม่มีเงินซื้อ ธุรกิจต่อเนื่องก็เดือดร้อนเช่นกัน จึงหวังว่าจะเกิดความร่วมมือช่วยเหลือกันทุกฝ่าย”
ขณะวันนี้ นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร พร้อมด้วย พลเรือโท วศิน บุญเนือง ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ กองทัพเรือ ผู้อำนวยการ กองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช หัวหน้าด่านตรวจพืชท่าเรือแหลมฉบัง หัวหน้าด่านตรวจพืชลาดกระบัง และหัวหน้าด่านตรวจพืชท่าเรือกรุงเทพ พร้อมทั้ง ผู้แทนสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ได้ลงเรือตรวจติดตามการนำเข้าปุ๋ยยูเรีย 46-0-0 จากเรือใหญ่ และการขนถ่ายปุ๋ยยูเรีย รวมถึงสินค้าเกษตรอื่นๆ
อาทิ ข้าว และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เป็นต้น ในบริเวณทะเลรอบเกาะสีชัง และท่าเรือเอกชน เขตพื้นที่ชายฝั่ง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี โดยเฉพาะมาตรการเฝ้าระวัง ติดตามและควบคุมการนำเข้าปุ๋ยเคมีในลักษณะการนำเข้าแบบเทกอง (Bulk) เพื่อป้องกันการนำเข้าปุ๋ยที่ไม่มีคุณภาพตาม พ.ร.บ.ปุ๋ย พ.ศ. 2518 เพื่อสร้างความมั่นใจถึงมาตรการในการควบคุมการนำเข้าปุ๋ยยูเรียจากต่างประเทศของกรมวิชาการเกษตร ที่จะมีมาตรการและแนวทางการปฏิบัติในการควบคุมการนำเข้าจากแหล่งผลิตต้นทางจากต่างประเทศ และกำหนดให้เอกชนที่ขอนำเข้าต้องมีการขึ้นทะเบียนขอเป็นผู้นำเข้า มีการขึ้นทะเบียนผู้ผลิตปุ๋ยเคมีเพื่อการค้าในประเทศรวมถึงการขอนำเข้า
“ ท่านรมช.มนัญญา ได้กำชับด้วยว่า ให้ประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการตรวจสอบเพื่อป้องกันการนำเข้าปุ๋ยด้อยคุณภาพมาขายในประเทศ โดยกรมวิชาการเกษตรจะมีการตรวจสอบคุณภาพปุ๋ยยูเรียเป็นรายชิปเมนต์ ทั่วประเทศ ก่อนจะมีการตรวจปล่อยออกสู่ตลาด รวมถึงมีกระบวนการติดตามตรวจสอบ โดยอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้กำชับให้สารวัตรเกษตร และสารวัตรเกษตรอาสา ทั่วประเทศเฝ้าระวังไม่ให้มีปุ๋ยด้อยคุณภาพวางจำหน่ายในตลาด เนื่องจากปุ๋ยยูเรียมีความสำคัญในระบบการผลิตทางการเกษตร หากปุ๋ยด้อยคุณภาพก็จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนเกษตรกร” อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าว พร้อมนี้ ได้เน้นย้ำนโยบายการป้องกันการลักลอบสวมสิทธิ์สินค้าเกษตรอื่นๆ เพื่อรักษาคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตรไทย ด้วย
อนึ่ง การนำเข้าปุ๋ยยูเรียของไทยนั้น ปี 2563 มีการนำเข้า 2.1 ล้านตัน ปี 64 มีการนำเข้า 1.96 ล้านตัน และปี 65( ม.ค. – ก.ค.) มีการนำเข้าแล้วประมาณ 1.25 ล้านตัน สำหรับในช่วงเดือนส.ค.มีการขอนำเข้าปุ๋ยยูเรีย46-0-0 ผ่านช่องทางทะเลบริเวณ เกาะสีชัง และได้แจ้งขออนุญาตนำเข้ากับกรมวิชาการเกษตร และผ่านพิธีการศุลกากร จำนวน 74,109.83 ตัน โดยแหล่งผลิตปุ๋ยยูเรียที่สำคัญและประเทศไทยนำเข้าใน 3 ปีที่ผ่านมา อันดับ1-12 คือ